Anantasook.Com

[ข้อมูล] 18 สิงหาคม วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ วันรำลึกพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย และสัปดาห์วิทยาศาสตร์

วันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปีเป็นวันวิทยาศาสตร์ หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้จัดกิจกรรมส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่หน่วยงานหลักคือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เรื่อยมาจนถึงที่ใกล้ตัวครูที่สุด คือ ภายในโรงเรียน

พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถปรับปรุงสยามประเทศให้เจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ ทรงรับเอาศิลปวิทยาการและความคิดสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการปกครองประเทศ ด้วยเหตุนี้องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จึงมีมติเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2546 ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณของพระองค์ให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้วยพระราชกรณียกิจและพระเกียรติคุณนานัปการ โดยเฉพาะด้านดาราศาสตร์

เนื่องด้วยพระองค์ทรงสนพระทัยวิชาคณิตศาสตร์และวิชาดาราศาสตร์ในตำราโหราศาสตร์ของไทย ในที่สุดทรงค้นคิดวิธีการคำนวณปักข์ (ครึ่งเดือนทางจันทรคติ) โดยอาศัยหลักตำราสารัมภ์ของมอญ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดวันธรรมสวนะ (วันพระ) ให้ถูกต้องตามการโคจรของดวงจันทร์ที่เรียกว่า ปฏิทินปักขคณนา ยิ่งกว่านั้น พระองค์ได้ทรงคิดสูตรสำเร็จในการคำนวณปักข์ออกมาในรูปกระดานไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเครื่องหมายเรียงเป็นแถว 10 แถว แต่ละแถวมีจำนวนต่างกัน และมีเครื่องหมายแทนดวงดาว 5 ดวง เดินเคลื่อนไหวเหนือแถวเหล่านั้นคล้ายกับเดินตัวหมากรุก ก็จะได้วันพระที่ถูกต้องโดยไม่ต้องเสียเวลาคำนวณ เรียกว่า กระดานปักขคณนา ปัจจุบันนี้คณะธรรมยุตยังคงใช้กันอยู่ ซึ่งน่าจะเป็นเหตุจุดประกายให้พระองค์ทรงสนพระทัยในวิชาดาราศาสตร์อย่างจริงจัง

พระองค์ทรงสถาปนาระบบเวลามาตรฐานขึ้นในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2395 โดยสร้างพระที่นั่งภูวดลทัศไนยขึ้นในพระบรมราชวัง ใช้เป็นหอนาฬิกาหลวงบอกเวลามาตรฐานของประเทศไทยสมัยนั้น โดยมีพนักงานตำแหน่งพันทิวาทิตย์ เทียบเวลาตอนกลางวันจากดวงอาทิตย์ และพันพินิตจันทรา เทียบเวลาตอนกลางคืนจากดวงจันทร์

นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ทรงคำนวณเหตุการณ์ล่วงหน้าถึง 2 ปีว่า วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 จะเกิดเหตุการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในประเทศไทย ที่จะเห็นชัดเจนที่สุดที่ หมู่บ้านหัววาฬ  ต.หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ พระองค์จึงเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรและก็เป็นไปตามที่ทรงพยากรณ์ ไม่คลาดเคลื่อนแม้แต่วินาทีเดียว ทางสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย จึงคิดกันว่า น่าจะถือว่าวันนี้เป็นวันวิทยาศาสตร์ของไทย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติในการประชุม เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2525 เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคมของทุกปีเป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ”

ดังนั้น ในวันที่ 18 สิงหาคมของทุกปี จึงมีการจัดงานวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติขึ้นทั่วประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 เป็นต้นมา โดยมีกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน เป็นหน่วยงานหลักในการจัดร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งภาครัฐ และเอกชน ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 งานวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติได้รับการขยายให้เป็นงาน “สัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ” งานนี้มีการจัดกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากมาย เช่น นิทรรศการ ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ รวมทั้งการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ และสื่อการสอนวิทยาศาสตร์ และการมอบรางวัลให้แก่ครูและผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นในสาขาวิชาต่างๆ อีกด้วย

วัตถุประสงค์การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ มีดังนี้
     1. เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและพระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”
     2. เพื่อเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ
     3. เพื่อสนับสนุนให้กำลังใจและโอกาสแก่นักวิจัย นักประดิษฐ์ ได้แสดงผลงานต่อสาธารณชน
     4. เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่าภาครัฐและเอกชนในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
     5. เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศทางวิทยาศาสตร์ อันเป็นวิถีทางหนึ่งของการแก้ปัญหาการขาดแคลนกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

กิจกรรมวันวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนหรือหน่วยงานทางการศึกษาระดับจังหวัดได้จัดขึ้นโดยทั่วไปได้แก่ การจัดแสดงผลงานและนิทรรศการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การแข่งขันตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ แข่งขันทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และสิ่งประดิษฐ์ รีไซเคิล ประกวดพูด วาดภาพ แข่งขันจรวดขวดน้ำอัดลม โดยมีการจัดกิจกรรมแบบบูรณาการกับกลุ่มสาระอื่นๆ เช่นมีกิจกรรมแข่งขันทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์ ประกวดวงดนตรีลูกทุ่งและสตริง แข่งขันความเป็นเลิศทางวิชาการ ในทุกช่วงชั้น แล้วเปิดโอกาสให้นักเรียนจากโรงเรียนต่างๆได้ส่งตัวแทนเข้าประกวดแข่งขัน ซึ่งงานนี้เป็นเวทีของการประลองความสามารถทางวิชาการของนักเรียนทั้งจังหวัด

นอกจากการประกวดแข่งขันสำหรับนักเรียนแล้ว บางแห่งเช่น สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งจังหวัดสุรินทร์ ยังได้จัดการประกวดแข่งขันสำหรับครูวิทยาศาสตร์ด้วย อย่างในปีนี้มีการประกวดสื่อการสอนวิทยาศาสตร์ การประกวดกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ดีเด่น และการคัดเลือกครูที่มีผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดีเด่นเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ ครูและผลงานของครู

นอกจากโรงเรียนต่างๆ จะส่งนักเรียนเข้าประกวดแข่งขันแล้ว ในงานยังมีการจัดซุ้มวิชาการ จัดกิจกรรมของกลุ่มโรงเรียนต่างๆ ด้วย ซึ่งครูยังสามารถนำนักเรียนมาศึกษาดูงานเพื่อเปิดโลกทัศน์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ แล้วอาจต่อด้วยการศึกษาแหล่งเรียนรู้อื่นในจังหวัดของตนเองได้ด้วย

ในภาคเรียนที่ 1 ของแต่ละปีการศึกษา ครูวิทยาศาสตร์ต้องวางแผนจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนของตนเองให้ดีให้ได้ เพราะเป็นโอกาสหนึ่งในรอบปีที่เราจะได้สร้างบรรยากาศทางวิทยาศาสตร์ ให้เด็กนักเรียนของเราได้สัมผัส อาจจะอยู่ในหรือนอกโรงเรียนก็ได้ ถ้าสามารถจัดในโรงเรียนได้ก็จะเกิดประโยชน์กับนักเรียนทั้งโรงเรียนและถ้าจะให้ดีจัดร่วมกับกลุ่มสาระอื่นๆ เป็นมหกรรมวิชาการ แล้วเชิญนักเรียนระดับประถมศึกษา จากโรงเรียนข้างเคียงมาร่วมกิจกรรมได้จะดีมาก นี่เป็นโอกาสในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ของเรา อย่าพลาดโอกาสดีอย่างนี้นะครับ

ขอขอบคุณภาพประกอบ [แสตมป์ชุดวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ปี 2528] จาก : http://upload.tarad.com/images2/38/a7/38a739c5d7ad5f0098189edeee2901ce.jpg

Exit mobile version