การศึกษาไทย ก้าวไกลสู่อาเซียน การเตรียมพร้อมด้านการศึกษาของไทย เพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

ประชาคมอาเซียน การก่อตั้งขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์ “หนึ่งวิสัยทัศน์  หนึ่งอัตตลักษณ์ หนึ่งประชาคม” โดยยึดหลักสำคัญ 3 ประการ คือ (1) ประชาคมการเมืองและความมั่นคงของอาเซียน   (2) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (3) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมของอาเซียน โดยในด้านการศึกษานั้นจัดอยู่ในประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญที่จะส่งเสริมให้ประชาคมด้านอื่นๆ มีความเข้มแข็ง   เนื่องจากการศึกษาเป็นรากฐานของการพัฒนาในทุกๆ ด้าน

asean-thai-educationการเตรียมความพร้อมของการศึกษาไทย เพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน มีจุดมุ่งหมาย ดังนี้
1. การสร้างประชาคมอาเซียนด้วยการศึกษา ให้ประเทศไทยเป็น Education Hub มีการเตรียมความพร้อมในด้านกรอบความคิด คือ แผนการศึกษาแห่งชาติ ที่จะมุ่งสร้างความตระหนักรู้ของคนไทยในการจัดการศึกษาเพื่อสร้างคนไทยให้ เป็นคนของประชาคมอาเซียน พัฒนาสมรรถนะให้พร้อมจะอยู่ร่วมกันและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้าน การศึกษา โดยให้มีการร่วมมือกันใน 3 ด้านคือ ด้านพัฒนาคุณภาพการศึกษา การขยายโอกาสทางการศึกษา และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริการและจัดการศึกษา

2. ขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนด้วยการศึกษา ด้วยการสร้างความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอาเซียน ความแตกต่างทางด้านชาติพันธุ์ หลักสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศเพื่อพัฒนาการติดต่อสื่อสารระหว่างกันในประชาคมอาเซียน มีการเพิ่มครูที่จบการศึกษาด้านภาษาอังกฤษเข้าไปในทุกระดับชั้นการศึกษา เพื่อให้นักเรียนไทยสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกับภาคเอกชนในการรับอาสาสมัครเข้ามาสอนภาษาต่างประเทศ รวมถึงวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ เพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจกันของประเทศในประชาคม

สำหรับด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา จะพัฒนาตามหลัก 3N ได้แก่ NedNet (National Education Network)โครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ NEIS (National Education Information System) ศูนย์กลางรวบรวม จัดเก็บ และเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษา  NLC (National Learning Center) ศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ เพื่อให้ผู้เรียนได้มีการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดเวลา มีการพัฒนาผู้เรียนสู่การเป็นพลเมืองอาเซียน การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ความเอื้ออาทร โดยใช้การศึกษาเป็นกลไกในการสร้างวัฒนธรรมใหม่ นักศึกษาที่จบจากอาชีวศึกษาจะต้องเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ มีทักษะการทำงานร่วมกันในประชาคมอาเซียน

นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านอาเซียนศึกษา เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านศาสนาและวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาไปสู่ประชาคมอาเซียนและสากลต่อไป

กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดกรอบและแนวทางในการปฏิบัติด้านการศึกษาของไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนใน ปี 2558  โดยกำหนดกรอบอาเซียนแนวทางการศึกษาไทย ดังนี้

1. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.)    ดำเนินงานภายใต้กรอบรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน กรอบประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา เสริมสร้างความตระหนักเกี่ยวกับอาเซียน และการจัดตั้งสถาบันนานาชาติเพื่อพัฒนาผู้บริหารการศึกษา

2. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีโครงการ Education Hub School และอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ Spirit of ASEAN (Sister/Partner  School และ Buffer School) สำหรับกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปแล้วในปี 2554 คือการพัฒนาหลักสูตรและสื่อเกี่ยวกับอาเซียน รวมทั้งกิจกรรมค่ายเยาวชนเพื่อการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียน

3. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษามาเลเซีย-อินโดนีเซีย-ไทย การประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้บริหารระดับสูงด้านการอุดมศึกษา และการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษาอาเซียน

4. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)  โครงการเวทีแลกเปลี่ยนความรู้เกษตรนานาชาติ จัดการเรียนการสอนบริการสังคมร่วมกับนักศึกษาสิงคโปร์ โครงการแลกเปลี่ยนกับ Institute Of Technical Education Collage East, Singapore  โครงการพัฒนาโรงเรียนเทคนิคลาว แลกเปลี่ยนนักศึกษาทวิภาคี ระดับ ปวส.กับบรูไนฯ  โรงเรียนพระราชทานฯ วิทยาลัยกำปงเฌอเตียลกัมพูชา ร่วมมือกับ SEAMEO SEAMOLEC ประเทศอินโดนีเซีย จัดการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้

5. สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดโครงการสัมมนาการวิจัยการศึกษาไทย-มาเลเซีย บรรยายทางวิชาการเรื่องความตะหนักเรื่องการก้าวสู่อาเซียน บรรยายเรื่องการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนและคนด้อยโอกาสให้กับผู้แทนมาเลเซีย โครงการพัฒนานโยบายการศึกษาสู่อาเซียน : กรณีศึกษาไทย-ลาว-เวียดนาม โครงการความร่วมมือไทย-ลาว โครงการความร่วมมือไทย-เวียดนาม

6. สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) จัดศูนย์การเรียนรู้ชุมชนให้ประเทศเพื่อนบ้าน อบรมเทคนิคการจัดนิทรรศการ การนำเสนอข้อมูล ส่งเสริมความรู้เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพชุมชนในศูนย์วิทยาศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้าน

7. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)  เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องอาเซียนแก่บุคลากร ใน สช.และโรงเรียนเอกชน สนับสนุนโรงเรียนเข้าแข่งขันกีฬาประถมศึกษาอาเซียนครั้งที่ 3 ที่ประเทศอินโดนีเซีย โครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนมัธยมศึกษาปี 2552 กับสิงคโปร์ ร่วมสัมมนาวิชาการและนิทรรศการการศึกษาไทยที่ประเทศเวียดนาม

8. สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา   คุรุสภาได้เข้าร่วมเป็นภาคีองค์กรสมาชิกสภาครูอาเซียน โดยร่วมกับองค์กรครูในกลุ่มประเทศอาเซียน 5ประเทศได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ก่อตั้งขึ้นในปี 2521 ปัจจุบันมีภาคีสมาชิก 23 องค์กรจาก 9 ประเทศ

9. เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN-ASEAN University Network)   ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนนักศึกษาภายในอาเซียน มีการพัฒนาหลักสูตร และ การประเมินหลักสูตรในสาขาวิชาต่างๆ  เช่น เคมี คอมพิวเตอร์ วิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ

แนวทางการดำเนินงานตามปฏิญญาอาเซียนด้านการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้กำหนดเป็นนโยบายด้านการศึกษาอาเซียน ดังนี้
1. การเผยแพร่ความรู้ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาเซียน เพื่อสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมของครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา และประชาชน เพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ภายในปี 2558

2. การพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน  ให้มีทักษะที่เหมาะสมเพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน เช่น ความรู้ภาษาอังกฤษ ภาษาเพื่อนบ้าน เทคโนโลยีสารสนเทศ ทักษะและความชำนาญที่สอดคล้องกับการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม และการเพิ่มโอกาสในการหางานทำของประชาชน

3.  การพัฒนามาตรฐานการศึกษาเพื่อส่งเสริมการหมุนเวียนของนักศึกษาและครูอาจารย์ ในอาเซียน รวมทั้งให้มีการยอมรับในคุณสมบัติทางวิชาการร่วมกันในอาเซียน การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาต่างๆ และการแลกเปลี่ยนเยาวชน การพัฒนาระบบการศึกษาทางไกล ซึ่งช่วยสนับสนุนการศึกษาตลอดชีวิต การส่งเสริมและปรับปรุงการศึกษาด้านอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมทางอาชีพทั้งในขั้นต้นและขั้นต่อเนื่อง ตลอดจนส่งเสริมและเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียน

4. การเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดเสรีทางการศึกษาในอาเซียน  เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประกอบด้วย การจัดทำความตกลงยอมรับด้านการศึกษา การพัฒนาความสามารถ ประสบการณ์ในสาขาวิชาชีพสำคัญต่างๆ เพื่อรองรับการเปิดเสรีการศึกษาควบคู่กับการเปิดเสรีด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน

5.  การพัฒนาเยาวชนเพื่อเป็นทรัพยากรสำคัญในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน   รมว.ศธ. ได้มอบหมายให้องค์กรหลักเตรียมจัดทำแผนการดำเนินงานและแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการรองรับในเรื่องดังกล่าว โดยให้พิจารณาถึงระบบการศึกษาในอาเซียน และนโยบายของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างแท้จริงในอาเซียนต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก :
1. http://www.chinnaworn.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539155790&Ntype=1
2. http://blog.eduzones.com/racchachoengsao/88655
ภาพประกอบจาก : http://upic.me/i/lx/i3522.jpg

 



Leave a Comment