เข้าสู่หน้าฝน โปรดระวัง ภัยจากฟ้าผ่า โดยเฉพาะการใช้โทรศัพท์มือถือขณะที่มีฟ้าแลบ ฟ้าร้อง อาจเสียชีวิตจากฟ้าผ่า ตายแบบไม่รู้ตัว
ฟ้าผ่า เป็นปรากฏการณ์ที่ก้อนเมฆลอยตัวไปเสียดสีกับบรรยากาศ หรือเสียดสีระหว่างก้อนเมฆด้วยกัน ทำให้เกิดการสะสมไฟฟ้าสถิตในตัวก้อนเมฆมาก จนก้อนเมฆมีศักย์ไฟฟ้าสูงตั้งแต่ 10-100 MV เมื่อสะสมไว้มากก็เกิดความเครียดของสนามไฟฟ้า เมื่อถึงขั้นวิกฤตก็มีการปลดปล่อยพลังงาน โดยการดิสชาร์จระหว่างก้อนเมฆกับพื้นโลกเลยเกิดเป็น “ฟ้าผ่า” (Ground Flash) แต่ถ้าดิสชาร์จระหว่างก้อนเมฆกับก้อนเมฆเรียกว่า “ฟ้าแลบ” (air Discharge) ลำแสงฟ้าผ่ามีอุณหภูมิสูงถึง 30,000 เคลวิน จึงพบว่า เมื่อฟ้าผ่าลงที่ใดก็มักเกิดความเสียหายและไฟไหม้สิ่งนั้นทันที
ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตว่า ปรากฏการณ์พายุฝนฟ้าคะนองและฟ้าร้องฟ้าผ่าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีความร้ายรุนแรงเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต เพราะมีสิ่งปลูกสร้างที่เสี่ยงต่อพายุ และเป็นตัวล่อให้เกิดฟ้าผ่ามากขึ้น เช่น สิ่งปลูกสร้างต่างๆ รวมถึง วัตถุเหนี่ยวนำให้เกิดฟ้าผ่า เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือ ขณะฝนตกฟ้าคะนอง
วิธีปฏิบัติตนเพื่อความปลอดภัยจากฟ้าผ่า
1.ไม่ควรสวมใส่เครื่องประดับประเภทเงิน จี้ สร้อยโลหะ หรือถืออุปกรณ์ประเภทโลหะ เช่น ร่มที่มีโลหะบนยอด
2. ไม่อยู่ใกล้กับอุปกรณ์ที่เป็นโลหะ เช่น เครื่องมือทางการเกษตร เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าได้ หรือการอยู่ใต้ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ถึงแม้ป้ายจะมีสายดิน สายล่อฟ้า แต่ก็อาจไม่ปลอดภัยเนื่องจากอาจถูกรัศมีของกระแสฟ้าที่ผ่าลงมาได้
3. ไม่อยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ เพราะฟ้ามักจะผ่าลงที่สูง การหลบอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่จึงไม่ปลอดภัย เนื่องจากขณะเกิดฟ้าผ่าใต้ต้นไม้ใหญ่ จะมีแรงดันที่พื้นดิน ทำให้คนที่อยู่ใต้ต้นไม้ได้รับอันตราย โดยกระแสไฟฟ้าจะวิ่งผ่านขาข้างหนึ่งไปยังขาอีกข้างหนึ่ง ทำให้เกิดอาการช็อกถึงขั้นหัวใจหยุดเต้น
4. ไม่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ (รวมถึงโทรศัพท์บ้าน) ขณะฝนฟ้าคะนอง เนื่องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นสื่อล่อฟ้า ซึ่งมีแผ่นโลหะ สายอากาศและแบตเตอรี่ที่เป็นส่วนผสมของโลหะ อาจทำให้ผู้ใช้ได้รับอันตรายจากฟ้าผ่าได้ วิธีที่ปลอดภัย คือ ปิดโทรศัพท์มือถือไปเลย
5. หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมกลางแจ้ง ขณะมีพายุฝนฟ้าคะนอง เช่น การทำนา ทำสวน การเล่นกีฬากลางแจ้ง ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเกิดฟ้าแลบ ให้รีบนั่งยองลงกับพื้นโดยเขย่งปลายเท้าไว้ การนั่งยองจะทำให้ตัวเราอยู่ต่ำที่สุด และปลายเท้าเราแตะพื้นดินให้น้อยที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงจากรัศมีของกระแส ฟ้าผ่า จากนั้นให้รีบวิ่งหลบในที่ปลอดภัยให้เร็วที่สุด
6. ควรอยู่ในบ้านหรืออาคารที่ปลอดภัย ที่มีการติดตั้งสายล่อฟ้า-สายดิน ป้องกันฟ้าผ่า และควรตรวจสอบสายดิน สายล่อฟ้าและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอยู่เป็นประจำเพื่อความปลอดภัย
7. ไม่เปิดโทรทัศน์ขณะฝนฟ้าคะนอง เพราะฟ้าอาจผ่ามาที่เสาอากาศนอกบ้านซึ่งเชื่อมต่อกับโทรทัศน์ ทำให้โทรทัศน์ได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ อุปกรณ์ที่ต้องเสียบปลั๊กไฟทุกชนิดเช่น แอร์ ตู้เย็น และอื่นๆ ก็มีโอกาสได้รับความเสียหายจากฟ้าผ่าเช่นกัน เพราะอาจมีแรงดันเกิดขึ้นกับสายไฟฟ้าในบริเวณใกล้เคียง ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลเข้าสู่เครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้เกิดความเสียหายได้ ขณะที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง จึงควรดึงปลั๊กไฟ และสายอากาศออก
8. กรณีที่ขับรถหรืออยู่ในรถระหว่างที่ฟ้าผ่า มีโอกาสถูกฟ้าผ่าได้น้อย เนื่องจากรถยนต์มีโลหะนำไฟฟ้าที่ไม่ดีนัก จึงทำให้ความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่านั้นน้อยลงด้วย แต่เมื่อออกจากตัวรถ ก็มีความเสี่ยงที่จะโดนฟ้าผ่ามากขึ้น
เตือนภัยฟ้าผ่า จากการใช้โทรศัพท์มือถือ
สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เคยประกาศเตือนประชาชน ให้ปิดมือถือป้องกันฟ้าผ่า หลังพบข้อมูลทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเทศ คนถูกฟ้าผ่าดับหลายรายเพราะเปิดมือถือและเซย์ฮัลโหลช่วงฝนฟ้าคะนอง
ตัวอย่างที่มักมีการกล่าวถึง (ในช่วงก่อนปี 2555) ได้แก่
– กรณีที่จังหวัดมุกดาหาร ฟ้าผ่านักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวออสเตรเลียเสียชีวิต ขณะเล่นน้ำตกตาดโตน ผู้อยู่ในเหตุการณ์ระบุว่า ก่อนฟ้าผ่าหนึ่งในผู้เสียชีวิตกำลังเชคข้อความในมือถือ
– กรณีที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ฟ้าผ่าคนงานชาวกัมพูชาเสียชีวิต 3 ราย เพราะคนงานหยิบมือถือมาโทร
– กรณีฟ้าผ่าชาวบ้านเสียชีวิตที่ อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ ขณะออกไปเลี้ยงควาย แล้ววิ่งหลบฝนในกระท่อมกลางทุ่งนาโดยพกมือถือไว้ในกระเป๋าเสื้อผ้า
– กรณีฟ้าผ่าที่ อ.งาว จ.ลำปาง ผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่า ขณะผู้เสียชีวิตเข้าไปหลบฝนในกระท่อม มีสายเรียกเข้ายังไม่ทันกดรับสาย ฟ้าก็ผ่าลงกระท่อมไปยังโทรศัพท์มือถือจนทำให้ผู้นั้นเสียชีวิต
– กรณีบ้านค่าย จังหวัดระยอง ปี พ.ศ. 2557 วัยรุ่นตกปลาไปนั่งตกปลา ฝนตกไปหลบในกระท่อม “ใช้มือถือ ขณะฝนตกฟ้าร้อง” โดนฟ้าผ่า เสียชีวิต 3 ราย และมีบาดเจ็บ 1 ราย
– กรณีที่อังกฤษ ในปี 2549 สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์ได้รายงานผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์อังกฤษหรือ บริติช เมดิคอล เจอร์นัล (บีเอ็มเจ) ว่า การใช้มือถือในที่โล่งแจ้ง ขณะเกิดพายุฝนอาจทำให้เกิดอันตรายจากฟ้าผ่าพร้อมยกตัวอย่าง
– กรณีที่หญิงสาวรายหนึ่งถูกฟ้าผ่าขณะใช้มือถือในสวนสาธารณะกลางเมืองจนได้รับบาดเจ็บสาหัส
– กรณีที่สหรัฐอเมริกา พบกรณีของชายคนหนึ่งกำลังขับรถออกไปทำงานในขณะที่ฝนตกฟ้าคะนอง ก็ถูกฟ้าผ่าทะลุหลังคาลงมายังโทรศัพท์ที่เหน็บไว้ที่เข็มขัดจนผิวหนังไหม้บาดเจ็บสาหัส
– กรณีที่จีน มีรายงานว่ามีผู้ถูกฟ้าผ่าขณะใช้มือถืออยู่บนท้องถนนในช่วงที่ฝนตกฟ้าคะนอง
– กรณีที่รัสเซีย มีรายงานว่า ผู้หญิงคนหนึ่งถูกฟ้าผ่าเสียชีวิตขณะใช้มือถือในที่โล่งแจ้ง มือถือเครื่องนั้นถูกฟ้าฝ่าจนละลายคามือ
– กรณีดังกล่าวทำให้รัสเซียมีการออกประกาศเตือนให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้โทรศัพท์ในช่วงฝนตกฟ้าร้อง
จากกรณีตัวอย่างข้างต้น ขณะที่เกิดฝนตกฟ้าร้อง จึงควรงดใช้โทรศัพท์มือถือ หรือปลอดภัยทีสุดก็ปิดเครื่องโทรศัพท์ไปเลย เพราะแม้ว่าจะไม่ได้โทรออก แต่คลื่นสัญญาณก็ยังคงทำงานอยู่ที่เครื่องปกติ และอาจเสี่ยงกับการมีสายโทรเข้ามาในขณะนั้นพอดี ซึ่งจะทำให้การส่งสัญญาณมายังเครื่องโทรศัพท์มีความแรงยิ่งขึ้นไปอีก และอาจเป็นตัวล่อฟ้าได้อย่างดี ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของตนเองและคนใกล้เคียง
เรียบเรียงจาก
1. http://hilight.kapook.com/view/23354
2. http://www.rose.co.th/forum/index.php?topic=2842.0;wap2
3. http://ben14.com/FAMILY/PRASONG_RUEN/2554/MOBILE/mobile.html
ภาพประกอบจาก : http://www.bangkok-today.com/sites/default/files/styles/32l/public/field/image/article/2014/05//9221400818487.jpg