[ข้อมูล] 18 มกราคม วันกองทัพไทย วันรำลึกพระนเรศวรมหาราช กระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา

thai-army-dayวันกองทัพไทย ตรงกับวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกในวาระที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาของพม่า ตามการคำนวณจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่ระบุว่า พระองค์กระทำยุทธหัตถี ในวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง จ.ศ. 954 คำนวณได้ ตรงกับวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2135 (บางตำราว่า ปี พ.ศ. 2136) เดิมนั้นกระทรวงกลาโหมได้กำหนดให้วันที่ 8 เมษายนของทุกปีเป็นวันกองทัพไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 ได้เปลี่ยนโดยให้ถือเอาวันที่ 25 มกราคม เป็นวันกองทัพไทย ตามมติของคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้น ภายหลังได้มีนักประวัติศาสตร์หลายท่านได้ตรวจสอบ และพบว่าวันที่ทรงกระทำยุทธหัตถีนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้ตรงกับวันที่ 25 มกราคม แต่น่าจะตรงกับวันที่ 18 มกราคม ปีดังกล่าว ทางราชการยังคงถือเอาวันที่ 25 มกราคม เป็นวันกองทัพไทยต่อไป จนกระทั่งวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2549 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ ให้เปลี่ยนแปลงกำหนดวันกองทัพไทยจากวันที่ 25 มกราคม ของทุกปีเป็นวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี และอนุมัติให้เป็นวันหยุดราชการของกระทรวงกลาโหม

ความสำคัญ วันกองทัพไทย
กองทัพไทย 3 เหล่า อันได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการป้องกันประเทศชาติจากการรุกรานของบรรดาเหล่าราชศัตรูในยามสงคราม และในยามสบงกำลังพลของกองทัพทั้ง 3 เหล่า ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ ดังนั้นจึงได้กำหนดให้มีการจัดงานวันกองทัพไทยในวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี

สงครามยุทธหัตถี
เมื่อครั้งที่ พระเจ้านันทบุเรงนอง ขึ้นเป็นกษัตริย์ของพม่าสืบต่อจาก พระเจ้าบุเรงนอง หัวเมืองประเทศราชหลายแห่ง ได้เกิดการแข็งเมือง โดยเฉพาะเมืองอังวะ พระเจ้านันทบุเรงได้ยกทัพหลวงไปปราบ ขณะเดียวกันได้มีใบบอกมายังกรุงศรีอยุธยา ให้นำทัพขึ้นไปสมทบ สมเด็จพระมหาธรรมราชา ได้โปรดให้ พระนเรศวร อันเป็นพระราชโอรสเสด็จขึ้นไป แต่เมื่อเสด็จถึงเมืองแครง ทรงทราบถึงแผนการของพม่าที่คิดประทุษร้ายต่อพระองค์ จากบุคคลสำคัญทางมอญหลายคนที่สนิทสนมคุ้นเคยได้ลอบทูลก่อนที่พระองค์จะเสด็จถึงเมืองหงสาวดี

ด้วยเหตุนี้ พระนเรศวรจึงทรงถือโอกาสประกาศอิสรภาพ ณ เมืองแครง ในปีพ.ศ. 2127 แยกราชอาณาจักรศรีอยุธยาออกเป็นอิสรภาพจากพม่า แล้วจึงกวาดต้อนผู้คนที่พม่ากวาดต้อนเอาไปเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ให้อพยพกลับมาตุภูมิ จำนวนราว 10,000 เศษ ข้ามแม่น้ำสะโตง ขณะเดียวกัน ฝ่ายพระมหาอุปราชาผู้รั้งเมืองหงสาวดี ทราบข่าวการกวาดต้อนครัวไทยมอญกลับอโยธยา จึงให้สุรกรรมา ยกเป็นกองหน้า และเกิดการต่อสู้กันที่ แม่น้ำสะโตง คราวนั้น พระนเรศวรทรงยิงพระแสงปืนกระบอกหนึ่งยาว 9 คืบ ถูกสุรกรรมานายทัพหน้าของข้าศึกตายอยู่กับคอช้าง ฝ่ายรี้พลข้างพม่า เมื่อแม่ทัพตาย ก็เลิกทัพกลับไป (ตามธรรมเนียมการศึกโบราณ) ทั้งนี้ พระแสงปืนซึ่งพระนเรศวรยิงถูกสุรกรรมา ในครั้งนั้น ได้มีนามปรากฎว่า “พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง” 

ครั้นถึงเดือนพฤศจิกายน วันอาทิตย์ ขึ้น 9 ค่ำ พ.ศ. 2129 พระเจ้านันทบุเรง ได้เสร็จยาตราทัพออกจากกรุงหงสาวดี เพื่อยกมาตีกรุงศรีอยุธยา โดยให้พระอุปราชาอยู่รักษาพระนคร พระนเรศวรทรงทราบว่าพม่ายกมาครั้งนี้เป็นทัพกษัตริย์ใหญ่หลวงนัก จึงตรัสให้รวบรวมเสบียงอาหารและไพร่พลฉกรรจ์จากหัวเมืองเข้าพระนคร แม้กองทัพใหญ่ฝ่ายพม่าจะยกเข้าโจมตีพระนครเป็นหลายครั้งก็หาสำเร็จไม่ จึงตั้งล้อมกรุงไว้เป็นเวลา 4 เดือน เห็นว่าไม่มีทางเอาชนะไทยได้ ทั้งเสบียงอาหารก็ขัดสน และไข้รุม จึงต้องยกทัพกลับ ในศึกครั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2130 พระนเรศวรออกรบอย่างกล้าหาญ และปลอมพระองค์จะเข้าค่ายพระหงสาวดี โดยเสด็จลงจากหลังม้าทรงคาบพระแสงดาบ นำทหารปีนระเนียด (ปีนค่าย) แต่ถูกข้าศึกแทงตกลงมาจึงเข้าไม่ได้ พระแสงดาบซึ่งทรงในวันนั้นจึงปรากฏนามว่า “พระแสงดาบคาบค่าย”

ศึกครั้งถัดมา พระเจ้านันทบุเรง ให้พระมหาอุปราชา นำทัพหลวงยกมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง  ครั้นถึงวันจันทร์ เดือนยี่ แรม 2 ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้เข้าตีกองทัพหน้าของพม่าที่ยกมาแตกหนีอลหม่าน ขณะนั้นเองช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรชื่อ เจ้าพระยาไชยานุภาพ กับช้างของสมเด็จพระเอกาทศรถชื่อ เจ้าพระยาปราบไตรจักร ซึ่งเป็นช้างตกมันทั้งคู่ ได้ไล่ตามพวกข้าศึกไปอย่างเมามันทำให้กองกำลังทหารไทยตามไม่ทัน สองวีรกษัตริย์ไทย เข้าไปอยู่กลางวงล้อมของเหล่าข้าศึก มีแต่จตุรงคบาทและพวกทหารรักษาพระองค์เท่านั้นที่ติดตามไปทัน เมื่อพระนเรศวรทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชา ทรงพระคชธารอยู่ในร่มไม้กับเหล่าท้าวพระยา จึงทราบว่าได้ถลำเข้ามาจนถึงกลางกองทัพของปัจจามิตรแล้ว แต่พระองค์ทรงมีสติมั่นไม่หวั่นไหวจึงไสช้างเข้าไปใกล้แล้วตรัสไปโดยฐานคุ้นเคยกันมาก่อนทั้งในวัยเยาว์และวัยเติบใหญ่ว่า “เจ้าพี่จะยืนช้างอยู่ในร่มไม้ทำไม ขอเชิญเสด็จมาทำยุทธหัตถีกันให้เป็นเกียรติยศเถิด กษัตริย์ภายหน้าที่จะชนช้างอย่างเราจะไม่มีอีกแล้ว” ด้วยความมีขัตติยมานะ พระมหาอุปราชาจึงไสช้าง พลายพัธกอ ออกมาชนกับเจ้าพระยาไชยานุภาพซึ่งกำลังตกมัน

เมื่อเห็นข้าศึกตรงออกมาท้าทายก็โถมแทงทันทีไม่ยับยั้ง เลยพลาดท่าทำให้พลายพัธกอได้ล่างแบกรุนเอาเจ้าพระยาไชยานุภาพเบนจะขวางตัว พระมหาอุปราชาได้ทีฟันด้วยพระแสงของ้าว สมเด็จพระนเรศวรเบี่ยงพระองค์หลบทันเลยถูกแต่พระมาลาหนังขาดวิ่นไป พอดีกับเจ้าพระยานุภาพสะบัดหลุดแล้วกลับได้ล่างแบกรุนพลายพัธกอหันเบนไปบ้าง สมเด็จพระนเรศวรจึงจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาที่อังสะขวา (ไหล่ขวา) ขาดสะพายลงมา ซบสิ้นพระชนม์อยู่กับคอช้าง

ส่วนสมด็จพระเอกาทศรถได้ชนช้างกับมังจาปาโรขาดสะพายแล่งตายคาคอช้างเช่นกัน เหล่าท้าวพระยาเมืองหงสาวดี เห็นเจ้านายเสียทีต่างก็กรูกันเข้ามาช่วย ใช้ปืนระดมยิงถูกสมเด็จพระนเรศวรที่พระหัตถ์ถึงบาดเจ็บ พอดีขณะนั้นกองทัพหลวงของไทยตามมาทัน จึงเข้ารบพุ่งแก้เอาจนจอมทัพไทยออกมาได้ ฝ่ายกรุงหงสาวดีก็เลิกทัพกลับไป พระแสงของ้าวที่สมเด็จพระนเรศวรทรงพระประหารพระมหาอุปราชาครั้งนั้น ได้นามต่อมาว่า “พระแสงแสนพลพ่าย” และพระมาลาที่ถูกฟันก็ปรากฏนามว่า “พระมาลาเบี่ยง”  ส่วนช้างศึกที่ชนะก็ได้รับพระราชทานชื่อว่า “เจ้าพระยาปราบหงสาวดี”

จากเหตุการณ์การทำสงครามยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถวีรกษัตริย์ไทยในครั้งนั้น ซึ่งตรงกับวันที่ 18 มกราคม พุทธศักราช 2135 จึงถือเอาวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี เป็นวันกองทัพไทย 

กิจกรรมวันกองทัพไทย
     1. ทำบุญตักบาตร เพื่ออุทิศเป็นส่วนพระราชกุศลและกุศลแก่บรรพบุรุษ

     2. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ
     3. จัดแสดงนิทรรศการ เกี่ยวกับความเป็นมาของความกล้าหาญแห่งวีรกษัตริย์ไทย และวันกองทัพไทย
     4. การสวนสนามและปฏิญานตนของทหารต่อหน้าธงชัยเฉลิมพล และการแสดงแสนยานุภาพของกองทัพ

หมายเหตุ : พงศาวดารพม่าระบุสาเหตุการสิ้นพระชนม์ของพระมหาอุปราชาไว้แตกต่างจากพงศาวดารของไทย
ในเอกสารพม่า เรื่อง มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า ได้เล่าถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ว่าขณะรบกันนั้นเกิดความโกลาหล “…เวลานั้นพลทหารของพระนเรศก็เอาปืนใหญ่ยิงระดมเข้ามา ลูกกระสุนก็ไปต้องมหาอุปราชา มหาอุปราชาก็สิ้นพระชนม์ที่คอช้างพระที่นั่งนั้น ในเวลานั้นตุลิงพะละ พันท้ายช้างเห็นว่าพระมหาอุปราชสิ้นพระชนม์ก็ค่อยพระมหาอุปราชพิงไว้กับอานช้างเพื่อมิให้พระเนรศรู้แล้วถอยออกไป ขณะนั้นพระนเรศก็ไม่รู้ว่ามหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ พระนเรศจึงไม่อาจจะตามรบ…”
อย่างไรก็ตามเอกสารฉบับอื่นของชาวต่างชาติ ของพม่า บางฉบับก็มีการระบุถึงการกระทำยุทธหัตถี แต่สาเหตุของการสิ้นพระชนม์นั้น บ้างก็ว่า เพราะกระทำยุทธหัตถี บางก็ว่าต้องพระแสงปืน บ้างก็ไม่แน่ใจว่า เพราะเหตุใดเหตุหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง

ความเห็นของผม : เหตุการณ์นี้ พระมหาอุปราชาและพระนเรศวร ทรงช้างในสนามรบ และเกิดการรบพุ่งกัน ในยามนั้น ทั้งสองฝ่ายน่าจะมีการใช้กระสุนปืนเป็นอาวุธในการทำศึก (โดยทหารของทั้งสองฝ่าย…และในยามที่ทหารไทยตามช้างทรงของพระนเรศวรไม่ทัน จำเป็นต้องระดมยิงปืนไปยังฝ่ายพม่า กระสุนอาจไปถูกพระมหาอุปราชาก็ได้ แต่นั่นหมายความว่า เป้าต้องเข้ามาอยู่ในระยะยิง คือ พระมหาอุปราชา อยู่หน้ากองทัพ ไม่ได้อยู่หลังกองทหาร นั่นอาจหมายถึง กำลังรบพุ่งกับพระนเรศวร … ขณะเดียวกันอาจมีการกระทำยุทธหัตถีจริง เมื่อฝ่ายพม่าพลาดท่าเสียที จนพระมหาอุปราชาถึงแก่ชีวิต ก็อาจทำให้ทหารพม่าผู้ภักดี สั่งระดมยิงปืน และทำให้ฝ่ายไทยระดมยิงปืนเช่นเดียวกันได้ เอกสารฝ่ายไทย ก็ระบุว่า พระนเรศวรถูกยิงที่นิ้วมือ และนายท้ายช้างถูกยิงเสียชีวิต) โดยส่วนตัวเชื่อว่า น่าจะมีการกระทำยุทธหัตถีจริง (เพราะสมัยนั้น การรบบนหลังช้างยังกระทำกันอยู่ แต่น่าจะเลิกกระทำกันหลังศึกครั้งนี้ เพราะ คนนั่งบนหลังช้าง ตกเป็นเป้าของกระสุนปืนได้ง่าย) และความจริงที่เกิดขึ้น คือ พระมหาอุปราชา สิ้นพระชนม์ในแผ่นดินของไทย จนต้องมีการถอนทัพกลับพม่า ส่วนสาเหตุการสิ้นพระชนม์ มีการระบุไม่ตรงกันนั้น ก็ขึ้นกับการเขียนประวัติศาสตร์ของแต่ละฝ่าย ซึ่งไม่จำเป็นต้องบันทึกไว้ตรงกัน (เหมือนพงศาวดารเกี่ยวกับสงครามสยามกับเวียงจันทน์ ก็ระบุไม่ตรงกันในหลายๆ เรื่อง ขึ้นกับว่า ใครเขียนประวัติศาสตร์ ใครถูกกระทำ และใครเป็นผู้ชนะ)

เรียบเรียงจาก :
1. http://th.wikipedia.org/wiki/วันกองทัพไทย
2. http://www.tlcthai.com/education/history-of-thailand/4413.html



Leave a Comment