ประโยชน์ของยาคูลท์ และเหตุผลที่ขวดยาคูลท์มีขนาดเดียว ดื่มยาคูลท์ 1 ขวด ปรับระบบช่วยย่อยอาหาร

ยาคูลท์ (Yakult) ถูกคิดค้นขึ้นใน พ.ศ. 2473 โดยศาสตราจารย์ชิโระตะ มิโนะรุ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกียวโต และต่อมาใน พ.ศ. 2478 เขาได้ก่อตั้งบริษัทยาคูลท์ (Yakult Honsha Co., Ltd.) ในเมืองมินะโตะ จังหวัดโตเกียว ปัจจุบันได้มีการผลิตและจำหน่ายยาคูลท์ไปทั่วโลก และใน พ.ศ. 2514 ยาคูลท์ เริ่มวางจำหน่ายในประเทศไทย

Yakultยาคูลท์ เป็นผลิตภัณฑ์นมเปรี้ยวขวดเล็กกระทัดรัดที่มีจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตอยู่และให้ประโยชน์นับพันล้านตัว ซึ่งได้มาจากการหมักนมกับน้ำตาลกลูโคส โดยใช้จุลินทรีย์ชื่อ ชิโรต้า ดังนั้น ยาคูลท์จึงไม่ใช่เป็นเพียงนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ต แต่เป็น “โพรไบโอติก (Probiotics)” หรืออาหารเสริมที่มีแบคทีเรีย หรือจุลินทรีย์ที่ช่วยให้ระบบในร่างกายของมนุษย์ทำงานได้ดีขึ้น

จุลินทรีย์ชิโรต้า หรือ แลคโตบาซิลลัส คาเซอิ สายพันธุ์ชิโรต้า ถูกคัดเลือกมาโดยเฉพาะ มีความสามารถทนต่อสภาวะความเป็นกรดที่รุนแรงในกระเพาะอาหารของคน และทนต่อความเป็นด่างที่รุนแรงของน้ำดี จึงสามารถมีชีวิตอยู่รอดในลำไส้และให้ประโยชน์ต่อสุขภาพของเราได้

ประโยชน์ของจุลินทรีย์ชิโรต้า มีดังนี้
1. ช่วยเพิ่มจำนวนแบคทีเรียที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย
2. รักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้
3. ยับยั้งและทำลายแบคทีเรียที่ให้โทษต่อร่างกาย
4. ลดอาการท้องผูก และท้องเสีย
5. ลดการสร้างสารพิษจากแบคทีเรียที่ให้โทษ
6. ช่วยให้ลำไส้มีการขยับเคลื่อนตัวมากขึ้น เพื่อช่วยในการย่อยอาหาร
7. กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ลดการติดเชื้อ

สีที่เห็นเป็นสีเฉพาะตัวของยาคูลท์ เกิดจากปฏิกิริยาที่นมขาดมันเนยและน้ำตาลที่ใช้เป็นส่วนประกอบหลักของ กระบวนการผลิตยาคูลท์ ที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน โดยที่กรดอะมิโนในนมผงและน้ำตาลเมื่อถูกความร้อนก็จะทำให้สารละลายนมเปลี่ยนสีไปจากสีขาว เป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ ซึ่งเป็นสีธรรมชาติ เป็นปฏิกริยาทางเคมีที่เรียกว่า ปฏิกิริยา Caramelisation ส่วนรสชาติก็เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการหมักนมด้วยจุลินทรีย์ชิโรต้า นอกจากนี้ การเติมน้ำตาลเข้าไปในยาคูลท์ ก็เพื่อเป็นแหล่งอาหารที่เหมาะสมแก่แบคทีเรีย ช่วยให้แบคทีเรียมีชีวิตอยู่ได้ระหว่างช่วงเวลาการเก็บรักษาจนถึงมือลูกค้า

ยาคูลท์ 1 ขวด ให้พลังงาน 71 kcal เเละมีปริมาณน้ำตาลเท่ากับ 3.5 ช้อนชา และมีเฉพาะขนาด 80 cc ขนาดเดียวเท่านั้น เพราะว่า ยาคูลท์เป็นผลิตภัณฑ์นมเปรี้ยวที่ได้จากการหมัก โดยเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นแบคทีเรีย ชื่อ แลคโตบาซิลลัส ที่ทำให้เกิดรสชาติเปรี้ยว เนื่องจากเกิดกรดขึ้นมาหลายชนิดระหว่างกระบวนการหมัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรดแลคติก ปัจจุบันใช้เชื้อชื่อ Lactobaciius Balgaricu ร่วมกับ Stroptcoccus themophilus ในอุตสาหกรรมผลิตนมเปรี้ยวและโยเกิร์ต

โดยปกติธรรมชาติแล้วจุลินทรีย์ดังกล่าว มีอยู่แล้วตามทางเดินอาหารของคน และเป็นจุลินทรีย์ที่ดีมีประโยชน์ ช่วยทำให้เกิดกระบวนการย่อย และหมักในทางเดินอาหาร ในส่วนที่ร่างกายคนเราไม่สามารถย่อยได้ จุลินทรีย์กลุ่มนี้จะคอยช่วยเหลือ แต่ถ้ามีจำนวนมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ เพราะจุลินทรีย์ผลิตกรดขึ้นมา ด้วยเหตุนี้ ยาคูลท์ จึงมีเพียงขนาดเดียว คือ 80 cc. ซึ่งพอเหมาะกับปริมาณของเชื้อแลคโตบาซิลลัส ตามที่มีการเขียนข้างขวดไว้ว่า มีเชื้อแลคโตบาซิลลัส 8.0 x 10 ( ยกกำลัง 9)

ทั้งนี้ ถ้ามีการทำยาคูลท์ให้มีขนาดใหญ่เท่ากับยาคูลท์ 6 ขวดเล็กรวมกัน ก็คงไม่ดีต่อผู้บริโภค เพราะจะทำให้ได้รับปริมาณเชื้อแลคโตบาซิลลัสมากเกินพอ หรือถ้าจะทำขนาด 450 cc. แล้วลดปริมาณแลคโตบาซิลลัสลงอาจจะทำได้ แต่รสชาติของยาคูลท์อาจจะเปลี่ยนไปไม่อร่อยเหมือนเดิม

ขณะเดียวกัน หากเราทานยาคูลท์วันละ 6 ขวด เพื่อความอร่อย ก็อาจเกิดโทษได้ โดยปริมาณที่เเนะนำให้ทานคือ เพียงวันละ 1 ขวด ก็เพียงพอ คนที่ไม่ทานเลย ก็ไม่เป็นไร เพราะว่าในร่างกายของเรามีจุลินทรีย์ชนิดนี้อยู่แล้ว และเพื่อความปลอดภัยในการดื่มยาคูลท์ คือ ต้องดูวันหมดอายุข้างขวด และเลือกซื้อจากตู้แช่ที่เก็บไว้ในอุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส เพราะเป็นอุณหภูมิที่ทำให้จุลินทรีย์พร้อมจะทำงานในร่างกายได้ทันที

คำแนะนำเพิ่มเติม : เมื่อรับประทานเนื้อย่าง หรืออาหารประเภทเนื้อที่ย่อยยาก เพื่อนๆ ควรดื่มยาคูลท์ 1 ขวด เพื่อให้จุลินทรีย์ช่วยย่อยเนื้อที่ทานเข้าไป สมมติว่า รับประทานเนื้อย่างในมื้อเย็น และไม่ดื่มยาคูลท์ พบว่าในมื้อเช้าถัดไปจะทำให้รู้สึกท้องอืด เพราะเนื้อที่ทานยังย่อยไม่เรียบร้อย แต่หากดื่มยาคูลท์ ย่อยเนื้อย่าง เพียง 1 ขวดหลังทานเสร็จ พบว่าในตอนเช้า เราจะรู้สึกสบายท้อง เพราะเนื้อถูกย่อยมากขึ้น ดีขึ้น ไม่เชื่อลองทานดูนะครับ (ประสบการณ์ของศักดิ์อนันต์ อนันตสุข)

 ขอบคุณข้อมูลจาก จาก 
1. www.lovefitt.com
2. http://www.yakult.co.th/th/what.php
3. http://th.wikipedia.org/wiki/ยาคูลท์
ภาพประกอบจาก : http://images.thaiza.com/34/34_20120601170936..jpg



Leave a Comment