เช้าวันที่ 22 เมษายน 2551 เมื่อข้ามสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 2 ที่จังหวัดมุกดาหาร และเดินผ่านด่านเพื่อแจ้งเข้าเมืองแล้ว รถก็วิ่งไปตามทางหลวงหมายเลข 9 ซึ่งเป็นถนนที่สร้างเสร็จพร้อมๆกับสะพานมิตรภาพ ไกด์สาวชาวลาวชื่อ อนงค์ แนะนำว่า สะพานแห่งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จทำพิธีเปิดเมื่อเดือน ธันวาคม 2549 โดยชาวลาวได้ออกมาร่วมฉลองและรับเสด็จสมเด็จพระเทพฯ จนมืดฟ้ามัวดินในบริเวณวัดพระธาตุอิงฮัง ที่อยู่ไม่ห่างจากสะพานมิตรภาพมากนัก อันเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเมืองนี้ และชาวลาวรู้สึกภูมิใจกับสะพานแห่งนี้
เราเดินทางจากประเทศไทย ผ่านประเทศลาว ในเขตเมืองสะหวันนะเขต สู่ด่านชายแดนเวียดนาม หรือเรียกกันว่า ลาวบ๋าว ช่วงนี้มีระยะทางประมาณ 250 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง โดยตลอด จากนั้นก็จะวิ่งรวดเดียวจนถึงด่านลาวบ๋าว โดยไม่แวะจุดใด ทั้งนี้ก็เพราะว่าถนนสายนี้พึ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ จะหาปั้มน้ำมันเพื่อแวะเข้าห้องน้ำทำธุระค่อนข้างยาก หากจำเป็นจริงๆก็ต้องจอดรถให้ลงไปเก็บดอกไม้ หรือยิงกระต่าย กันเอาเอง
ขณะที่เราเดินทางอยู่ในดินแดนลาว จะเห็นหมู่บ้านชนเผ่ากลุ่มเล็กๆเป็นระยะๆ มีสัตว์เลี้ยงออกมาเดินเพ่นพ่านบนถนนหลายชนิด เช่นแพะ วัว หมู สุนัข โดยเฉพาะฝูงแพะจะเห็นบ่อย ก็มีคำถามว่า ทำไมแพะเยอะจัง ไกด์ลาวได้เฉลยเรื่องนี้ว่า แต่ก่อนชนเผ่ามีการย้ายถิ่นฐานกันบ่อย การเลี้ยงแพะสามารถเคลื่อนย้ายสะดวกกว่าสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นเช่น หมู หรือ วัว ควาย และแพะสามารถให้น้ำนมได้ ปัจจุบันรถนักท่องเที่ยวชาวไทยมักพุ่งชนแพะบ่อยๆ นอกจากนี้เป็นที่สังเกตว่า หมู่บ้านชาวลาวแม้แต่บ้านหลังเล็กๆ หรือเป็นกระท่อม หรือบ้านกลางทุ่งนาก็จะมีจานรับสัญญาณดาวเทียม ในเรื่องนี้สามารถเป็นข้อให้ได้คิดว่า แม้จะอยู่ในสภาพที่ขัดสนหรือลำบาก แต่เรื่องข่าวสารและโลกภายนอกก็เป็นสิ่งที่ลาวให้ความสำคัญ
การเดินทางในครั้งนี้มีโชเฟอร์เป็นชาวเวียดนาม และก็เป็นบัสปรับอากาศของเวียดนามด้วย ความเร็วที่ใช้ตลอดเส้นทางขณะเดินทางเข้าเวียดนาม ไม่เกิน 80 กม. ต่อชั่วโมง จึงเกิดความรู้สึกปลอดภัยแต่ขากลับออกจากเวียดนาม กลับขับด้วยความเร็วสูงมาก สร้างความหวาดเสียวให้กับคณะของเราอย่างมาก และถ้าในรถมีเพลงคาราโอเกะ จะช่วยให้การเดินทางที่ยาวนานของพวกเรา มีความสุขกว่านี้
เมื่อผ่านด่านสะหวันนะเขต (แดนสวรรค์) ของลาวสู่ด่านลาวบ๋าวของเวียดนาม คณะของเราหยุดประทับตราหนังสือเดินทางประมาณยี่สิบนาที มีการตรวจสัมภาระนิดหน่อยตามประเพณี เมื่อเริ่มเข้าสู่ประเทศเวียดนาม ก็เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน สองข้างทางเต็มไปด้วยภูเขามีต้นไม้เขียวชะอุ่ม แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์โดยธรรมชาติ พื้นที่ราบคือพื้นที่ทำนา ชาวเวียดนามทำนาปีหนึ่ง 4 ครั้ง ตรงไหนที่ทำนาไม่ได้ก็ทำแปลงปลูกพืชผักสวนครัว ทุกหมู่บ้านในเขตชนบท จะปลูกพืชกินได้ไว้รอบบ้าน เรียกได้ว่าใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ จึงไม่แปลกใจที่เวียดนามแม้จะมีพื้นที่จำกัดแต่สามารถส่งข้าวออกเป็นอันดับสองของโลกรองจากไทย
มีพื้นที่บางแห่งเป็นดินขาวปลูกอะไรไม่ได้ นั่นคือผลพวงของฝนเหลืองที่เกิดจากการทิ้งระเบิดนาปาล์มของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเวียดนาม เพื่อสกัดกั้นการเดินเท้าและการหลบซ่อนของกองทัพมดเวียดกงตามป่าเขา บาดแผลของสงครามยังคงทิ้งร่องรอยไว้ให้เห็น โดยเฉพาะที่เมืองดงห่า (Dongha) เมืองหลวงของจังหวัดกวางตริ (Quang Tri) ที่นี่คือสมรภูมิเลือดที่การสู้รบดุเดือดและรุนแรงที่สุด ยังคงปรากฎร่องรอยของการต่อสู้และขยะสงครามอยู่ทั่วไป
ลุงกุ๋ย ไกด์ชาวเวียดนามที่มีชื่อไทยว่า ประเสริฐ เล่าให้ฟังว่า ความเสียหายและการสูญเสียของการต่อสู้ครั้งนั้นมากเท่ากับการทิ้งระเบิดปรมาณู 8 ลูก ศพทหารและผู้คนตายเป็นเบือจนแม่น้ำกลายเป็นสีเลือด เราจึงพบเห็นสุสานทหารและวีรชนอยู่ทั่วไป และกล่าวว่า ในสงครามเวียดนาม สหรัฐทิ้งระเบิดใส่หัวคนเวียดนาม เฉลี่ยคนละ 13 ลูก
ยิ่งเมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์เวียดนามก็พบว่าประเทศนี้คือดินแดนแห่งการต่อสู้และสงคราม เริ่มตั้งแต่สมัยโบราณเมื่อครั้งยังเป็นอาณาจักรตังเกี๋ย อันนัม และโคชินจีนซึ่งตกเป็นส่วนหนึ่งของของจีนต้องต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตนเองเป็นอิสระ การที่ต้องตกอยู่ภายใต้ปกครองของจีนนับพันปี ทำให้วัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อต่างๆ ของจีนปะปนอยู่ในวัฒนธรรมเวียดนามอย่างแยกไม่ออก เช่น การนับถือบรรพบุรุษ หรือมีวันตรุษวันเดียวกัน
การต่อสู้เพื่อเป็นอิสระจากจีนสิ้นสุดลงประมาณศตวรรษที่ 10 เริ่มมีการฟื้นฟูการปกครองของตนเองเป็นระบบจักรพรรดิ์ สร้างความเป็นปึกแผ่นของชนในชาติเข้าด้วยกัน และยังคงทำศึกกับจีนและมองโกลอยู่แต่ต้านทานไว้ได้ จนกระทั่งกองเรือฝรั่งเศสมาประชิดเมืองดานังเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1858 (พ.ศ. 2401) และเริ่มรุกคืบทีละส่วนจนได้เวียดนามทั้งหมดเป็นอาณานิคมในปี ค.ศ. 1897 (พ.ศ. 2440)
เวียดนามตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสอยู่นาน จนกระทั่งโฮจิมินห์นำกองทัพประชาชนลุกขึ้นต่อสู้และประสบชัยชนะที่เดียนเบียนฟู ปลดปล่อยประเทศได้สำเร็จเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) แต่เวียดนามก็ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ การต่อสู้ยังคงดำเนินต่อมากับสหรัฐที่มารับช่วงต่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รบกันอยู่นานจนกระทั่งสามารถปลดปล่อยและรวมประเทศอย่างที่เห็นในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518)
แม้รวมประเทศได้แต่สงครามและการต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด เพราะเวียดนามเข้าไปมีส่วนในสงครามขับไล่เขมรแดงของพลพตที่จีนหนุนหลัง ทำให้จีนต้องทำ “สงครามสั่งสอน” เวียดนามจึงเป็นดินแดนแห่งการต่อสู้และสงครามมาตลอดประวัติศาสตร์ เป็นเหตุให้ประชาชนส่วนหนึ่งอพยพหนีภัยสงครามมาอยู่ประเทศไทย ครั้งสำคัญในยุคสมัยของเราที่คลื่นมนุษย์ชาวเวียดนามที่เรียกกันว่า Boat People อพยพออกนอกประเทศ คือช่วงหลังสงครามเวียดนาม
พวกเราได้ขับรถเลี้ยวลัดเลาะตามไหล่เขาที่สูงชัน ขึ้นเทือกเขาไห่หวัน จนถึงจุดสูงสุด เมื่อลงจากรถ ตัวของเราจะชื้นและเปียกทันทีเพราะขณะนี้เราอยู่บนก้อนเมฆ และเราจะรับรู้ได้ว่าลมบนก้อนเมฆนี้รุนแรงมาก ณ จุดนี้เราได้เห็นป้อมปราการสมัยฝรั่งเศสยึดครองเวียดนาม ซึ่งยังคงสภาพแข็งแรงด้วย เมื่อเราลงจากเขา เราประทับใจกับความสวยงามของทะเลที่เมืองดานังอย่างมาก และแสดงความเห็นว่า ถ้าเป็นที่เมืองไทยของเรา ที่อย่างนี้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของนายทุนไปแล้ว และสงสัยว่าทำไมเวียดนามเขาไม่ลงทุนทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว
ดานัง เป็นเมืองท่า หากเราดูแผนที่ประเทศเวียดนามซึ่งมีลักษณะเหมือนตัว S ดานังตั้งอยู่กึ่งกลางบริเวณส่วนที่เป็นคอคอด ห่างจากฮานอย 764 กิโลเมตร ห่างจากโฮจิมินห์ซิตี้ 940 กิโลเมตร แต่ห่างจากจังหวัดมุกดาหารของไทยเพียง 450 กิโลเมตร ที่สำคัญดานังมีชายหาดที่สวยงามยาวถึง 13 กิโลเมตร นั่นหมายความว่า เวลานี้เส้นทางไปทะเลของคนอีสานใกล้กว่าไปทะเลในประเทศเสียอีก ยิ่งปัจจุบันมีแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า “East-West Economic Corridor” ซึ่งเป็นความร่วมมือของรัฐบาลในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พม่า ไทย ลาว เวียดนาม เพื่อเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียกับแปซิฟิกเข้าด้วยกัน
ที่ดานังคณะของเราได้มีโอกาสล่องแม่น้ำห่าน อิ่มอร่อยกับอาหารเลิศรสแบบเวียดนามบนเรือสำราญซองห่าน (Song Han) สนุกสนานด้วยบรรยากาศรำวง “ลอยกระทง” แต่หลายคนไม่สนุกด้วยเพราะเกิดความรู้สึกว่า เอาเพลงเรา วัฒนธรรมเรามาร้องให้เราฟัง แบบผิดๆ เพี้ยนๆ
เรือซองห่านนำคณะของเราผ่านสะพานข้ามแม่น้ำห่านที่ประดับไฟระยิบระยับ ชมความสวยงามสองฟากฝั่งยามราตรีของเมืองดานังประมาณ 2 ชั่วโมงก่อนจะเดินทางเข้าพักที่โรงแรม และในคืนนี้ คณะของเราส่วนหนึ่ง ได้เดินชมทัศนียภาพแม่น้ำห่าน เห็นครกและแตงกวา จึงสั่ง “ตำแตง” มีการสาธิตให้แม่ค้าชมด้วยว่าต้องตำอย่างไร แต่สุดท้าย ได้แตงกวาฝานบางๆ พร้อม เครื่องปรุงแยกมาให้คนละจาน
เช้าวันที่ 23 เมษายน 2551 คณะของเราเดินทางออกจากโรงแรมเพื่อไปศึกษาดูงานการจัดการศึกษาที่โรงเรียนมัธยมสมบูรณ์ (มัธยมศึกษาตอนต้น) “เล ไธ่ ฮ๋อง ก๋อม” ที่แห่งนี้เรามีความประทับใจกับการต้อนรับของท่านผู้อำนวยการโรงเรียน เพราะตั้งแต่เริ่มต้นก้าวเข้าสู่โรงเรียนจนออกจากโรงเรียนมีท่านผู้อำนวยการจัดการเพียงคนเดียว ไม่มีครูมาคอยต้อนรับแต่อย่างใด เพราะถ้าเป็นที่เมืองไทย ครูจะถูกเกณฑ์มาต้อนรับ และทิ้งนักเรียนไว้ที่ห้อง ส่วนรายละเอียดการศึกษาดูงานดูได้จาก “รายงานการศึกษา ดูงานการจัดการศึกษาของประเทศเวียดนาม”
หลังจากการศึกษาดูงานที่โรงเรียนเรียบร้อยแล้ว คณะของเราได้แวะที่ หมู่บ้านแกะสลักหินอ่อนนอนเนื๊อก เพื่อเลือกซื้อของที่ระลึก มีรูปแกะสลักหินอ่อนฝีมือปราณีตบรรจงมากมายหลายขนาดหลายประเภทแต่ราคาค่อนข้างแพงตามฝีมือ ซึ่งส่วนใหญ่จะถ่ายรูปเป็นที่ระลึกและเลือกซื้อหินแกะสลักชิ้นเล็กชิ้นน้อย ที่ราคาไม่แพงนัก ที่แพงสุดที่เราซื้อคือ กำไล ราคา 400 บาท จากนั้นเราก็มุ่งหน้าสู่เมือง มรดกโลกฮอยอัน ดูเหมือนคนไทยจะรู้จักฮอยอันจากละครโทรทัศน์เรื่อง “ฮอยอัน ฉันรักเธอ”
ฮอยอันยังคงอนุรักษ์อาคารบ้านเรือน วัดวา อาราม แม่น้ำ สะพานแบบเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี จนทำให้ผู้มาเยือนรู้สึกเหมือนได้ย้อนยุคไปสู่สมัยโบราน ทำให้เมืองนี้ได้รับสมญาว่า พิพิธภัณฑ์มีชีวิต และได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ.2542) ไกด์ชาวเวียดนามบอกว่า ทุกค่ำคืนวันขึ้น 14 ค่ำจะจัดงาน “ค่ำคืนแห่งตำนาน” ที่ทุกบ้านพร้อมใจกันจุดโคมไฟแทนไฟฟ้าเหมือนวิถีชีวิตในอดีต
ที่ฮอยอันเราเยี่ยมชมบ้านพักตั้นกี๋ อายุกว่า 700 ปี มีคนอาศัยอยู่ 7 ช่วงอายุคน และสะพานไม้โบราณ เมืองฮอยอัน ฉากหนึ่งของละคร “ฮอยอัน ฉันรักเธอ” ขณะที่เราจะออกจากเมืองฮอยอันเป็นเวลา 11.30 น. เราได้เห็นนักเรียนชายและหญิงเวียดนามในชุด “อ๋าว ใหย๋” ขี่จักรยานไปเรียนหนังสือทั่วเมืองฮานอย ซึ่งคณะของเราได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษ และเราได้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมจากไกด์ว่า รัฐบาลกำหนดให้นักเรียนมาโรงเรียนด้วยการขี่จักรยานกับเดินเท่านั้น และห้ามไม่ให้ผู้ปกครองให้เงินเด็กมาโรงเรียนเด็ดขาด ไม่เหมือนเมืองเราอย่างน้อยในชนบทต้องวันละ 20 บาท ไม่เช่นนั้นจะอยู่ในสังคมโรงเรียนอย่างลำบาก
หลังรับประทานอาหารกลางวัน คณะของเราเดินทางจากดานังมาเมืองเว้ ซึ่งอยู่ห่างกัน 107 กิโลเมตร จากดานังไปเว้ ขากลับเราลอดอุโมงค์ ไห่หวัน (Hai Van) ที่มีความยาวถึง 6,274 เมตร อุโมงค์นี้ไกด์เวียดนามบอกว่า สร้างด้วยความร่วมมือของรัฐบาลแคนาดา ญี่ปุ่นและเกาหลี และเป็นความภูมิใจของชาวเวียดนามว่าทันสมัยและยาวที่สุดในโลก ทำให้ย่นระยะเวลาในการเดินทาง ความปลอดภัยในการเดินทางได้มากทีเดียว ภายในอุโมงค์ค่อนข้างกว้างขวาง มีทางออกไปอุโมงค์สำรองอีกด้าน
คณะของเราก็เดินทางมุ่งหน้าสู่เมืองเว้ (Hue) เมืองหลวงเก่าซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเฮืองหรือที่ฝรั่งเรียกว่าแม่น้ำหอม (เพราะมีดอกไม้ชนิดหนึ่งตลอดสองฟากผั่งส่งกลิ่นหอม) เว้อยู่ห่างออกไปประมาณ 60 กิโลเมตร ห่างจากกรุงฮานอยไปทางใต้ 660 กิโลเมตร สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 17 โดยราชวงศ์เหงียน
เว้เป็นเมืองใหญ่อันดับสามรองจากโฮจิมินห์ซิตี้และฮานอย เครื่องหมายที่บอกให้ทราบคือขบวนรถมอเตอร์ไซค์และจักรยานที่วิ่งกันขวักไขว่ เล่ากันว่า ยี้ห้อยอดนิยมของคนเวียดนามคือ “ฮอนด้า” จนมีคำกล่าวยุคหนึ่งว่า หนุ่มเวียดนามที่สาวๆ สนใจต้องมี 3 H คือ Handsome, Hand-phone และ Honda
พระราชวังแห่งนี้เป็นที่ประทับของจักรพรรดิ์ราชวงศ์เหงียน 13 พระองค์ มีป้อมวังหน้าเป็นที่ตั้งของเสาธงขนาดใหญ่อนุสรณ์แห่งชัยชนะในการรบกับฝรั่งเศส คนที่เคยไปประเทศจีนบอกว่าถอดแบบมาจากพระราชวังต้องห้ามของจีนที่ปักกิ่ง ภายในมีกำแพงถึง 3 ชั้น เมื่อผ่านกำแพงชั้นที่สองเข้าไปจะเห็นปืนใหญ่ตั้งอยู่สองฝั่งทางเข้า ฝั่งหนึ่งมี 4 กระบอกแทน 4 ฤดู คือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ส่วนอีกฝั่งหนึ่งมี 5 กระบอกแทนธาตุทั้ง 5 ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ไม้ และ โลหะ
ภายในพระราชฐานแบ่งออกเป็นท้องพระโรง ซึ่งเป็นที่จักรพรรดิ์เบ๋าได๋ จักรพรรดิ์องค์สุดท้ายของเวียดนามประกาศสละราชสมบัติในปี ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) ส่วนในคือ พระตำหนักฝ่ายหน้าและพระตำหนักฝ่ายใน อันเป็นที่พระมเหสีและพระสนมอยู่ ซึ่งว่ากันว่ามีพระสนมอยู่ถึง ๕๐๐ กว่าองค์ ดังนั้น จึงมีเนื้อที่กว้างขวางมาก แต่ปัจจุบันอาคารต่างๆ ทรุดโทรมไปตามกาลเวลาเหลือเพียงซากปรักหักพังเป็นส่วนใหญ่ และเสียหายจากการถูกสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดในช่วงสงครามเวียดนาม
เห็นความยิ่งใหญ่และมั่นคงของพระราชวังไท้ฮัว ทำให้คิดถึงความยิ่งใหญ่ของเกาะเมือง ปราสาทราชมณเฑียรของกรุงศรีอยุธยา ว่าจะมีความยิ่งใหญ่และงดงามเพียงใด หากไม่ถูกทำลายลงด้วยสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 แก่กรุงหงสาวดี
จากนั้นคณะของเราได้ไปเลือกซื้อสินค้าที่ตลาดดงบา ลักษณะเหมือนตลาดจตุจักรของไทย แต่บรรยากาศก็เหมือนตลาดนัดในตัวอำเภอของเรา ที่นี่ ไกด์แนะนำว่า “ตาดีได้ ตาร้ายเสีย” ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เราทุกคนแทบจะเสียด้วยกันทั้งนั้น ก่อนมาที่นี่เราหลายคนเกรงว่าเงินบาทไทยจะใช้ไม่ได้ แต่ก็ผิดคาด เพราะคนเวียดนามรู้จักเงินบาทไทยดี ต้องการเงินบาทไทยมากๆ และเงินด่องแทบไร้ความหมาย
หลังจากรับประทานอาหารเย็น ไกด์พาคณะของเราไปล่องเรือ รับฟังและชมการบรรเลงเพลงของคณะดนตรีราชสำนักโบราณ ซึ่งชุดการแสดงดังกล่าว ใช้แสดงต่อหน้าพระพักตร์องค์จักรพรรดิ์เท่านั้น พวกเราหลายคนค่อนข้างผิดหวัง เพราะนึกว่าจะได้ล่องเรือร้องเพลงเอง แต่ต้องมาฟังสิ่งที่ไม่รู้เรื่องตั้ง 2 ชั่วโมง แถมสุดท้ายพาเราลอยกระทงอีก ซึ่งจุดนี้เห็นได้ชัดว่าหลายคนไม่ชอบและพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เหมือนเอาวัฒนธรรมเรามาล้อเล่น” แต่เราหลายคนก็เกิดมุมมองว่า “เขาสามารถนำสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมาส่งเสริมการท่องเที่ยวและดึงเงินจากกระเป๋าเราได้” จากนั้นจึงเข้าที่พัก
วันที่ 24 เมษายน 2551 เราเดินทางกลับโดยเส้นทางเดิม บนรถเรามีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสนอแนวคิด มุมมองหรือประสบการณ์ที่ได้รับจากการเดินทางมาศึกษาดูงานและทัศนศึกษาที่ประเทศเวียดนามกันอย่างหลากหลาย และอย่างหวาดเสียว เพราะเมื่อผ่านด่านลาวบ๋าวประเทศเวียดนามเข้าสู่ประเทศลาวแล้ว โชว์เฟอร์ทำเวลาในการเดินทางมาก จนคณะของเราไม่กล้านอนหลับกันเลยทีเดียว และเมื่อถึงด่านสะหวันเขต ก่อนข้ามสะพานมิตรภาพเราแวะร้านค้าปลอดภาษีดาวเรือง ช่วยกันเอาเงินเข้าประเทศลาวเพราะรู้สึกร่วมกันว่า เส้นทางหมายเลข 9 ที่สร้างขึ้น ลาวเป็นเพียงทางผ่านและได้รับประโยชน์น้อยมาก
เมื่อข้ามกลับมาถึงฝั่งมุกดาหาร ประเทศไทย เราทุกคนก็หายใจเต็มปอด เพราะที่นี่คือบ้านของเรา และได้ช่วยกันส่งเสริมเศรษฐกิจของคนไทยด้วยกันเองอีก อย่างน้อยคุณยายที่ขายหมูยอกว่า 300 มัดก็ขายหมดภายใน 30 นาที เพราะพวกเรา และทุกคนก็เดินทางกลับถึงบ้านโดยสวัสดิภาพ
การไปศึกษาดูงานหรือไปเที่ยวต่างประเทศ ทำให้เราได้ข้อคิดหลายอย่าง ทำให้เกิดการเปรียบเทียบระหว่างเรากับเขา ว่ามีข้อแตกต่างกันอย่างไรบ้าง สิ่งที่เราคิดว่าบ้านเราดีแล้ว ก็อาจไม่ใช่เสมอไป โดยเฉพาะในระยะนี้กำลังอยู่ในกระแสของคำว่า “พอเพียง” ซึ่งจริงๆแล้วคนส่วนใหญ่จะเข้าใจและปฏิบัติตน “ อย่างพอเพียง “ หรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่ถ้าหากว่ามีโอกาสไปต่างประเทศที่อยู่ใกล้ๆ แค่ลาว หรือเวียดนาม อาจเห็นว่า คนในประเทศเหล่านี้อยู่กันแบบพอเพียงเป็นปกตินิสัย ต่างกับคนไทยส่วนใหญ่ใช้ชีวิตกันอย่างฟุ่มเฟือย ไร้สาระ ใช้จ่ายอย่างไม่มีเหตุผล ทุกวันนี้ก็ถูกกระตุ้นให้เกิดความโลภ ความอยาก ที่แฝงมาในรูปแบบต่างๆจนกลายเป็นเรื่องปกติ และลืมนึกไปว่าถูกมอมเมาโดยไม่รู้ตัว สิ่งเหล่าคนไทยอาจมองไม่เห็น แต่ถ้าหากไปเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ก็จะเห็นความจริงในเรื่องนี้ด้วยตนเอง