เนื่องจากนักจิตวิทยาปัญญานิยมเชื่อว่าผู้เรียนเป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ คือ เป็นผู้ที่ควบคุมกิจกรรม การเรียนรู้ของตนเอง (self-regulation) จึงมีผู้ศึกษาเกี่ยวกับการควบคุมกิจกรรมทางปัญญา (Conitive Activity) ซึ่ง Flawell (1976,1977,1978) เป็นผู้บุกเบิกในการศึกษาเรื่องนี้ เขากล่าวว่า Meta Cognition หมายถึง ความรู้ของบุคคลเกี่ยวกับกระบวนการคิดของตนเองและผลผลิตของการคิดนั้นหรือเรื่องใดๆที่สัมพันธ์กัน โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความรู้เกี่ยวกับกระบวนการคิดของตนเอง มี 3 อย่าง คือ บุคคล หรือผู้เรียน (Person) , งาน (Task) , ยุทธศาสตร์ (Strategy) ที่ใช้ Flawell ได้ให้คำอธิบายไว้ดังต่อไปนี้
1. บุคคล หรือผู้เรียน (Person) หมายถึง ความสามารถของผู้เรียนที่จะมีความรู้เกี่ยวกับตนเองในฐานะผู้เรียน
2. งาน (Task) หมายถึง ความรู้เกี่ยวกับงานที่จะต้องเรียนรู้ รวมทั้งระดับความยากง่าย ปัญหาอุปสรรคของงาน
3. ยุทธศาสตร์ (Strategy) หรือกลวิธีที่ใช้ในการเรียนรู้ “งาน” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างเช่น เรามักนั่งหลับในห้องเรียน (เรารู้ว่าเราเป็นเช่นนั้น) เวลาเข้าห้องเรียนจึงไปนั่งหน้าสุดทุกครั้ง (เพื่อจะได้ไม่หลับ) เป็นต้น หรือการเรียนรู้กับการแก้ปัญหาในวิชาฟิสิกส์ ผู้เรียนจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับปัจจัย 3 อย่าง คือ บุคคลที่ต้องมีรู้ว่าตนเองสามารถและมีความรู้พื้นฐานอะไร เพียงใด เช่น จะต้องใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ขั้นสูงหรือไม่ ยุทธศาสตร์ที่จะใช้มีอะไรบ้าง มีขั้นตอนอย่างไร เป็นต้น และจำเป็นที่จะต้องขวนขวายหาความรู้คณิตศาสตร์ที่เป็นพื้นฐานก่อนหรือไม่
เป้าหมายของ Meta Cognition คือ ให้ผู้เรียนเรียนรู้กระบวนการคิดของตนเองเพื่อใช้ในการแก้ปัญหา(ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์) โดยมีกลวิธี ดังนี้
1. การฝึกให้ผู้เรียนรู้จักวางแผน มีขั้นตอนดังนี้
1.1 ผู้เรียนวิเคราะห์เป้าหมายของการแก้ปัญหานั้น
1.2 ผู้เรียนเลือกกลวิธีในการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยการเดาและตรวจสอบความถูกต้อง การวาดภาพหรือเขียนภาพ การสร้างตาราง การแจกแจงความเป็นไปได้ของคำตอบ การคิดย้อนกลับ เป็นต้น
1.3 เรียงลำดับขั้นตอนตามกลวิธีที่เลือกไว้
1.4 คาดคะเนคำตอบหรือตั้งสมมติฐาน
2. การฝึกให้ผู้เรียนสามารถควบคุมและตรวจสอบความคิดของตนเอง มีขั้นตอนดังนี้
2.1 กำหนดเป้าหมายไว้ในใจ เพื่อจะได้ตรวจสอบว่า หลังจากที่ได้ปฏิบัติกิจกรรมตามขั้นตอนที่เลือกแล้ว จะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้หรือไม่
2.2 กำกับวิธีการต่างๆ ให้เป็นไปตามขั้นตอนของกลวิธีที่เลือกไว้
3. การฝึกให้ผู้เรียนสามารถประเมินการคิดของตนเองได้ มีขั้นตอนดังนี้
3.1 ประเมินว่าหลังจากที่ได้ปฏิบัติกิจกรรมตามขั้นตอนที่เลือกแล้ว สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่
3.2 ตรวจสอบคำตอบหรือผลลัพธ์ของกิจกรรมที่ทำ
3.3 ตรวจสอบขั้นตอนในการปฏิบัติ เป็นการย้อนกลับไปมองถึงขั้นตอนของกลวิธีต่างๆ ที่ใช้ในการทำกิจกรรมว่ามีความถูกต้องสมบูรณ์เพียงใด เพื่อจะช่วยให้พบข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นแล้วนำไปปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น
เมื่อผู้เรียนได้ตระหนักรู้ว่า ตนเองรู้อะไร ยังไม่รู้อะไรต้องการรู้อะไร และจะต้องทำอย่างไร จึงจะรู้ในสิ่งที่ต้องการ ผู้เรียนย่อมมีแผนการหรือรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูต้องรู้และจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ให้ผู้เรียนไปสู่เป้าหมายเหมือนกัน ด้วยวิธีนี้ในชั้นเรียนเราจะเห็นผู้เรียนที่เดินไปมาได้ คุยกันได้ อ่านหนังสือ หรือทำงานที่ได้รับมอบหมายก็ได้ ถามว่าคุณครูพร้อมจะเปลี่ยนชั้นเรียนให้มีชีวิตชีวาอย่างนี้หรือยัง
ท้ายที่สุด ผมขอแนะนำหนังสือ “การคิดและการคิดเกี่ยวกับการรู้ : แนวการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาการคิดของผู้เรียน” [Thinking and Metacognition: Guideline to improve learners’ thinking and learning] ที่เขียนโดย ดร.วราวรรณ จันทรนุวงศ์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.กิ่งฟ้า สินธุวงษ์ มีจำนวน 311 หน้า ราคา 200 บาท ครับ โดยเนื้อหาประกอบด้วย
บทที่ 1 สังคมแห่งการเปลี่ยนแปลงกับการสอนคิด
บทที่ 2 ทฤษฎี หลักการ และแนวคิดด้านการเรียนรู้ การคิด และการคิดเกี่ยวกับการรู้
บทที่ 3 แนวทางการพัฒนาการคิดและการคิดเกี่ยวกับการรู้
บทที่ 4 การวัดและประเมินผลการคิดและการคิดเกี่ยวกับการรู้
บทที่ 5 การทำวิจัยด้านการคิดและการคิดเกี่ยวกับการรู้
บทที่ 6 เครื่องมือวิจัยและผลการวิจัยด้านการคิดและการคิดเกี่ยวกับการรู้
คุณครูและท่านที่สนใจศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการคิดและการคิดเกี่ยวกับการรู้ สามารถติดต่อที่ผู้เขียน โดยตรงที่ : ดร.วราวรรณ จันทรนุวงศ์ >> คลิกเลย >> [เฟซบุ๊ค ดร.วราวรรณ จันทรนุวงศ์ ]
ภาพประกอบ :
1. คณะผู้จัดงาน เลี้ยงอาหารเย็นเพื่อแสดงความขอบคุณแก่ Association Prof. Dr.Gregory Peter Thomas
2. หนังสือ “การคิดและการคิดเกี่ยวกับการรู้ฯ”