Anantasook.Com

[ATI Award2015] การเรียนรู้ เรื่อง การเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ โดยใช้ทวิก เป็นสื่อในการส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหา

ชื่อผลงาน : การจัดการเรียนรู้โดยใช้สื่อ Twig เป็นสื่อในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ รายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 6 เรื่อง การเคลื่อนที่ของดวงจันทร์

เจ้าของผลงาน : นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข ครูโรงเรียนนารายณ์คำผงวิทยา จังหวัดสุรินทร์

รางวัล : รองชนะเลิศ การประกวดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อสร้างห้องเรียนในฝัน ครั้งที่ 1 (1st Aksorn Teacher’s Inspiration Award) เรื่อง การเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ โดยใช้ ทวิก (Twig) เป็นสื่อในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหา

ดาวน์โหลด :
1. แผนการจัดการเรียนรู้ บูรณาการสื่อ ทวิก (Twig) 1 >> คลิกที่นี่ >> [แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 1]
2. แผนการจัดการเรียนรู้ บูรณาการสื่อ ทวิก (Twig) 2 >> คลิกที่นี่ >> [แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 2]

บทความ ATI Award2015 : นักเรียนนั้นสำคัญไฉน และทำไมต้องปรับเปลี่ยนการเรียนรู้

นักเรียนไทย คือ อนาคตและความหวังของประเทศไทย เพราะเขาจะเติบโตและเติบใหญ่ขึ้นมารับภารกิจทั้งหมดและมีบทบาทนำในการขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่ความเจริญในอนาคต หากเยาวชนมีความรู้ ความสามารถ ซื่อสัตย์ มีวินัยและรับผิดชอบ ก็สามารถเป็นความหวังให้กับคนในประเทศได้ ซึ่งปัจจุบัน ก็มีความพยายามในการเร่งพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพสูงขึ้นผ่านการจัดการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ ดังนั้น การศึกษาจึงต้องช่วยพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีทักษะสำหรับการใช้ชีวิตที่ดีในศตวรรษที่ 21 ที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและมีศักยภาพเพียงพอต่อการพัฒนาและการแข่งขันทางเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

เยาวชนในปัจจุบันมีโอกาสในการพัฒนาตนเองแทบทุกด้านมากกว่าสมัยก่อนอย่างมาก แต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้การเรียนการสอนโดยอาศัยความรู้จากตำราเรียนเหมือนที่เป็นมา แทบหมดความสำคัญ เพราะความรู้สามารถหาได้ง่ายจากโลกออนไลน์ ซึ่งมีอยู่หลายแหล่งมากมายมหาศาล เยาวชนจึงจะต้องมีความรู้ด้าน สารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี มีทักษะชีวิต มีสติและใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบ รอบด้านในการตัดสินดำเนินการเรื่องต่างๆ

ด้วยเหตุนี้ การจัดการเรียนรู้ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ตอบสนองต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ลดเวลาในการเรียนรู้บางเรื่อง โดยอาศัยสื่อการเรียนรู้ที่ดีและมีคุณภาพอยู่แล้วในโลกออนไลน์ หรือใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้หรือใช้สร้างองค์ความรู้ขึ้นมา รวมถึงการใช้เวลาของการเรียนรู้ในการมุ่งพัฒนาทักษะที่สำคัญอื่นด้วย โดยในส่วนของวิชาวิทยาศาสตร์ การจัดการเรียนรู้ตามแนวสะเต็มศึกษา (STEM Education) ที่มีการบูรณาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และกระบวนการทางวิศวกรรม ก็เป็นแนวทางที่ควรนำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้จริงในชั้นเรียน และตอบสนองต่อทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ประกอบกับหากการเรียนรู้นั้นมีความเกี่ยวข้องกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของตัวนักเรียน มีความหมายต่อตัวนักเรียน เขาก็จะเห็นประโยชน์ และคุณค่าของการเรียน จนใส่ใจที่จะเรียนรู้ และสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริงและการประกอบอาชีพในอนาคตได้

ดังนั้น ครูผู้สอนจึงต้องมีปรับเปลี่ยนตนเองให้มีทักษะที่จำเป็นในการเป็นผู้สอนสำหรับการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 กล่าวคือ เปลี่ยนแปลงจากการยืนหน้าชั้น เป็นการกระตุ้นและอำนวยความสะดวกในการเรียน ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองให้มากที่สุด และเป็นความรับผิดชอบของนักเรียนที่จะต้องใส่ใจเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ ตั้งใจพัฒนาตนเองให้มีความพร้อม เพื่อรับภารกิจในสังคมที่กำลังจะมาถึง

ชมคลิปกิจกรรมในชั้นเรียน ประกวด ATI Contest ของครูศักดิ์อนันต์ อนันตสุข

Exit mobile version