VDO conference การประชุมทางไกล ระบบคุยทางไกล การสื่อสารระยะไกลผ่านอินเตอร์เน็ต

การประชุมทางไกล (Video conference) เป็นเทคโนโลยีรูปแบบหนึ่งของความร่วมมือองค์กรในการใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารระยะไกล ที่ลดเวลา ลดต้นทุนงบประมาณ การสื่อสารในปัจจุบันช่วยให้การดำเนินชีวิตคนเรามีความสะดวก สบายมากขึ้น ปัจจุบันผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศสามารถประชุมกันได้ โดยไม่ต้องมาเข้าห้องประชุมที่เดียวกัน

ความหมายของ VDO conference
          การประชุมทางไกล (Video conference) คือ การนำเทคโนโลยีสาขาต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ กล้องโทรทัศน์และระบบสื่อสารโทรคมนาคมผสมผสาน เป็นการประชุมที่ผู้เข้าร่วมประชุมอยู่กันคนละสถานที่ ไม่จำกัดระยะทาง สามารถประชุมร่วมกันและมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกันได้ การส่งข้อความและภาพสามารถส่งได้ทั้งทางสายโทรศัพท์ คลื่นไมโครเวฟ สายไฟเบอร์ออฟติกของระบบเครือข่าย และการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม โดยการบีบอัดภาพ เสียงและข้อความ กราฟิกต่างๆ ไปยังสถานที่ประชุมต่างๆ ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถเห็นภาพและข้อความต่างๆ เพื่ออภิปรายร่วมกันได้เพื่อสนับสนุนในการประชุมให้มีประสิทธิภาพ

วัตถุประสงค์ของ VDO conference
          Video conference หรือการประชุมทางไกล ถูกออกแบบมาเพื่อให้คนหรือกลุ่ม คน ซึ่งอยู่กันคนละสถานที่สามารถติดต่อกันได้ทั้งภาพและเสียง โดย ผ่านทางจอภาพซึ่งอาจเป็นคอมพิวเตอร์หรือโทรทัศน์ ผู้ชมที่ฝั่งหนึ่งจะเห็นภาพของอีกฝั่งหนึ่งปรากฏอยู่บนจอโทรทัศน์ของ ตัวเองและ ภาพของตัวเองก็จะไปปรากฏยังโทรทัศน์ของฝั่งตรงข้ามเช่นเดียวกัน คุณภาพของภาพและเสียงที่ได้จะขึ้นอยู่กับความเร็วของช่องทางสื่อสารที่ ใช้เชื่อมต่อระหว่างทั้งสองฝั่งอุปกรณ์ที่ต้องมีในระบบประชุมทางไกลนี้ ก็ ได้แก่ จอโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์, ลำโพง,ไมโครโฟน, กล้อง และอุปกรณ์ Codec ซึ่งเป็นตัวเข้ารหัสสัญญาณภาพและเสียงที่ได้จากกล้องและไมโครโฟนส่ง ผ่านเส้นทางสื่อสารไปยังอีกฝั่งหนึ่ง รวมถึงถอดรหัสสัญญาณที่ได้รับ มาอีกฝั่งให้กลับเป็นสัญญาณภาพและเสียงแสดงบนจอและลำโพงนั่นเองเส้นทางสื่อสารขนาด 384 Kbps ขึ้นไปก็สามารถให้คุณภาพภาพในระดับที่ยอมรับได้ โดยอาจใช้ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ISDN หรือ ATM เป็นต้น ข้อดีของการประชุมทางไกล คือสามารถให้ความสะดวกในการติดต่อสื่อสารกัน ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งจะประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย และยังช่วยแก้ปัญหาจราจรได้ทางหนึ่ง

การใช้งาน Video Conference
          ระบบ Video Conference นี้ จะช่วยให้งานประชุมหรืองานการเรียน การสอนที่อยู่ต่างสถานที่กันในหลายจุดได้มาประชุมเสมือนอยู่ในห้อง เดียวกัน มีประธานในการประชุม สามารถ share งานต่างๆ ในแต่ละจุดให้เห็นเหมือนกัน เสนอผ่านความเห็นต่างๆ ได้ เช่น การ Share Whiteboard, PowerPoint, Worksheet เป็นต้น งานประชุมหรืองานการเรียนการสอน สามารถดำเนินไปได้ อย่างสะดวกรวดเร็ว ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายรวมทั้งเป็นการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อุปกรณ์ในระบบ Video Conference มีดังนี้
          1. ชุดอุปกรณ์ Codec ระบบบีบอัดข้อมูลและรับส่ง จัดการระบบการประชุม
          2. กล้องจับภาพ ปกติจะมาพร้อมชุดอุปกรณ์ Codec
          3. กล้องจับภาพ (เสริม) เป็นชนิดกล้องวิดีโอ เช่น กล้อง Mini-DV ใช้ในกรณีของการประชุมใหญ่ๆ และพื้นที่ห้องประชุมคับแคบ จำเป็นต้องเพิ่มกล้องช่วยจับภาพ
          4. อุปกรณ์นำเสนอต่างๆ เช่น ไมโครคอมพิวเตอร์ เครื่องนำเสนอวัตถุ 3 มิติ เครื่องเล่นวีดิทัศน์ เป็นต้น
          5. จอรับภาพ โดยทั่วไปจะเป็นจอฉากใหญ่ที่รับภาพจาก Projector และอาจเพิ่มได้ตามขนาดห้อง หรือขนาดความจุผู้เข้าประชุม ซึ่งเพิ่มเป็นถึง 4 จอ คือ จอภาพสำหรับนำเสนอ, จอผู้พูดฝั่ง Near, จอผู้พูดฝั่ง Far และจอบันทึกการประชุม
          6. ระบบเครื่องเสียงชุดประชุม ซึ่งมีทั้งเครื่องควบคุม เครื่องขยายเสียง เครื่องผสมสัญญาณเสียง ลำโพงและไมโครโฟนอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ จะใช้งบประมาณเริ่มต้นเพียง 200,000 – 300,000 บาท (สำหรับระบบขนาดเล็ก ไม่ใหญ่มากนัก) ขึ้นอยู่กับ ระดับคุณภาพของอุปกรณ์ หลักเบื้องต้นการติดตั้ง มีดังนี้
               – เชื่อมต่อสัญญาณภาพและเสียงอุปกรณ์ทั้งหมดให้เรียบร้อย ได้แก่ Codec-Network-กล้องเสริม-จอโทรทัศน์-Projector-เครื่องนำเสนอ-Computer-เครื่องบันทึก-ระบบเสียงชุดประชุม (ตามความต้องการใช้งาน)
               – เชื่อมต่อ Codec เข้ากับระบบ Network (ขั้นตอนนี้ต้องประสานกับฝ่าย Network เพื่อ Config IP ให้กับCodec)
               – ทดสอบการแสดงผลของภาพและเสียงในฝั่งของตนเองให้ถูกต้อง เมื่อติดตั้งและทดสอบเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ ทำการติดต่อกับอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อทำการทดสอบ Conference ระหว่างวิทยาเขตต่อไปหลักในการจัดวางตำแหน่ง

การจัดวางตำแหน่งอุปกรณ์ระบบการประชุมทางไกล
          1. กล้องจะต้องวางในตำแหน่งท้ายโต๊ะประชุม และอยู่กึ่งกลางห้องประชุม ยึดหลักให้สามารถจับภาพผู้เข้าประชุมได้ทุกคน แต่หากมีปัญหาเรื่องพื้นที่ ไม่สามารถวางตำแหน่งดังกล่าวได้ แก้ไขโดยเพิ่มกล้องเสริม และเปลี่ยนตำแหน่งจับภาพกล้องละด้าน เช่น กล้องหลักวางด้านซ้าย กล้องเสริมวางด้านขวา จำไว้ว่ากล้อง 2 ตัว ต้องแบ่งหน้าที่อิสระจากกัน จับภาพด้านของตัวเองเท่านั้น
          2. ลำโพงเสียง กรณีเป็นชุดประชุม ลำโพงจะติดที่ไมโครโฟน ไม่สามารถเปลี่ยนตำแหน่งได้ เพราะจะอยู่บนโต๊ะ(การแก้ปัญหาเสียงหอน ใช้เทคนิคการปรับแต่งเสียง) แต่กรณีเป็นระบบเสียงแยกอิสระ ลำโพง ควรอยู่ไกลตำแหน่งไมค์ให้มากที่สุด และอยู่สูง หันทิศทางให้กระจายเสียงได้ทั่วห้องประชุม เพื่อแก้ปัญหาทางเสียงได้ดีที่สุด
          3. อุปกรณ์เครื่องนำเสนอต่างๆ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ เครื่องทึบแสง เป็นต้น เหล่านี้ไม่ค่อยมีปัญหาจะจัดตามหลักการจัดห้องประชุมอยู่แล้ว
          4. อุปกรณ์ชุดควบคุมเสียงและระบบบันทึกภาพ ควรอยู่ด้วยกัน เพื่อสามารถควบคุมได้ทันท่วงที

ขั้นตอนการทำงานของระบบเริ่มจากการแปลงสัญญาณภาพและเสียงจากระบบอะนาล็อก ให้เป็นดิจิตอล แล้วส่งไปถึงผู้รับ จากนั้นอุปกรณ์สื่อสารของผู้รับก็จะแปลงสัญญาณดิจิตอลกลับมาเป็นภาพและเสียง ให้ผู้ชมเห็นและได้ยิน สำหรับภาพที่เห็นนั้น อาจติดตั้งให้ภาพปรากฏบนจอรับภาพในห้องประชุมก็ได้ หรืออาจสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์ได้ทั้งคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะและกระเป๋าหิ้ว ซึ่งทำให้การประชุมสื่อสารระหว่างบุคคลมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

สำหรับประเทศไทยได้มีหน่วยงานทั้งภาพรัฐและเอกชนที่ให้บริการในลักษณะ Video Conference เช่น การสื่อสารแห่งประเทศไทย โรงแรมบางแห่งและบริษัทผู้ประกอบกิจการด้านโทรคมนาคม ซึ่งจะทำให้บริการประชุมทางไกลทั้งในประเทศและระหว่างประเทศโดยใช้บริการสื่อสารร่วมระบบดิจิตอล หรือ ISDN ซึ่งเป็นเครือข่ายที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้อุปกรณ์สื่อสารต่างๆ เช่น โทรศัพท์ โทรสาร และคอมพิวเตอร์ที่ทำงานกันคนละระบบสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกรวดเร็วขึ้น การประชุมแบบจอภาพ Video Conference ผ่านระบบเครือข่ายISDN จึงถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ ทันสมัย สามารถติดต่อสื่อสารทางไกลกับอีกซีกโลกหนึ่งในลักษณะมัลติมีเดียได้อย่างครบถ้วนในเวลาเดียว จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและพัฒนาธุรกิจให้รุดหน้าได้เร็ว การกระจายข้อมูล การประยุกต์ใช้งานของระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ บริการแบบโต้ตอบในเวลาเดียวกันบริการแบบโต้ตอบในเวลาเดียวกัน (synchronous) คล้ายกับบริการแบบถ่ายทอดสารสนเทศ ที่กำหนดให้ผู้สื่อสารต้องส่งและรับสารในเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ตามรูปแบบของบริการนี้ การสื่อสารจะเป็นแบบสมมาตร(symmetric)หรือสามารถโต้ตอบกันได้ (interactive) นั่นเอง จะว่าไปแล้ว การสื่อสารแบบนี้คล้ายกับการสื่อสารด้วยการสนทนาในอดีต หากแต่ไม่มีข้อจำกัดด้านระยะทางเท่านั้น เราจึงมักพบคำที่ชี้ถึง “ระยะทางไกล” ในบริการประเภทนี้ เช่น การสาธารณสุขวิถีไกล (telemedicine) การศึกษาวิถีไกล (remote learning) หรือโทรสัมมนา (teleconference) เป็นต้น

แนะนำโปรแกรม Skype โปรแกรมเพื่อประชุมกลุ่มทางไกล
          Skype  (สไคป์ หรือ สไกป์) คือ โปรแกรมที่ใช้ติดต่อสื่อสารกันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตด้วยข้อความพร้อมเสียงและภาพจากกล้อง  Webcam โดยจะเป็นการสื่อสารกันแบบ Real Time ลักษณะจะคล้าย Windows  Live Messenger หรือที่เราเรียก MSN  แต่จะมีข้อดีเหนือกว่ามากในเรื่องของคุณภาพของภาพ และเสียง ซึ่ง Skype  จะให้สัญญาณที่คมชัดกว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยส่วนใหญ่แล้ว Skype จะนำมาใช้ทำ  Video Conference เพื่อสนทนากันแบบตัวต่อตัว  หรือประชุมสายพร้อมกันหลายคนผ่านอินเทอร์เน็ตได้ทั่วโลก  โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพียงแค่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต การเชื่อมต่อจะเป็นแบบ peer-to-peer voice over Internet protocol (VoIP)  [เว็บ www.skype.com]

sakanan-cern-skype
ผมเองก็ใช้โปรแกรม Skype ในการสอบสัมภาษณ์โครงการครูฟิสิกส์ภาคฤดูร้อนเซิร์น (ดังภาพ) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2556 โดยเป็นการสนทนาผ่านโปรแกรม Skype ระหว่างกรรมการสอบสัมภาษณ์ที่ประเทศไทย และตัวของกระผม ขณะทำการศึกษาและวิจัยที่ประเทศนิวซีแลนด์ (ขอขอบพระคุณคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่โครงการเซิร์น ประเทศไทย ที่ให้โอกาสกระผม ได้รับประสบการณ์การสัมภาษณ์แบบข้ามทวีปในวันนั้นครับ) อินเตอร์เน็ตแรงและเร็ว ดังนั้น คุณภาพเสียงและภาพชัดเจนมากครับ นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมอื่นๆ ที่ขอแนะนำ คือ โปรแกรมแทงโก (tango) ที่ใช้พูดคุยและสนทนาผ่านโทรศัพท์มือถือ ผมเองก็ใช้คุยกับลูกข้ามทวีปบ่อยๆ ลองหามาใช้กันดูนะครับ ที่สำคัญฟรีครับ

เรียบเรียงจาก : http://nooteab.wordpress.com/2012/08/17/video-conference



Leave a Comment