การพัฒนาครูให้เป็น “ครู-นักประชาธิปไตย” ในที่นี้มิได้มุ่งให้ความหมายเฉพาะครูที่มีพฤติกรรมตามกรอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ให้ขอบข่ายถึงการเป็นผู้มีแนวคิด ทัศนคติและค่านิยมเป็นนักประชาธิปไตยด้วย
คำนิยามของ “ครู-นักประชาธิปไตย” หมายถึง ครูที่มีค่านิยม แนวคิดและพฤติกรรมการเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ เคารพในสิทธิส่วนบุคคล และมีส่วนร่วมและการตัดสินใจในนามกลุ่ม ใช้สิทธิของตนและกลุ่มตามระบอบประชาธิปไตยในทางที่ถูกต้อง เกิดประโยชน์สูงสุดในภาพรวม และมีความปรารถนาที่จะเป็นแบบอย่างในการถ่ายทอดแนวคิดประชาธิปไตยสู่ผู้เรียนและคนในสังคม
ลักษณะของครู-นักประชาธิปไตย
1.เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ พื้นฐานของแนวคิดประชาธิปไตย คือ การเห็นคุณค่าของมนุษย์ ครูนักประชาธิปไตย จะเข้าใจและเห็นคุณค่าในเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล ที่แม้มีความแตกต่างกันตามฐานะเกียรติยศ รูปร่างหน้า หรือเชื้อชาติ ฯลฯ และปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเหมาะสมและเท่าเทียม โดยเคารพในสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และรู้จักใช้สิทธิเสรีภาพของตนในขอบเขตที่เหมาะสม
2. เคารพในสิทธิส่วนบุคคล ครู-นักประชาธิปไตยย่อมรู้จักที่จะใช้สิทธิเสรีภาพของตนในขอบเขตที่เหมาะสม โดยไม่ล่วงละเมิดหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของผู้อื่นที่พึงมี จนทำให้ผู้อื่นเดือนร้อนหรือไม่ได้ใช้สิทธิเสรีภาพของตนเองอย่างที่ควรจะเป็น หรือกีดกันไม่ให้เกิดการแสดงความคิดเห็นและการกระทำที่แตกต่างจากตนหรือกลุ่มของตน
3. ใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและเคารพต่อการตัดสินใจของกลุ่ม ครูนักประชาธิปไตยควรใช้สิทธิในการเข้าไปมีส่วนแสดงความคิดเห็นในกลุ่ม แต่ในขณะเดียวกันควรเคารพในมติของกลุ่ม ซึ่งต้องอยู่ภายใต้ความถูกต้อง และไม่ลดสิทธิของกลุ่มคนที่มีเสียงข้างน้อย นั่นหมายความถึง ครูต้องมีลักษณะของผู้ที่มีความยุติธรรม ไม่ลำเอียง และรักษาความถูกต้องร่วมด้วย
แนวทางพัฒนาสู่การเป็นครู-นักประชาธิปไตย
-ทำความเข้าใจในหลักการและแนวคิดประชาธิปไตย ครูควรเริ่มศึกษาหลักการและแนวคิดประชาธิปไตยที่ถูกต้อง โดยสามารถศึกษาจากหนังสือ หรือเอกสารที่อธิบายถึงแนวคิดของประชาธิปไตย และวิธีการปฏิบัติตนในฐานะที่อยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
-กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ครูควรเป็นผู้ที่กล้าเสนอความคิดเห็น และมีส่วนร่วมตัดสินใจในสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้องชอบธรรม และเกิดประโยชน์ต่อตนผู้อื่นในสังคมโดยก้าวข้ามอุปสรรคความกลัวต่าง ๆ เช่น กลัวจะไม่ได้รับการยอมรับ กลัวที่จะแปลกแยกจากผู้อื่น กลัวไม่มีเกียรติ กลัวการดูถูกเหยียดหยาม เป็นต้น เพราะความกลัวเป็นอุปสรรคของการพัฒนาความเป็นนักประชาธิปไตย
-เปิดกว้างทางความคิด ครูไม่ถือเอาความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ แต่ควรเปิดกว้างที่จะให้ผู้อื่นแสดงความเห็นได้หลากหลาย และเป็นผู้ฟังที่ดี เช่น รับฟังความคิดเห็นของนักเรียน หรือกลุ่มครูด้วยกันเอง เป็นต้น แม้ความคิดเห็นต่าง ๆ จะไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ครูได้คิดไว้ ซึ่งสามารถที่จะถกเถียงกันในตอนท้ายได้
-เห็นคุณค่าความแตกต่าง ครูควรพัฒนามุมมองในเรื่องการเห็นคุณค่าของแต่ละบุคคล ที่มีความคิด วัฒนธรรม เชื้อชาติ ที่แตกต่างกัน โดยไม่ละทิ้งหรือมองข้ามคุณค่าของกลุ่มคนต่าง ๆ แต่นำส่วนทีดีมาประสานกันเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์และความสงบสุข
-ร่วมวิพากษ์และเสนอในกิจกรรมต่าง ๆ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเท่านั้น แต่หมายถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่ครูสามารถเข้ามีส่วนร่วมได้ตามบทบาทหน้าที่ เช่น การแสดงความคิดเห็นในการพัฒนาโรงเรียน การพัฒนาชุมชน การวิพากษ์วิจารณ์และเสนอแนวทางออกให้กับสังคม เป็นต้น เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในสังคม
-ประกาศจุดยืนความชอบธรรม แม้ประชาธิปไตยจะเน้นเสียงส่วนใหญ่ แต่ครูไม่ควรที่ตามเสียงส่วนใหญ่ที่ขัดต่อคุณธรรมจริยธรรม หรือละเมิดสิทธิชนของคนบางกลุ่มในสังคม นั่นหมายถึง ครูต้องเป็นผู้ที่ชี้นำทิศที่ถูกต้องเหมาะสมให้แก่กลุ่ม และไม่ยินยอมในการตัดสินใจของกลุ่ม หากเป็นการไม่ยุติธรรมต่อคนบางกลุ่ม
-การพัฒนาคนไทยให้มีแนวคิดและวิถีแบบประชาธิปไตย จึงเป็นวิธีหนึ่งในลดสภาพการเป็น “คุณพ่อรู้ดี” ของกลุ่มชนชั้นหรือนักปกครอง และลดปัญหาการเป็น “จำเลยชน” ของคนบางกลุ่มในสังคมที่ต้องปฏิบัติตามแม้ถูกลิดรอนสิทธิ ครูซึ่งเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างคน จึงควรตระหนักและพัฒนาตนเองให้เป็น “ครู-นักประชาธิปไตย” เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้เรียนและสังคม
บทความนี้เขียนโดย : ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ที่มา : http://www.kriengsak.com/node/573
เผยแพร่: หนังสือพิมพ์พิษณุโลกทูเดย์ เมื่อ: 2007-10-01
ภาพประกอบบทความ : ทีมนักเรียนเรารักโนนนารายณ์และครูที่ปรึกษา ในงานประกวดนวัตกรรมประชาธิปไตย เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยเชิงคุณภาพ ประจำปี 2559 จัดโดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ความรู้เพิ่มเติม : ครูที่มีลักษณะเป็นประชาธิปไตย (Democratic style)
ครูที่เป็นประชาธิปไตย จะไม่มีลักษณะของความเป็นเผด็จการหรือปล่อยปะละเลย แต่จะมีความมั่นคง มีเหตุผลเกี่ยวกับความคาดหวังของตนที่มีต่อการเรียนรู้และการแสดงพฤติกรรมของเด็ก
ครูจะใช้การอภิปรายร่วมกับนักเรียนและให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎระเบียบของชั้นเรียนรวมทั้งกำหนดโทษหากมีการฝ่าฝืนกฎ นอกจากนี้อาจร่วมกับนักเรียนในการทบทวนกฎระเบียบของชั้นเรียนได้อยู่เสมอหากมีความจำเป็นเพื่อให้กฎระเบียบเหล่านั้นมีวามเหมาะสมต่อการนำไปปฏิบัติ
ครูที่เป็นประชาธิปไตย จะเป็นผู้ที่พร้อมที่จะตัดสินใจในปัญหาใดๆ แต่ก็ยอมรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของนักเรียน ผลของการที่ครูเป็นประชาธิปไตยจะเป็นการสร้างพลังแห่งความเชื่อมั่นและความรู้สึกของการเป็นเจ้าของชั้นเรียนให้กับนักเรียนในทำนองเดียวกันก็จะทำให้ครูรู้สึกถึงบรรยากาศที่ดีในห้องเรียนนั้นๆ
ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่าครูมืออาชีพจึงควรเป็นครูที่มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยเพราะจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการสร้างบุคลิกภาพของการมีความมั่นใจในตนเองให้แก่นักเรียน รวมทั้งเพื่อจะได้มีส่วนในการปลูกฝังเจตคติและความเป็นประชาธิปไตยให้แก่นักเรียนอีกด้วย