ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูกาลทำนา รูปแบบการทำนาในชนบทก็เปลี่ยนไปจากอดีตมาก จากที่เคยใช้ควายไถนา ก็เปลี่ยนมาใช้รถไถนาแบบสมัยใหม่ จากนาดำที่ต้องถอนกล้าดำนา ก็เปลี่ยนมาเป็นนาหว่าน หว่านเสร็จก็รอข้าวโตใส่ปุ๋ยแล้วรอเกี่ยวกันเลยทีเดียว ANANTASOOK ก็ลูกชาวนาจากสังคมชนบทภาคอีสาน คลุกคลีกับการทำนามาตั้งแต่เป็นเด็ก จนทุกวันนี้ ก็ยังคงทำนา จึงอยากจะกล่าวถึง ยุคของรถไถนา เอาไว้ให้คนรุ่นหลัง ได้เป็นความรู้ จะว่าไปแล้ว ยุคของรถไถนา แบ่งออกเป็น 3 ยุค ได้แก่
ยุคที่ 1 ยุคของการใช้ควายไถนา เป็นรูปแบบของการทำนาแบบดั้งเดิมมากๆ ตั้งแต่ผู้เขียนจำความได้ จนถึงอายุ 15 ปี (พ.ศ. 2538) ที่บ้านของผู้เขียน โดยคุณพ่อและคุณแม่ จะไถนาด้วยวิธีนี้
ข้อดีของการใช้ควายไถนา ได้แก่
1. ไม่เปลืองน้ำมัน
2. ควายถ่ายออกมาเป็นปุ๋ย ซึ่งเหมือนได้ปุ๋ยไปในตัว
3. ควายมีน้ำหนักน้อยกว่าเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ เท้าของควายมีขนาดเล็ก เหยียบดินแล้วไม่ทำให้ดินแน่น
ข้อเสียของการใช้ควายไถนา ได้แก่
1. สงสารควาย ควายมีชีวิต ควายเหนื่อย คนก็เหนื่อย
2. ใช้เวลานานกว่าจะไถเสร็จ
ยุคที่ 2 ยุคของการใช้รถไถนาเดินตาม ราวปี พ.ศ. 2535 ที่หมู่บ้านของผู้เขียน เริ่มมีการใช้รถไถนาเดินตาม และคนที่ใช้รถไถนาเดินตาม ก็มักจะมีรายได้จากการรับจ้างไถนาให้กับที่นาของคนอื่นๆ ด้วย หลังปี พ.ศ. 2538 ที่บ้านของผู้เขียนจะใช้ควายไถนาครั้งแรก ที่เรียกว่า “ฮุดนา” และเมื่อถึงเวลาดำนาจริง ก็ใช้บริการรถไถนาเดินตาม
ข้อดีของการใช้รถไถนาเดินตาม ได้แก่
1. สามารถไถนาเสร็จเร็วขึ้นกว่าใช้ควาย
2. ล้อของรถไถนาเดินตามอาจไม่เล็กเท่าเท้าควาย แต่เป็นซี่เหล็กสามารถตะกุยดินไปในตัว
3. เครื่องยนต์ของรถไถนาเดินตาม สามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น วิดน้ำเข้านา ปั่นไฟ เป็นต้น
ข้อเสียของการใช้รถไถนาเดินตาม ได้แก่
1. เปลืองน้ำมัน
2. ยากต่อการบังคับ ผู้ใช้ต้องมีทักษะในการไถ
3. เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย จากการเหวี่ยงของรถและเครื่องยนต์
4. ในการไถนา ยังต้องเดินตามรถ ซึ่งเหนื่อยกว่าการใช้รถแทรกเตอร์ไถนา
ยุคที่ 3 ยุคของการใช้รถไถนานั่งขับ (รถแทรกเตอร์ไถนา) ราวปี พ.ศ. 2547 ปีที่ผู้เขียนเรียนจบและทำงาน ประกอบกับคุณพ่อและคุณแม่ก็อายุมากขึ้น รวมถึงวิธีการทำนาของชาวนาเปลี่ยนแปลงไป ที่นิยมทำนาหว่านแทนนาดำ (ทุกวันนี้ แทบจะหานาดำ ไม่ได้แล้ว) การไถนาเพื่อหว่านข้าวทำนาที่บ้านก็เปลี่ยนไปใช้บริการ รถแทรกเตอร์ไถนา
ข้อดีของการใช้รถแทรกเตอร์ไถนา ได้แก่
1. การไถนาเสร็จเร็วมาก
2. สามารถทุ่นแรงของเกษตรกรได้มาก
3. การบังคับรถง่ายกว่ารถไถนาเดินตาม
ข้อเสียของการใช้รถแทรกเตอร์ไถนา ได้แก่
1. ล้อและน้ำหนักของรถแทรกเตอร์ไถนา มีขนาดใหญ่มากสามารถกดทับให้พื้นดินแน่นตัว
2. มีราคาแพง (แต่หากมีรถแทรกเตอร์ไถนา จะสามารถมีรายได้จำนวนมากจากการรับจ้างไถนา เพราะความต้องการไถนาด้วยรถแทรกเตอร์ ค่อนข้างสูง)
3. ผู้ใช้ต้องมีทักษะในการไถนา
ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการซื้อรถไถนาสมัยใหม่ ทั้งแบบ รถไถนาเดินตาม หรือแบบรถไถนานั่งขับ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์จำหน่ายรถไถคูโบต้า หรือศูนย์จำหน่ายรถแทรกเตอร์ไถนาของบริษัทต่างๆ ในตัวอำเภอ ซึ่งน่าจะมีให้บริการทุกอำเภอครับ
เรียบเรียงจากประสบการณ์ตรงและข้อมูลประกอบจาก : http://thairice-farm.blogspot.co.nz/2011/03/blog-post_140.html
ภาพประกอบจาก :
1. http://static.mascus.com/image/product/large/704a5d7a/ทะเลทอง-รถไถนาเดินตาม-รุ่น 124,eeef4043.jpg
2. http://www.bloggang.com/data/jae-hom47/picture/1279532054.jpg