วิวาทะเกี่ยวกับ การใส่ชุดนักศึกษา ของแต่ละมหาวิทยาลัย มีให้เห็นทุกยุคทุกสมัย รวมถึงบางครั้งมีการตั้งคำถามในหมู่นักเรียนไทยด้วยว่า ทำไมต้องบังคับใส่ชุดนักเรียน กลุ่มไม่เห็นด้วย กับการบังคับเครื่องแบบนักเรียนนักศึกษา มักจะอ้างเรื่อง สิทธิเสรีภาพในการแต่งกาย หรือปัจจัยอื่นๆ ก็สุดจะกล่าว Mr.ANANTASOOK เชื่อว่า ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัยและสภาวการณ์ทางสังคม แต่ขอตั้งข้อสังเกตเอาไว้ง่ายๆ ว่า “อย่าพูดเอามันส์ อย่างเดียวน่ะ เธอจะไม่ให้แต่งชุดนักเรียนนักศึกษาโดยอ้างเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไปถามบริษัทผลิตเครื่องแบบนักเรียนนักศึกษาหรือยัง รู้ไหมเขาจ่ายภาษีให้รัฐเท่าไหร่ และถ้าไม่มีการใส่ชุดนักเรียนนักศึกษาแล้ว อุตสาหกรรมที่ทำกำไรมาอย่างต่อเนื่อง และเสียภาษีให้รัฐมาทุกปีนั้น เธอจะรับผิดชอบต่อการสูญเสียรายได้ของเขาอย่างไร…และถ้าเธอเป็นเจ้าของบริษัทผลิตเครื่องแบบเหล่านั้น เธอจะยอมหรือไม่ และทราบหรือไม่ว่าทำไม ถึงมีการรณรงค์ให้มีการตัดชุดพื้นเมืองใส่ประจำวันใดวันหนึ่ง นอกจากเพื่อเหตุผลทางวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชนทางวัฒนธรรมแล้ว เขาก็ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการใช้ผ้าลายพื้นเมืองชนิดนั้นๆ นั่นเอง” คือที่พูดนี้ตั้งใจจะบอกว่า บางทีเราอาจจะมองบางเรื่องในมิติเดียว (อ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพ) แต่ในความเป็นจริงมันมีความสัมพันธ์ประเด็นอื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึงด้วย (อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง) รวมไปถึงที่มาของการใช้เครื่องแบบนั้นๆ ดังเช่น Mr. ANANTASOOK เคยเห็นข้อความที่มีการแชร์กันใน facebook (แต่ไม่มีการระบุผู้จัดทำและอ้างอิงที่มา) ว่า “สาเหตุที่นักเรียนไทยต้องใส่ชุดนักเรียน นอกจากความเป็นระเบียบแล้ว รัชกาลที่ 5 ยังพระราชทานบรมราโชวาทไว้ว่า จะไม่ได้มีการแบ่งแยกฐานะ ระหว่างคนรวย คนจน” แล้วชุดนักเรียนไทยอยู่ตรงไหน ? การบังคับใช้เครื่องแต่งกายในต่างประเทศเป็นอย่างไร ไปค้นเจอข้อมูลจากเว็บไซต์ ประเทศไทยอยู่ตรงไหน จึงขอนำมาเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้ตัดทอนแก้ไข ดังนี้
จากภาพ หากเราแบ่งประเภทการบังคับใช้เครื่องแบบออกเป็น[1]:
สีเขียว = เครื่องแบบนักเรียนไม่เป็นที่นิยมหรือบังคับใช้ในโรงเรียนรัฐ
สีเหลือง = มีการบังคับใช้เครื่องแบบในโรงเรียนรัฐหรือโรงเรียนทั่วไปในระดับการศึกษาพื้นฐาน (เช่น ประถม – มัธยมศึกษา)
สีแดง = มีการบังคับใช้เครื่องแบบจนถึงระดับมหาวิทยาลัย
เราพบว่า ประเทศไทยเป็นเพียงหนึ่งในสี่ประเทศในโลกที่มีการบังคับใช้เครื่องแบบนักศึกษา (ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม) นอกจากนี้หลายประเทศที่มีการบังคับใช้เครื่องแบบนักเรียนเป็นเพราะผลพลอยได้ของการเคยเป็นประเทศอาณานิคม (เช่น อินเดีย ฮ่องกง ประเทศแถบอาฟริกา ประเทศแถบแคริบเบียน)
ทั้งนี้ เหตุผลในการบังคับใช้เครื่องแบบนักเรียนอาจมีหลายประการ เช่น เป็นตัวบ่งชี้ว่าเป็นนักเรียนระดับชั้นใด มาจากโรงเรียนใด สร้างความเป็นเอกภาพในนักเรียนโรงเรียนเดียวกันโดยการลดหลั่นความเหลื่อมล้ำทางสังคมซึ่งอาจจะเกิดจากการเครื่องแต่งกาย ลดความฟุ่มเฟือยและสิ่งเร้าในทางแฟชั่นซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อสมาธิในการเรียน สั่งสมวินัยซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในสังคมในอนาคต และนอกจากนี้การบังคับใช้เครื่องแบบอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมที่ทำสืบเนื่องกันมา
ในบางประเทศนั้น เครื่องแบบอาจเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการศึกษาเบื้องต้น เช่น ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งสังคมผู้ใหญ่นั้นเต็มไปด้วยความเคร่งเครียดทั้งทางวินัยและกฏระเบียบของสังคม การสั่งสมเยาวชนให้พร้อมต่อการเป็นส่วนหนึ่งของวินัยในสังคมนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่จำเป็น ในบางประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมมาก เช่น อินเดีย เครื่องแบบอาจจะเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการลดความแตกต่างระหว่างชนชั้นในโรงเรียน ในขณะที่บางประเทศการบ่งบอกถึงสถานภาพการเป็นนักเรียนอาจจะเป็นสิ่งจำเป็นต่อความปลอดภัยในตัวนักเรียนเอง
ในทางกลับกัน กลับมีอีกหลายประเทศที่ไม่มีการบังคับใช้เครื่องแบบนักเรียน ประเทศฝรั่งเศสไม่มีการใช้เครื่องแบบในโรงเรียนเนื่องจากความเชื่อในอิสรเสรีภาพของปวงชนเหนือสิ่งอื่นใด ประเทศอิตาลีและเยอรมนียังคงมองเรื่องของเครื่องแบบเป็นเรื่องที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ทางการทหารที่โหดร้ายของประเทศ และนอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่เคยมีการบังคับใช้เครื่องแบบ แต่ยกเลิกการใช้เครื่องแบบไปในภายหลัง
อาจกล่าวได้ว่า ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของการเลือกใช้เครื่องแบบนักเรียนหรือไม่เป็นเรื่องของการเรียงลำดับความสำคัญระหว่างความเป็นปัจเจกบุคคลกับความเป็นเอกภาพในโรงเรียน อย่างไรก็ตาม เป็นที่เห็นได้ชัดว่าประเทศส่วนมากในโลกไม่มีการบังคับใช้เครื่องแบบในระดับอุดมศึกษา แม้กระทั่งในประเทศญี่ปุ่นเองที่การใช้เครื่องแบบแทบจะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในทุกระดับของสังคม อาจเป็นเพราะสังคมเหล่านี้ให้ความสำคัญต่อความเป็นเอกเทศและอิสระเสรีภาพมากกว่าวินัยและความเป็นเอกภาพในระดับอุดมศึกษาก็เป็นได้
เครื่องแบบนักเรียนไม่เป็นที่นิยมหรือบังคับใช้ในโรงเรียนรัฐ | มีการบังคับใช้เครื่องแบบในระดับประถม-มัธยม | มีการบังคับใช้เครื่องแบบจนถึงระดับมหาวิทยาลัย |
---|---|---|
Canada Denmark France Germany Italy Russia Spain United States |
Argentina Australia Brazil Burma Burundi Chile China Cuba Dominican Republic Ghana Hong Kong India Indonesia Israel Jamaica Japan Lesotho Malaysia Mauritius New Zealand Nigeria Pakistan Philippines Singapore South Africa South Korea Sri Lanka Taiwan Tonga Turkey United Arab Emirates United Kingdom Venezuela |
Cambodia Laos Thailand Vietnam |
อ้างอิง: [1] Wikipedia: School Uniform
ที่มา: ชุดนักเรียนไทยอยู่ตรงไหน