Anantasook.Com

[ผลงาน] นิทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Illustrations) ภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ ของผักลิ้นปี่

EmiliaSonchifolia

[ภาพวาด Emilia sonchifolia DC., ผักลิ้นปี่, หูปลาช่อน]

แม้ว่าวิทยาการอันทันสมัยในปัจจุบัน จะทำให้เราสามารถบันทึกภาพข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้ง่าย และเก็บเรื่องราวหลากหลายได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการใช้กล้องบันทึกภาพและวิดีทัศน์ระบบดิจิตอล  กล้องจุลทรรศน์ กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก ก็ยังคงใช้ภาพวาดเพื่อแสดงข้อมูลการค้นพบต่างๆ ทั้งนี้เพราะภาพวาดมีข้อได้เปรียบภาพถ่ายหลายประการ

ในทางธรรมชาติวิทยา ภาพวาดที่แสดงกายวิภาคและสัณฐานของสิ่งมีชีวิต หรือลักษณะรูปร่างรูปทรงของสิ่งศึกษาด้านกายภาพ ได้ผ่านการเรียบเรียงและปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องแม่นยำ สามารถช่วยในการระบุชนิดสิ่งมีชีวิต และสิ่งไม่มีชีวิตได้นอกจากนั้นภาพวาดเป็นภาพตัวแทนของประชากร ทำให้เราสามารถประมวลลักษณะสำคัญของกลุ่มสิ่งมีชีวิต หรือลักษณะโดยรวมของสิ่งไม่มีชีวิตประเภทนั้นๆ ได้ในภาพวาดหนึ่งภาพ ในขณะที่ภาพถ่ายโดยกล้องถ่ายภาพ จำเป็นต้องเฉพาะเจาะจงลงไปที่ตัวอย่างเพียงชิ้นเดียว อีกประการหนึ่งภาพถ่ายมักมีบริเวณที่ไม่ชัดและมีเงามืดซึ่งทำให้ไม่สามารถบอกรายละเอียดในบริเวณนั้นๆ ได้แต่ภาพวาดที่ดีสามารถแสดงรายละเอียดของชั้นเซลล์เนื้อเยื่อและอวัยวะที่ทับซ้อนกัน สามารถเน้นรายละเอียดที่สำคัญหรือประกอบชิ้นส่วนที่แตกหักหลุดออกจากกันลงบนกระดาษ ด้วยเหตุต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ภาพวาดยังคงมีความสำคัญต่อการแสดงผลทางวิทยาศาสตร์ไม่เสื่อมคลาย

นักวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ที่ดี ควรมีความรู้เรื่องโครงสร้างของสิ่งที่วาดมีข้อมูลพื้นฐานของตัวอย่างนั้น ๆ และรู้จักเทคนิคที่เหมาะสมในการนำเสนอ ผู้ถ่ายทอดภาพทางวิทยาศาสตร์ควรมีความสนใจทางศิลปะและมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์พอสมควรเพื่อให้สามารถประยุกต์ข้อเท็จจริงเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างกลมกลืน เพราะ ภาพเพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ไม่เพียงต้องให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้มากที่สุดและถูกต้องที่สุดเท่านั้น แต่ยังต้องมีความสวยงามชวนดูอีกด้วย

แนะนำหลักสูตร : ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นภาควิชาที่มีการเปิดสอนวิชานิทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Illustrations) ในระดับปริญญาตรี มาตั้งแต่ปี การศึกษา 2541 ท่านที่สนใจสามารถศึกษาได้ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ครับ

ตัวอย่างภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ ผักลิ้นปี่ ของนักเรียนโรงเรียนนารายณ์คำผงวิทยา (นางสาวปภาวรินทร์ แก้วจูมพล)

ภาพประกอบต้นเรื่องจาก :
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/c/c3/Emilia_sonchifolia_Blanco2.282.png

Exit mobile version