ปราสาททนง [Prasat Tanong]
ขึ้นทะเบียนและประกาศในราชกิจจานุเบกษา :: เล่มที่ 118 ตอนที่ 33ง. เมื่อ 9 เมษายน 2545
ที่อยู่ : บ้านปราสาททนง ตำบลปราสาททนง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์
ละติจูด : 14.64121 องศาเหนือ
ลองจิจูด : 103.35304 องศาตะวันออก
ประเภท : ปราสาทศิลาแลง
อายุ : พุทธศตวรรษที่ 16-17 (บาปวน)
วัตถุประสงค์ : เทวสถาน
ทิศทางการวางตัว : 1.2 องศาตะวันออก (อ้างอิงจากบทความวิจัยของศักดิ์อนันต์ อนันตสุข)
หมายเหตุ : พิกัดภูมิศาสตร์ ใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม จาก www.pointasia.com
ปราสาททนงมีลักษณะเป็นอาคารขนาดใหญ่ ก่อสร้างด้วยอิฐปนหินทรายและศิลาแลงจำนวน 2 กลุ่ม ตั้งเรียงกันหันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามลำดับ คือ พลับพลา และปราสาทประธาน พลับพลาตั้งอยู่หน้าปราสาทประธาน มีสภาพชำรุดเหลือเพียงฐานบัวก่อด้วยศิลาแลง มีบันไดทางขึ้น-ลง 10 บันได ปราสาทประธาน ตั้งอยู่บนฐานปีกกาก่อด้วยศิลาแลง ทำให้สูงกว่าพลับพลา สภาพปราสาทประธานชำรุดมาก ประกอบด้วยอาคารสำคัญ 3 หลัง คือ ปราสาทประธานสำหรับประดิษฐานเทวรูปและมีบรรณาลัยหรือวิหาร 2 หลัง และที่สำคัญคือ พบทับหลังหินทรายแบบศิลปะเขมรสมัยบาปวน (ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16 ต้นพุทธศตวรรษที่ 17) จำนวนหลายชิ้น นอกจากนี้ใต้ฐานปราสาทแห่งนี้ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายยุคเหล็กอายุ 2500-1500 ปี และแหล่งเตาถลุงเหล็กที่มีขี้ตะกรัน แร่เหล็กสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก จึงอาจกล่าวได้ว่าในบริเวณบ้านปราสาทแห่งนี้ ได้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาแล้วตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายยุคเหล็ก ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 จึงได้มีชุมชนวัฒนธรรมเขมรโบราณที่นับถือศาสนาฮินดูเข้ามาตั้งชุมชนพร้อมกับสร้างปราสาททนงขึ้นเป็นศาสนสถานประจำชุมชน (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2544 : หน้า 50)
โครงการ 54090178 :: การศึกษาและพัฒนากระบวนการตัดสินใจของนักเรียนจากการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีการเรียนรู้เชิงสังคมวัฒนธรรม เรื่อง ปราสาท ในมิติวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ดำเนินการโดย นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) :: www.QLF.or.th