หลังจากเปิดภาคเรียนที่ 1 ของแต่ละปีการศึกษา สถานศึกษาแทบทุกแห่งจะจัดให้มีกิจกรรมไหว้ครูขึ้นในวันพฤหัสบดีของสัปดาห์ใดสัปดาห์หนึ่งของเดือนมิถุนายน [ปกติกำหนดวันพฤหัสบดีแรกของเดือนมิถุนายน เป็นวันไหว้ครู] พิธีไหว้ครู เป็นประเพณีสำคัญที่มีมาแต่โบราณ และมีอยู่ในแทบทุกสาขาอาชีพของคนไทย (นาฏศิลป์ ดนตรี โหราศาสตร์ แพทย์แผนไทย เป็นต้น) ถือเป็นพิธีกรรมที่แสดงความเคารพ และระลึกถึงพระคุณของบูรพาจารย์ ครูอาจารย์ผู้ประสิทธิ์วิชาความรู้ให้ ทำให้เราสามารถนำไปประกอบวิชาชีพ สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตนเองและครอบครัวได้ในอนาคต
วันพฤหัสบดี ถือเป็น วันครู นิยมประกอบพิธีไหว้ครู
การจัดพิธีไหว้ครูมีข้อกำหนดว่าให้กระทำพิธีเฉพาะวันพฤหัสบดี อาจจะได้รับอิทธิพลมาจากพวกพราหมณ์ ซึ่งนับถือเทพเจ้านามพระพฤหัสบดีเป็นเทพฤทธิ์ ในฐานะปุโรหิตาจารย์ที่เคารพนับถือของพระอินทร์และเทวดาอื่น ๆ จึงนิยมไหว้ครูกันในวันพฤหัสบดี
มีตำนานที่ถือว่าวันพฤหัสบดีเป็นวันครู นอกจากนี้ยังถือกันว่าเวลากลางวันพระพฤหัสบดีเป็นธาตุไฟ และเป็นธาตุน้ำในเวลากลางคืน เป็นดาวพระเคราะห์ที่ให้วิทยาความรู้แก่มนุษย์ เราจึงถือว่าวันพฤหัสบดีเป็นวันครู
ประโยชน์ของการจัดพิธีไหว้ครู
1. สามารถทำให้เกิดความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในฐานะที่เป็นศิษย์มีครูเหมือนกัน
2. สามารถนำวิชาความรู้ที่เรียนมา ไปถ่ายทอดได้ด้วยความมั่นใจ โดยไม่ต้องกลัวว่า “ผิดครู”
3. เป็นการสร้างศิษย์ให้มีความเชื่อมั่นในวิชาความรู้ที่ได้เรียนมา กล้าแสดงออกไม่เก็บตัว
4. ทำให้มีความรู้กว้างขวางและเข้าใจในพิธีกรรมเช่นนี้อย่างชัดเจน
5. เกิดความสบายใจหากได้ทำสิ่งใดผิดพลาดไป ก็จะได้เป็นการขอขมาครูไปด้วย
ความหมายของข้าวตอกดอกไม้บนพานไหว้ครู
การไหว้ครู ในอดีตนั้น มักจะใช้ หญ้าแพรก ข้าวตอก ดอกมะเขือ และดอกเข็ม เป็นองค์ประกอบในการจัดพานไหว้ครู ดอกไม้แต่ละอย่างล้วนเป็นปริศนาธรรม ซึ่งโบราณาจารย์ โด้อุปมาไว้ดังนี้
ข้าวตอก หมายถึง ความเป็นผู้เจริญงอกงามอย่างมีระเบียบ เวลาเราคั่วข้าวตอก ข้าวตอกจะแตกออก คนคั่วจะใช้ตะแกรงครอบไว้เพื่อให้ข้าวตอกอยู่ในกระทะ ข้าวตอกเม็ดใดกระเด็นออกนอกกระทะ ก็จะตกดินเกลือกลั้วกับฝุ่นธุลีไปและจะกลายเป็นข้าวตอกที่เสียไปใช้ไม่ได้ เช่นเดียว กับศิษย์ต้องมีระเบียบวินัย หากขาดวินัยก็จะเป็นคนไร้รูปแบบ แล้วจะเสียคนในที่สุด
ดอกมะเขือ หมายถึง ความอ่อนน้อมถ่อมตน เพราะดอกมะเขือที่จะผลิตผล ก้านของมะเขือโน้มตัวลงตลอด เพื่อสอนให้เด็กได้รู้จักการมีสัมมาคารวะ เพราะ คารวธรรมเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญ คนอื่น ๆ จะให้เกียรติคนมีสัมมาคารวะ ตรงกันข้ามจะเหยียดหยามคนที่แข็งกระด้าง
หญ้าแพรก หมายถึง ความเจริญงอกงาม เพราะหญ้าแพรกนั้นแม้นจะเหี่ยวเฉาไปในหน้าแล้ง เพียงฝนตกมาก็งอกเงยแล้ว ฉันใดเด็ก ๆ หรือศิษย์แม้แต่ได้รับคำพร่ำสอนจากครูก็รู้จักดีชั่วรู้รับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม
ดอกเข็ม หมายถึง ความแหลมคมดุจเข็ม หมายเอาสติปัญญาของศิษย์ขอให้แหลมคมพร้อมที่จะใช้ประโยชน์ได้ในทุกโอกาส ดังภาษิตไทยว่า “ปัญญาคืออาวุธ”
คำสวดไหว้ครูทำนองสรภัญญะ
นักเรียนสวดพร้อมกัน :
ข้าขอประณตน้อมสักการ บุรพคุณาจารย์
ผู้กอปรเกิดประโยชน์ศึกษา
ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา อบรมจริยา
แก่ข้าในกาลปัจจุบัน
ข้าขอเคารพอภิวันท์ ระลึกคุณอนันต์
ด้วยใจนิยมบูชา
ขอเดชกตเวทิตา อีกวิริยะพา
ปัญญาให้เกิดแตกฉาน
ศึกษาสำเร็จทุกประการ อายุยืนนาน
อยู่ในศีลธรรมอันดี
ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี ประโยชน์ทวี
แก่ชาติและประเทศไทย เทอญ
ผู้นำสวด : ปัญญาวุฒิ กะเร เตเต ทินโนวาเทนะมามิหัง
คำปฏิญาณตนนักเรียน
เราคนไทย ใจกตัญญู รู้คุณชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
เรานักเรียนจักต้องประพฤติตนให้อยู่ในระเบียบวินัยของโรงเรียน มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น
เรานักเรียนจักต้องปฏิบัติตนไม่ให้เป็นที่เดือดร้อนต่อตนเองและผู้อื่น
พิธีไหว้ครูจึงเป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ที่นักเรียน-นักศึกษาทุกคน จะได้ร่วมแรงร่วมใจกันแสดงความเคารพและระลึกบุญคุณของครูอาจารย์อย่างแท้จริง เพื่อเป็นสิริมงคลก่อนการเริ่มต้นศึกษาสรรพวิชาทั้งหลาย
เรียบเรียงจาก
1. th.wikipedia.org/wiki/พิธีไหว้ครู
2. http://guru.sanook.com/วันไหว้ครู
3. http://hilight.kapook.com/view/24859
4. คู่มือการปฏิบัติตนของครู สควค. ครูผู้สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้