คุณครูเกือบจะทุกท่าน คงเคยผ่านการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐ ที่เรียกชื่อแตกต่างกันตามยุคสมัยมาแล้ว และมีสูตรสำเร็จของแต่ละคน สิ่งที่ผมจะนำเสนอนี้เป็นเพียงรูปแบบหนึ่ง ที่เคยให้เด็กในชนบท ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องโอกาสทางการศึกษาต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นทุน ทัศนคติ หรือการขาดแรงจูงใจในการศึกษาต่อ ฯลฯ “ได้นำไปใช้ ได้ลงมือทำ” เพื่อให้รู้ความสามารถของตนเองและสามารถเลือกได้ถูกต้อง โดยอาศัย “ความอดทน พยายาม ซื่อสัตย์และเอาจริง” วิธีการนี้ ผม (ศักดิ์อนันต์ อนันตสุข) น้องชาย (ชูเกียรติ อนันตสุข) และน้องสาว (นิราวรรณ อนันตสุข) เคยทำและประสบความสำเร็จมาแล้ว
จึงขอนำเอาบทความเรื่อง “365 วัน ตามติดชีวิตเด็ก (ชนบท) เอ็นท์” ที่ผมเคยเขียนและตีพิมพ์ในวารสาร สควค. ฉบับที่ 2 มาถ่ายทอดอีกครั้ง กับการตามติดชีวิตนักเรียน โรงเรียนพนาสนวิทยา ที่ใฝ่ฝันอยากเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ไปสอบโควตา ด้วยวิธีการเดียวกัน ทั้งนี้ รูปแบบนี้เป็นการศึกษาแบบไม่เป็นทางการนำไปปรับใช้ได้แต่ไม่ควรนำผลการศึกษาไปใช้อ้างอิงใดๆ
เมื่อผมย้ายมารับราชการที่โรงเรียนพนาสนวิทยา ความท้าทายอันหนึ่งของผม ซึ่งผู้บริหารโรงเรียนได้มอบหมายให้คือ การทำให้นักเรียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ เพราะ 12 ปีของการก่อตั้งโรงเรียนยังไม่มีผลงานในเรื่องนี้ ผมใช้เวลาหนึ่งปี ครูหนึ่งคน กับการลงมือทำของนักเรียน งานนี้ต้องดูกันยาวๆ ครับ มีคนทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ตามประสาเด็กๆ เป็นอย่างไร มาดูกันครับ
ภาคเรียนที่ 2/2548 รับสมัครนักเรียน ม.5 ที่สนใจสอบเข้าศึกษาต่อ เข้าร่วมโครงการ ดำเนินการด้วยชุมนุม “แอดมิชชั่นส์”
เบื้องต้นฝึกให้นักเรียนชินกับการนอนกลางคืนหลังสี่ทุ่ม (เด็กบางคน นอนตั้งแต่ 2 ทุ่ม) เพื่อให้ใช้เวลาตั้งแต่ 2 ทุ่ม ถึง 4 ทุ่ม และอาจเพิ่มอีก 1 ชั่วโมง ได้ทำการบ้าน อ่านหนังสือ และนักเรียนทุกคนต้องมีสมุดคนละ 1 เล่ม เพื่อฝึกทำข้อสอบเอ็นทรานซ์ทุกวัน วันละ 1 วิชาๆละ 2 ชั่วโมง (กลางคืน) รวม 7 วิชา (ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทยและสังคมศึกษา) ขั้นต่ำวิชาละ 5 ชุด รวม 35 ชุด (35 วัน) โดยนักเรียนต้องทำเอง ตรวจเองและดูเฉลยเอง รับผิดชอบเอง ส่วนครูคอยกำกับดูแลทุกสัปดาห์และจัดหาหนังสือให้เพียงพอกับความต้องการ
จากนั้น นำคะแนนนักเรียนในแต่ละวิชา มาหาค่าเฉลี่ย รวมคะแนน แล้วนำไปเทียบกับคะแนนการสอบของ ปีก่อนๆว่า คะแนนนั้นๆอยู่ในคณะใด ซึ่งผลการดำเนินการพบว่า จากนักเรียน 38 คนมีนักเรียนที่ตั้งใจทำตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ จำนวน 18 คน ส่วนที่ทำจริง คะแนนที่ได้ก็จะเป็นคะแนนความสามารถของตนเองจริงๆ ครูจะให้คำแนะนำว่า ควรเลือกเรียนคณะอะไรจึงจะสอบได้ ซึ่งนักเรียนเกือบทุกคน เมื่อรู้ความสามารถของตนเองแล้ว ก็ลดลำดับคณะที่เลือกไว้ตั้งแต่ตอนแรกลงมา ครูแนะนำนักเรียนให้อ่านหนังสือเพิ่มเติมในช่วงปิดเทอม แต่นักเรียน ทุกคนก็ไม่อ่านเพราะไปทำงานหาเงินที่กรุงเทพฯ ชีวิตของเด็กชนบท ก็เป็นเช่นนี้
ภาคเรียนที่ 1/2549 กิจกรรมของชุมนุม “แอดมิชชั่นส์” ยังคงดำเนินต่อไป โดยมีนักเรียนกลุ่มเดิม ซึ่งขณะนี้อยู่ ม.6 ลดลงเหลือ 12 คน ครูได้จัดกิจกรรมส่งเสริมเหมือนในภาคเรียนที่ 2/2548 แต่เพิ่มเติมกิจกรรมแนะแนวมหาวิทยาลัย การเลือกคณะโดยอิงคะแนนตนเอง การเข้าค่ายจุดประกายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ จากนักศึกษา สควค.รุ่นที่ 10 มหาวิทยาลัยขอนแก่น การจัดทดสอบ PRE-ADMISSION และจบด้วยการทำแบบทดสอบและศึกษาด้วยตนเองแบบเข้มข้น 2 สัปดาห์ก่อนสอบโควตา ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งผลปรากฏว่า นักเรียนสอบผ่านข้อเขียนเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยขอนแก่น 3 คน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 4 คน รวมทั้งสิ้น 7 คน และได้จุดประกายไฟ ใฝ่ศึกษาต่อให้กับนักเรียน ม.5 ได้ตั้งใจว่า “การสอบเข้ามหาวิทยาลัยโดยไม่เสียตังค์ติว เป็นสิ่งที่ทำได้จริง”
จากการใช้รูปแบบดังกล่าว ข้อดี คือ ใช้ครูจัดการเพียงคนเดียว ไม่ต้องรบกวนบุคลากรในโรงเรียน ซึ่งเคยเห็นหลายโรงเรียนใช้ ครูสอนและติวเพิ่มแต่ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะเป็นการเพิ่มภาระงานให้กับครูคนอื่นและคนที่ต้องทำจริงๆ คือ นักเรียน ถ้าไม่ทำ หรือทำแต่ไม่จริงจัง เมื่อเข้าสู่สนามสอบ ก็พ่ายแพ้กลับมา โดยนักเรียนต้องเรียนรู้ที่จะอดทนและรอคอย ซึ่งมีนักเรียนกว่ากึ่งหนึ่งที่ออกจากโครงการ เพราะไม่เชื่อว่า ทำแล้วจะประสบผลสำเร็จ (คนที่ทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็มี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัย แต่คนที่ประสบความสำเร็จล้วนเป็นคนที่ทุ่มเท เอาจริงและเลือกได้เหมาะกับความสามารถของตนเอง)
เว็บ ANANTASOOK.Com ขอย้ำว่า เป้าหมายของการสอนของเรา ไม่ใช่มุ่งจะเอาเด็กไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยทั้งหมด เพียงแต่ผมเห็นว่า ทุกโรงเรียนในชนบท จะมีนักเรียนที่เป็นเด็กดี เรียนดีและมีความสามารถ สมควรที่ครูอย่างเราๆ จะช่วยส่งเสริมให้เขาประสบความสำเร็จ ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่ดี และให้เขาใช้ความรู้ความสามารถนั้นมายกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว สังคม(ชนบท)และประเทศชาติโดยส่วนรวม ส่วนนักเรียนที่มีความสามารถอื่นต่างออกไป เราก็ต้องส่งเสริมในวิธีการที่เหมาะสม เพราะเราไม่รู้หรอกว่า เด็กที่เรียนไม่รู้เรื่อง อาจจะมีความสามารถด้านอื่นๆ ประกอบกิจการจนก้าวหน้าร่ำรวย และสามารถช่วยเหลือท้องถิ่นได้อย่างมากกมายมหาศาลเช่นกัน
ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 2 ที่เขียนโดย ศักดิ์อนันต์ อนันตสุข