Anantasook.Com

[แนวทาง] การจัดกิจกรรมสภานักเรียน กิจกรรมคณะกรรมการนักเรียน ส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียน

student-council-1สภานักเรียน (Student Council) เป็นกิจกรรมนอกหลักสูตร ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาทั่วโลก ในประเทศสหรัฐอเมริกา , แคนาดา และออสเตรเลีย เรียก สภานักเรียน ในชื่อต่างๆ เช่น รัฐบาลนักเรียน (Student government) หรือ สภากิจกรรมนักเรียน (Student Activity Council), สหพันธ์สภานักเรียน (Student Council Association or S.C.A) และ คณะกรรมการนักเรียน (Student Committee)

สภานักเรียน จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนรู้จักการมีส่วนร่วม เรียนรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย และ เรียนรู้การเป็นผู้นำ ซึ่งเป็นแนวคิดเดิมของ จอห์น ดิวอี้ นักปรัชญาทางการศึกษา ซึ่งกล่าวไว้ใน ประชาธิปไตยกับการศึกษา (พ.ศ. 2460) และโรงเรียนที่ใช้ระบบสภานักเรียนเป็นแห่งแรกก็คือโรงเรียนลูมิส ชาร์เฟ่ย์ ในเมืองวินซอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้เป็นกิจกรรมในหลักสูตร ประมาณ ปี พ.ศ. 2463 สำหรับประเทศไทย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นโรงเรียนแรก ที่ใช้ระบบสภานักเรียน ในชื่อคือ “คณะกรรมการนักเรียน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

สภานักเรียนในประเทศไทย
ประเทศไทย ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีการจัดตั้งสภานักเรียนในแต่ละโรงเรียน จะแยกจากคณะกรรมการนักเรียน โดยการจำลองเสมือนระบบนิติบัญญัติ และระบบบริหาร ของระบอบประชาธิปไตย โดยให้สภานักเรียนเปรียบเสมือน ฝ่ายนิติบัญญัติ และ คณะกรรมการนักเรียน เสมือนเป็นฝ่ายบริหาร ซึ่งในบางโรงเรียนนั้น ยังใช้ระบบคณะกรรมการนักเรียนอย่างเดียวอยู่ และมีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ซึ่งสมาชิกประกอบไปด้วย ประธานสภาเด็กและเยาวชนของทุกจังหวัด รวมทั้งจังหวัดกรุงเทพมหานคร ตามมาตราที่ 32 ใน พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ส่วนในระดับอุดมศึกษานั้น ก็มีการจัดตั้งหน่วยกิจกรรมของนักศึกษาเช่นกัน ซึ่งรับผิดชอบโดยฝ่ายพัฒนาศักยภาพนักศึกษา โดยมีการจัดตั้ง สภานักศึกษา กับ องค์การนักศึกษา (Student Organization) ซึ่งมีโครงสร้างที่คล้ายคลึงกัน

การดำเนินกิจกรรมสภานักเรียนในโรงเรียน
กิจกรรมสภานักเรียน และ/หรือ กิจกรรมคณะกรรมการนักเรียน (ในที่นี้ขอใช้คำว่า “สภานักเรียน”) จะมีครูที่ได้รับมอบหมายและแต่งตั้งให้เป็นผู้รับผิดชอบในงานส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียน อาจมีอย่างน้อย 1 คนหรือหลายคนก็ได้แล้วแต่ขนาดของโรงเรียน รับผิดชอบดำเนินการทุกเรื่องที่เกี่ยวกับสภานักเรียน ตั้งแต่ เป็นผู้ดำเนินการเลือกตั้ง กำหนดวันเลือกตั้ง ประกาศผลการเลือกตั้ง และเป็นครูที่ปรึกษาของสภานักเรียน

สภานักเรียน เป็นกิจกรรมหนึ่งของนักเรียน ที่ช่วยปลูกฝังทัศนคติ ค่านิยมความเป็นประชาธิปไตย ให้กับนักเรียน เพื่อเติบโตเป็นพลเมืองดีของสังคมและประเทศชาติ เป็นต้นกล้าประชาธิปไตยที่มั่นคง เข้มแข็งของสังคมไทย การดำเนินงานสภานักเรียนเปรียบเสมือนเวทีสำหรับฝึกให้นักเรียนเป็นนักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คือ รู้จักการเป็นผู้ให้ ผู้รับ ผู้นำและผู้ตามที่ดี มีความรับผิดชอบในหน้าที่ ช่วยแบ่งเบาภาระของครูได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งส่งเสริมการเรียนการสอนตามหลักสูตรปัจจุบันที่มุ่งเน้นความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติด้วย

ที่มาของสภานักเรียน
งานส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียน จะสนับสนุนให้นักเรียนได้มีกิจกรรมการเรียนรู้กระบวนการประชาธิปไตยที่ได้ปฏิบัติจริงในรูปแบบการเลือกตั้งผู้แทนนักเรียน เริ่มจากการเลือกหัวหน้าห้อง หัวหน้าระดับชั้น ประธานชุมนุม ประธานชมรม คณะกรรมการนักเรียน และสภานักเรียน (ทั้งนี้รูปแบบอาจมีความแตกต่างกันตามรูปแบบที่โรงเรียนกำหนดและพัฒนาขึ้น ซึ่งโดยทั่วไป จะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการสภานักเรียน อันมีขั้นตอนดังนี้
          1. รับสมัครผู้มีคุณสมบัติ ดำเนินการหาเสียง และประกาศนโยบาย
          2. นักเรียนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งคณะกรรมการนักเรียน หรือเลือกตั้งสภานักเรียน โดยมีคณะกรรมการกลางปฏิบัติงานในวันเลือกตั้ง โดยอาจเป็นคณะกรรมการนักเรียนชุดที่กำลังจะหมดวาระ ภายใต้การดูแลของครูที่ปรึกษา
          3. นักเรียนตรวจสอบความโปร่งใส และร่วมเป็นสักขีพยานในนับคะแนน
          4. ได้คณะกรรมการสภานักเรียนที่มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน

บทบาทของสภานักเรียน
          1. เป็นผู้นำในการปฏิบัติกิจกรรมเพื่อส่วนรวมตามหลักธรรมาภิบาล
          2. ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของตนเองและเพื่อนนักเรียน โดยใช้กระบวนการประชาธิปไตยและแนวทางสันติวิธี
          3. ส่งเสริม สนับสนุนและมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนและส่วนรวม
          4. สืบสานความรู้ ภูมิปัญญา อนุรักษ์วัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของชาติ
          5. เป็นผู้นำเพื่อการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนและสังคม
          6. ประสานและปฏิบัติงานร่วมกับทุกหน่วยงาน องค์กรชุมชนต่างๆ
          7. รณรงค์ให้นักเรียนทำความดีเพื่อเป็นประโยชน์ต่อโรงเรียน

หน้าที่ของสภานักเรียน
         1. ดูแลทุกข์ สุข ของนักเรียน และร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียน
         2. ประสานงานกับบุคลากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ เพื่อประโยชน์และความก้าวหน้าที่นักเรียนควรได้รับ
         3. รับผิดชอบงานและกิจกรรมต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากโรงเรียน
         4. คิดริเริ่มโครงการที่เป็นประโยชน์ สามารถปฏิบัติได้จริงและส่งผลต่อการพัฒนาโรงเรียน
         5. ดูแลสอดส่อง และบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในโรงเรียนให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า
         6. ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ทันต่อเหตุการณ์ และตรงไปตรงมา
         7. เสนอความคิดเห็นต่อโรงเรียน ในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนและเพื่อพัฒนาโรงเรียนในด้านต่างๆ
         8. วางแผนดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับครูที่ปรึกษา
         9. ปฏิบัติงานโดยไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบ หรือข้อบังคับอื่นใดของทางราชการ พร้อมทั้งต้องรักษาไว้ซึ่งศีลธรรมวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม

เรียบเรียงจาก :
1. http://th.wikipedia.org/wiki/สภานักเรียน
2. หนังสือสภานักเรียน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

Exit mobile version