1. ประเด็นหนี้สินครู ผมเชื่อว่าทุกอาชีพมีหนี้สินเหมือนกันหมดอยู่ที่ว่าจะจับอาชีพใดมาโจมตี สำหรับครูทำไมเป็นหนี้ ผมขอย้อนถามถึงสวัสดิการรัฐก่อนว่าให้อะไรกับข้าราชการบ้าง โดยเฉพาะครู แบ่งได้ดังนี้
1.1 บ้านพักสวัสดิการ มีบ้านพักครูโรงเรียนใดอยู่ในสภาพสมบูรณ์และเพียงพอต่อจำนวนครู เมื่อเทียบกับตำรวจ ทหาร แพทย์ พยาบาล อัยการ ผู้พิพากษา ข้าราชการพลเรือน ล้วนมีบ้านพักที่สมบูรณ์กว่ามากมาย ครูบางคนก็ต้องกู้มาปรับปรุงบ้านพัก ซื้อบ้าน เช่าบ้าน ตามแต่ความเหมาะสม
1.2 โรงเรียนใดมียานพาหนะให้ครูใช้บ้าง ในกรณีพานักเรียนไปแข่งขัน หาหมอ ไปอบรม ไปราชการ ครูก็ต้องซื้อรถเพื่อประโยชน์ส่วนตนและทางราชการ หากรอรถหลวงเมื่อไหร่จะได้ ครูไม่ได้รวยพื้นฐานส่วนมากมาจากลูกเกษตรกร
1.3 ภาษีสังคม ทุกอาชีพย่อมมีภาษีสังคม แต่คนเป็นครูมีนักเรียนและผู้ปกครองตลอดจนชุมชนมากมาย คาดว่าอาจจะมากกว่านายอำเภอด้วยซ้ำไปที่อยู่กับชาวบ้าน เพราะครูต้องเลี้ยงลูกของชาวบ้านไม่ต่ำกว่าวันละ ๘ ชั่วโมง เวลามีงานทีครูไปร่วมงานไม่ว่างานใดๆ ครูไปทุกงาน ไม่ไปก็จะโดนผู้ปกครองตำหนิว่าไม่ให้เกียรติ
1.4 กู้มาเพื่อทดแทนบุญคุณ พ่อแม่ส่งเรียนโดยนำที่นาไปจำนอง จำเป็นต้องกู้เพื่อไถ่ถอนให้พ่อแม่ ถามว่าอาชีพหมอมีไหม ส่วนมากหมอมาจากลูกคนมีฐานะจึงไม่ค่อยเห็นความลำบากจุดนี้
2. ประเด็นวิทยฐานะครู เป็นที่วิพากวิจารณ์กันมากว่าครูทิ้งห้องเรียนทำผลงาน ขอถามตามข้อเลยนะ
2.1 ถ้าครูมัวแต่สอนไม่ทำงานเอกสาร ก็กล่าวหาว่าครูไม่อยากก้าวหน้าในวิชาชีพไม่มีเอกสารหลักฐานในการตรวจหาความสำเร็จ
2.2 ถ้าครูทำเอกสาร ก็กล่าวหาว่าครูไม่สนใจเด็ก ถ้าไม่ทำเอกสารท่านผู้มีอำนาจก็กล่าวว่าครูไม่สนองนโยบาย ไม่มีหลักฐานในการติดตาม
2.3 วิทยฐานะครูนำมาซึ่งเกียรติยศ เงินเพิ่มขึ้น แต่อาชีพอื่นกว่าจะได้เพราะต้องตามระบบซี ห้ามเกินผู้บังคับบัญชา เลยหาเรื่องครูสารพัด
3. ประเด็นคุณภาพการศึกษา ท่านผู้ออกนโยบายไม่ทราบถึงบริบทของโรงเรียนและนักเรียนที่แตกต่าง แต่ระบบการวัดผลประเมินผลนำมาใช้แบบเดียวกัน จะหาค่าความเชื่อมั่นจากที่ใด
3.1 เด็กนักเรียนในเมืองใหญ่มีความพร้อมมากกว่าเด็กชนบท ไม่ต้องทำงานบ้าน ไม่ต้องกังวลปัญหาปากท้อง พ่อแม่หาให้ได้ เด็กชนบทบางครอบครัวช่วงปิดเทอมต้องไปทำนา ทำไร่ จะเอาคุณภาพเท่ากันได้ไง
3.2 ครูมีหน้าที่สอน ไม่ใช่หน้าที่ตามเก็บชั่วโมงในการอบรมสัมมนาต่างๆ เพื่อสนองนโยบาย แล้วครูจะเอาเวลาไหนมาสอนนักเรียน อบรมอย่างเดียว เห็นว่าห้ามอบรมวันราชการให้อบรมวันหยุด ครูก็ไม่มีเวลาให้ครอบครัว สุดท้ายความเครียดมาเยือน
3.3 คืนครูให้กับนักเรียน จ้างบุคลากรมาทำงานเอกสาร สุดท้ายครูก็ทำเอกสารอยู่ดีไม่ว่างานประเมินต่างๆ สรุปครูมาสอนหรือมาทำเอกสาร
ไม่ว่าจะสาเหตุอะไรข้างต้น ถ้าคุณไม่ใช่ครูก็ไม่ควรวิจารณ์ครูในแนวอคติของตน ตามที่สังคมขีดกำกับไว้ ว่าครูคือจำเลยของสังคม แต่ให้คุณระลึกว่าไม่ว่าอาชีพอะไรคุณต้องผ่านการอบรมจากครูมา หากไม่มีครูคุณจะสามารถมีตำแหน่งใหญ่โตหรือมีอาชีพที่มีเกียรติกว่าครูหรือ ไม่ ครูทุกคนไม่ว่าเรื่องส่วนตัวจะเป็นอย่างไร ท้ายสุดคืออยากให้เด็กที่เราสอนได้ดีทุกคน เพราะครูคือคนที่ลองผิดลองถูกมาทุกเรื่อง จึงไม่อยากให้เด็กที่สอนเป็นแบบครู แต่ทำไมครูจึงเป็นจำเลยของสังคม เพียงเพราะคำว่า ” อคติ ” ถ้าอยากปฎิรูปการศึกษา ปฎิรูปครู ขอให้ปฎิรูปผู้บริหารระดับสูงผู้ออกนโยบายก่อนเถิด เพราะครูเป็นแค่ผู้ปฎิบัติ มิใช่ผู้สั่งให้ปฎิบัติ ดังนั้น ถ้าไม่ใช่ครู ไม่รู้เรื่องของครู โปรดอย่าวิจารณ์ครูด้วยความไม่รู้ เพราะคนที่ไม่ใช่ครูไม่มีทางที่จะรู้ความรู้สึกของครู
(ขอขอบคุณที่ทนอ่านจนจบ จากความรู้สึกของครูน้อยคนหนึ่ง)
ที่มา : คุณ Thandonrat Newpast ชมรมครู ค.ศ.1 แห่งประเทศไทย
ภาพประกอบบทความ : เจ้าของเว็บบล็อกแห่งนี้ Call Me Teacher นำเนื้อหาข้างต้นมาลงเผยแพร่เพราะเห็นว่า ผู้เขียนสะท้อนความเป็นจริงเกี่ยวกับชีวิตครูในปัจจุบันได้อย่างตรงไปตรงมาและชัดเจนที่สุด ควรที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้หาทางแก้ไขต่อไป และอีกทางหนึ่งจะช่วยให้คนภายนอก ได้มองสิ่งที่เกิดขึ้นกับครูอย่างเข้าใจมากขึ้น เป็นกำลังใจให้กับครูไทยทุกคนครับ