Anantasook.Com

ภูมิปัญญาในการเลี้ยงช้างของชาวกูย คชศาสตร์พื้นบ้าน อุปสรรคในการใช้ภูมิปัญญาในการเลี้ยงช้าง บ้านตากลาง

บทที่ 7 ภูมิปัญญาในการเลี้ยงชาวของชาวกูย

7.1 ภูมิปัญญาด้านอาหารช้าง
ชาวช้างจะเตรียมอาหารจำพวกหญ้า กก อ้อ หญ้าปล้อง ไม้ไผ่ เถาวัลย์ ไม้ยืนต้น และอาหารประเภทพืชไร่ เช่น ข้าวโพด อ้อย ข้าวฟ่าง สับปะรด ถั่วแระ ให้ช้างกินวันละประมาณ 200-250 กิโลกรัม อาหารที่มีสีเขียว จะให้ประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าสีเหลือง ซึ่งย่อยยากทำให้ท้องผูก อาหารที่เป็นหญ้าอ่อน หน่อไม้อ่อนในช่วงเดือนพฤษภาคม ที่เริ่มแตกยอดอ่อน จะทำให้ช้างท้องเสียเมื่อกินเข้าไป ผู้เลี้ยงช้างจะต้องไปหาเปลือกไม้ รากไม้หรือเถาวัลย์มีรสฝาด ขม มาให้ช้างกินเพื่อรักษาท้องเสีย ดินโป่ง ควาญช้างจะออกไปหากินตามธรรมชาติ เนื่องจากในดินโป่ง มีแร่ธาตุต่างๆ เช่น โปแตสเซียม ฟอสฟอรัส  แมกนีเซียม ฯลฯ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายช้าง ควาญช้างจะต้องนำช้างไปเลี้ยงในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ บริเวณป่าภูดิน ป่าดงสายทอ ที่อยู่ใกล้หมู่บ้านจะปล่อยหรือล่ามโซ่ไว้แล้วแต่ความเหมาะสม ชาวกวยบ้านตากลางใช้ภูมิปัญญาในการตามหาช้างที่เลี้ยงไว้ในป่า คือ การสังเกตจากรอยเท้าและกองมูล ซึ่งควาญช้างจะจดจำรอยและกองมูลของช้างของตนเองได้อย่างแม่นยำ เมื่อเข้าใกล้ช้าง ควาญจะส่งเสียงเรียกช้างแต่ไกลเพื่อให้ช้างรู้ตัว ความรู้และวิธีการนำช้างไปปล่อยในป่าทั้งคืน เพื่อให้ช้างได้มีอาหารกินและที่พักนอนนั้น ควาญช้างจะได้รับการอบรมสั่งสอนเป็นอย่างดี จะต้องระมัดระวังภัยอันตรายต่างๆ ที่จะเกิดกับช้าง

7.2 ภูมิปัญญาในการทำคอกช้าง
ชาวบ้านจะทำคอกช้าง โดยใช้บริเวณบ้านซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 12 ตารางเมตร มีลักษณะเป็นลานกว้าง มีหลังคากันแดดและฝน มีรั้งกั้น โดยหลักที่ผูกช้างจะเป็นไม้เนื้อแข็งยาวประมาณ 1 เมตร ฝังอยู่กับพื้นดินและไม้โผล่เหนือพื้นดินประมาณ 3 เซนติเมตร หรือถ้าไม่มีการทำคอกช้าง ก็จะนำช้างของตนไปผูกกับตนไม้ในที่นา ที่สวนของตน ส่วนลูกช้างจะผูกไว้บริเวณข้างๆ บ้าน โดยควาญช้างจะนำอาหารมาให้กิน

7.3 ภูมิปัญญาในการดูนิสัยช้าง
เป็นความรู้ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เนื่องจากช้างแต่ละเชือกมีนิสัยเฉพาะตัว ช้างเป็นสัตว์ที่ฉลาด สุภาพ สะอาด มีความจำดี อดทน รักเจ้าของ และจำกลิ่นที่เคยชินได้ ช้างตามปกติแล้วจะไม่มีนิสัยดุร้าย แต่จะดุร้ายเฉพาะช่วงที่ตกมันในระยะเวลานั้น ความจำจะเสื่อมและอาจทำร้ายควาญช้างหรือบุคคลทั่วไปได้ ลักษณะนิสัยของช้างต้องห้ามไม่ควรนำมาเลี้ยง เช่น พวกกินลมห่มฟ้า คือ ช้างที่มีนิสัยชอบยื่นงวงขึ้นสูง ชี้ไปที่ท้องฟ้าแล้วม้วนกลับเข้าใส่ปาก ช้างที่มีนิสัยชอบถ่ายปัสสาวะรดข้าขาหรือยืนเหยียบอุจจาระปัสสาวะ ปล่อยอวัยวะเพศออกมาทั้งๆที่ ไม่จำเป็น กริยาที่ไม่งาม เป็นช้างที่สกปรก ช้างที่มีนิสัยชอบเล่นโซ่ อีกอย่างคือ ชอบใช้งวงแกะสลักโซ่หรือสะเก็น บ้างก็ดึงโซ่แกว่งไปมา บางทีก็ชอบบิดโซ่ ห้ามเลี้ยง เพราะลักษณะนิสัยแบบนี้ เป็นช้างที่ไม่ยอมรับการถูกจองจำ ซึ่งหากผู้ใดเลี้ยงไว้ จะนำความเดือดร้อนมาให้เจ้าของ

7.4 ภูมิปัญญาในการฝึกช้าง
ชาวบ้านตากลางนำภูมิปัญญามาใช้ในการฝึกช้าง มี 2 ประเภท ได้แก่

1. การฝึกช้างไว้ใช้งาน ควาญช้างจะให้เวลาช้างป่าคุ้นเคยพักผ่อนก่อน 1 สัปดาห์ หลังจากคล้องช้างมาได้ จากนั้นหมอช้างจะสร้างเชื่อน (เสาไม้ขนาดใหญ่ฝังลงในดินสามต้นและทำราวไม้ด้านขวางสองขั้น) ในสนามฝึกตั้งศาลเซ่นไหว้ผีปะกำ ขออนุญาตฝึกช้างในบริเวณนั้น โดยมีครูบาใหญ่และหมอช้างนำช้างต่อ ไปเทียบช้างป่าที่จับมาได้จูงเข้าไปใกล้เชื่อน เพื่อสวมปลอกขาทั้งขาหน้าและขาหลัง เชือกนี้ทำด้วยหวายฝั่นเป็นเกลียวรัด หรือรั้งตรงกลางระหว่างขาแต่ละคู่ เพื่อไม่ให้ช้างเดินได้สะดวก เป็นการทรมานช้างให้เชื่อง  จากนั้น 2-3 วัน ต่อมาก็พาช้างป่าที่ฝึกมาเข้าเชื่อน และถอดปลอกขาออกฝึกจนช้างเชื่อง เมื่อฝึกเสร็จก็จะนำมาเข้าปลอกที่เชื่อนอีก ทำจนกระทั่งช้างหายพยศ กลายเป็นช้างบ้านในที่สุดและพร้อมที่จะฝึกใช้งาน ภาษาที่ใช้ฝึกช้างให้ปฏิบัติตามนั้น ต้องใช้เป็นภาษาป่า ซึ่งเป็นภาษาเฉพาะเท่านั้น

2. การฝึกช้างไว้แสดงโชว์ ความสามารถของควาญช้างเป็นตัวกำหนดความสามารถการเรียนรู้ของช้าง ในการฝึกช้างไว้แสดงโชว์ ควาญช้างที่เก่ง มีทักษะ จะมีความเชี่ยวชาญในการฝึกช้าง ช้างก็จะเรียนรู้ได้เร็ว โดยเฉพาะช้างที่มีความดื้อจะสามารถ ฝึกได้เร็วและมีความสามารถหลายอย่าง การฝึกช้างให้แสดงโชว์เป็นความสามารถเฉพาะตัวของควาญช้าง ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากภูมิปัญญา

 7.5 ภูมิปัญญาในการอาบน้ำให้ช้าง
ควาญช้างจะนำช้างของตนเองไปอาบน้ำที่วังทะลุ (ลำน้ำชีและลำน้ำมูลไหลมาบรรจบกัน) ภูมิปัญญาที่ควาญช้างนำมาใช้ในการอาบน้ำให้ช้าง คือ การนำช้างมานอนตะแคงในลำน้ำ ควาญคอและควาญเท้าจะช่วยกันชำระล้างโคลน หรือสิ่งสกปรกออกเสียให้หมด โดยใช้กาบมะพร้าวหรือเยื่อบวบแห้ง ถูให้ทั่วตัว โดยเฉาะบริเวณโคนงา ในใบหู ริมปาก ตะโพกและโคนหาง เพราะตามบริเวณเหล่านี้จะมีตัวพยาธิและไข่แมลงวันเกาะติดอยู่ ซึ่งจะกลายเป็นตัวหนอนไชเข้าไปในผิวหนังแล้วดูดเลือดกิน ทำให้ช้างเกิดเป็นกลุ่มเล็กๆ ทั่วลำตัว หากเอาไม้แหลมๆ แซะดูจะพบตัวหนอนเล็กๆ  ตัวหนอนเหล่านี้ ควาญช้างเหล่านี้ เรียกว่า “หนอนช้าง” จะเจริญเติบโตภายใต้ผิวหนัง จากนั้นจะกลายเป็นแมลงวันและแพร่พันธุ์ต่อไป การทำลายตัวพยาธิชนิดนี้ ควาญช้าง จะใช้เครือสะบ้าทุบให้ละเอียดถูตามตัวช้างทุกวัน หลังจากการอาบน้ำเสร็จแล้ว เครือสะบ้าจะเกิดเป็นฟองคล้ายสบู่ ปล่อยทิ้งไว้ให้ฟองแห้งเอง ตัวหนอนช้างเหล่านี้ก็จะหายไปช่วงเวลาที่ช้างอาบน้ำ

7.6 ภูมิปัญญาการขยายพันธุ์ช้าง
ควาญช้างจะคัดเลือกพ่อพันธุ์ที่สมบูรณ์ แข็งแรงมาผสมพันธุ์กับแม่ช้างที่สมบูรณ์และกำลังเป็นสัด สังเกตได้จากนมสองเต้าจะตั้งและมีน้ำมันออกที่แก้ม และการดูว่าช้างตั้งท้องหลังจากการผสมพันธุ์หรือไม่นั้น ดูได้จากอาการอุ้ยอ้ายของช้าง เต้านมของช้างขนายตัวที่มีน้ำนมไหล เมื่อมีอาการดังกล่าวที่แสดงว่าช้างที่ได้รับการผสมพันธุ์ตั้งท้องแล้ว เวลาที่ผสมพันธุ์คือ ช่วงเช้าเวลา 08.00-09.00 น. และช่วงเย็นเวลา 17.00-18.00 น. ปัจจุบันโอกาสจะได้ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติมีน้อย ชาวบ้านตากลางจะจับช้างตัวเมียผูกล่ามไว้ แล้วนำช้างตัวผู้เข้ามาทับและผสมพันธุ์

7.7 ภูมิปัญญาในการดูแลสุขภาพช้าง
ช้างตามธรรมชาติจะไม่ค่อยอยู่นิ่ง ยิ่งถ้าบางครั้งเราปล่อยไว้ ไม่ได้ล่ามโซ่ เขาก็จะเดินไปตามป่า เพื่อกินใบพืชต่างๆ ทำให้หนามทิ่มตำผิวหนัง บ้างก็เป็นตุ่มพุพอง บางทีก็มีแมลงวันไข่ไว้ที่แผล และตามรูขุมขนของช้าง เกิดเป็นตัวอ่อนอาศัยและดูดเลือดช้างเป็นอาหาร เมื่อตัวอ่อนแก่ก็จะกลายเป็นแมลงวันคอยรบกวนช้าง ตามรูขุมขนที่มีหนอนเคยอาศัยอยู่ก็จะอักเสบเป็นตุ่มมีหนอง ควาญช้างก็จะนำภูมิปัญญาที่ได้รับมาใช้เป็นวิธีป้องกัน คือ ให้ช้างอาบน้ำอยู่เสมอ และใช้กาบมะพร้าวหรือเยื่อบวบแห้งขัดตามผิวหนัง ไม่ให้ไข่แมลงวันติดอยู่ แล้วนำเครือสะบ้ามาทุบชุบน้ำฟาดตามลำตัวช้าง

นอกจากนี้ ยังมีภูมิปัญญาด้านการรักษาโรคที่ควาญช้างนำมาใช้จนถึงปัจจุบันมีหลายวิธี เช่น ช้างท้องผูก ควาญช้างจะใช้กระเทียมตำแล้วนำมาผสมกับเหล้าขาว นำมาใส่ปากพ่นตั้งแต่หัวจรดท้ายด้านหลัง และใต้ท้องทิ้งไว้ไม่นานช้างก็จะอุจจาระได้ปกติ ช้างท้องเสียควาญช้างจะนำกิ่งต้นพุแดง ต้นแต้และข่อยมาให้ช้างกิน ช้างมีบาดแผลตามผิวหนัง ควาญช้างจะใช้เปลือกต้นพุแดง ต้นข่อย และต้นแต้ต้มใส่น้ำ เมื่อน้ำเย็นลงกะว่าพออุ่น ก็จะนำไปราดที่แผล ทำบ่อยๆ จนกระทั่งแผลหาย ช้างเบื่ออาหารไม่กินหญ้า จะเอาจิ้งจกเป็นใส่อ้อยให้ช้างกิน ช้างคางบวม ให้เอาก้อนครามที่ย้อมไหมให้ช้างกิน  ช้างเจ็บตาเป็นฝ้าให้ใช้ยาสีฟันทา ใช้เปลือกหอยบดแล้วเป่าใส่ตา หรือใช้เกลือเป่า ช้างมีแผลเปื่อย ใช้เปลือกลำพูแดงต้มทิ้งให้เย็นแล้วรดขา ช้างแทงกันเป็นรูใช้ไก่เป็นมาถอนขน เลาะเอากระดูกออกสับทั้งตัว ยัดรูแผล แผลจะตื้นขึ้นเรื่อยๆ จนหาย เป็นต้น หากพบว่าเป็นโรคติดต่อร้ายแรง หรือได้รับแผลบาดเจ็บมีแผลฉกรรจ์ กระดูกแตกหัก จึงจะนำส่งโรงพยาบาลช้าง หรือแจ้งให้สัตวแพทย์เข้ามารักษาที่หมู่บ้าน ตามปกติจะมีเจ้าหน้าที่จากสถาบันวิจัยสุขภาพช้างจังหวัดสุรินทร์ นายสัตวแพทย์อลงกรณ์   มหรรณพ มาตรวจเป็นประจำทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์

7.8 สภาพปัญหา อุปสรรคเกี่ยวกับการใช้ภูมิปัญญาในการเลี้ยงช้าง
ตาราง สรุปสภาพปัญหา อุปสรรคเกี่ยวกับการใช้ภูมิปัญญาในการเลี้ยงช้าง

ภูมิปัญญาด้านต่างๆ

สภาพ

ปัญหาและอุปสรรค

แนวทางแก้ไข

อาหารช้าง -การเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมือง -มีนายทุนเข้ามาซื้อที่ดิน-มีการบุกรุกป่า-พื้นที่ลดลง-ขาดแคลนอาหารช้าง -จัดสรรป่าสงวน ป่าภูดิน และดงสายทอให้กับชาวช้างเพิ่มขึ้น เพื่อขยายพื้นที่ในการปลูกพืชอาหารช้างของตนเอง
การทำคอกช้าง พื้นที่ในการเลี้ยงช้างตามธรรมชาติลดลง คอกธรรมชาติไม่พอเพียงในการล่ามช้าง ไม่ปลอดภัยจากการลักขโมยตัดงาช้าง และถูกงูพิษกัด ทำคอกไว้บริเวณบ้านเพิ่มขึ้น สำหรับล่ามช้าง เพื่อความปลอดภัย หรือผูกล่ามไว้ที่ศูนย์คชศึกษา
การดูนิสัยช้าง ไม่ได้รับการดูแลที่ดีจากควาญช้าง หรือควาญช้างใช้อารมณ์ ดุในการฝึก ไม่เชื่อฟังและไม่ยอมรับการฝึก ขี้เกียจ นำความเสียหายมาให้เจ้าของ ควายต้องเอาใจใส่และหมั่นสังเกตอากัปกิริยาที่เปลี่ยนไปและแก้ไขดัดนิสัยใหม่
การฝึกช้าง -ช้างเกเร ช้างที่อายุมาก-ควาญช้างก้าวร้าวดุดัน -ฝึกยาก ไม่ค่อยเชื่อฟังควาญช้าง-ช้างจะไม่เชื่อฟังและไม่ยอมรับการฝึก -นำควาญช้างที่เก่ง มีทักษะมาฝึก และฝึกช้างตั้งแต่อายุน้อยๆ-เปลี่ยนควาญช้างใหม่
การอาบน้ำช้าง -ฤดูแล้ง น้ำในแม่น้ำลดลง-น้ำนิ่งไม่ไหล ไม่มีการถ่ายเท -อาบน้ำให้ช้างลำบาก ไม่สะดวก-เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค -สร้างฝายกั้นน้ำ เหนือหมู่บ้านช้าง พอหน้าแล้งก็ปล่อยน้ำให้ไหลทีละน้อย
การขยายพันธุ์ช้าง -ช้างไม่ได้อาศัยอยู่ตามธรรมชาติและเป็นช้างบ้าน -ช้างจะขี้อายและจะไม่ยอมผสมพันธุ์ให้ ถ้าไม่พอใจในช้างตัวเมีย-ให้ลูกช้างน้อยกว่าช้างป่า -จัดสภาพแวดล้อมให้เหมือนป่าธรรมชาติสำหรับไว้ให้ช้างผสมพันธุ์-คัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ช้างที่พอใจกัน
การดูแลสุขภาพช้าง -ช้างเดินออกหากินตามป่า ไม่อยู่นิ่ง-ฤดูฝนพื้นดินเปียกแฉะ-ฤดูแล้ง อากาศร้อน-หมู่บ้านช้างอยู่ห่างไกลโรงพยาบาลช้าง -มักเป็นตุ่มพุพองตามผิวหนัง-มักจะเป็นโรคเท้าเปื่อย-มักจะเป็นแผลร้อนในที่ปาก-ลำบากในการเคลื่อนย้ายเมื่อเจ็บป่วยรุนแรงและเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาก -ใช้ยาสมุนไพรรักษา-ฉีดวัคซีนป้องกัน-ให้กินลูกฟักและงดอาหารจำพวกอ้อย-รัฐบาลหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบควรจัดสวัสดิการช่วยเหลือให้กับควาญช้างในการดูแลรักษาเมื่อช้างเจ็บป่วยรุนแรง

ที่มา :: ภูมิปัญญาในการเลี้ยงช้างของชาวบ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ . กรรณิกา  เสนะพันธ์.(2550)

ชมคลิป : ภูมิปัญญาการเลี้ยงช้างของชาวบ้านตากลาง

ที่มา : ชุดการเรียนรู้ เรื่อง สุรินทร์ ถิ่นช้างใหญ่
ลิขสิทธิ์และผลงานของ : ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี (www.anantasook.com)
ทุนสนับสนุนประจำปีงบประมาณ 2552 จาก : สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา 

Exit mobile version