สรุปผลการศึกษาดูงานด้านการศึกษาทางวิศวกรรม การอาชีวศึกษา ประเทศญี่ปุ่น โครงการ Sakura Science Plan 2017

ตามที่ข้าพเจ้า นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนตาเบาวิทยา จ.สุรินทร์ ได้รับคัดเลือกจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และ Japan Science and Technology Agency (JST) ให้เข้าร่วมโครงการ Sakura Science Plan ร่วมกับนักการศึกษาและเจ้าหน้าที่ สสวท. รวม 7 ท่าน รับทุนศึกษาดูงาน ร่วมกับผู้แทนจากประเทศเวียดนาม (5 คน) อินโดนีเซีย (7 คน) และมาเลเซีย (7 คน) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 4-10 กุมภาพันธ์ 2561 จึงขอนำเสนอสิ่งละอันพันละน้อยที่ได้เรียนรู้มา เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ดังนี้

4 กุมภาพันธ์ : ออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยสายการบิน ANA เที่ยวบิน NH848 เวลา 10.30 น. ถึงสนามบิน Haneda เวลา 18.20 น. เข้าที่พักโรงแรม Sotetsu Fresa Inn, Tokyo, Japan และเดินทางกลับในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 ถึงประเทศไทย เวลา 16.20 น.

5 กุมภาพันธ์ : ช่วงเช้าเข้าเยี่ยมชม JST (Japan Science and Technology Agency) รับฟังการบรรยายเกี่ยวกับ JST ที่อยู่ภายใต้ “กระทรวงการศึกษา วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” โดยให้ทุนสนับสนุนโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศ และ Sakura Science Plan มีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเยาวชนในประเทศแถบเอเชียและญี่ปุ่น ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หลายโปรแกรม โดย Sakura Science Program for Asian Officers / Administrators and Sakura Science Club ก็เป็นกิจกรรมที่ทำให้ทุกคนได้มาเจอกัน ช่วงบ่ายเราไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่ Chiba Institute of Technology, Tokyo Sky tree campus ที่นี่เราพบงานที่โดดเด่นสองอย่างคือ (1) ความก้าวหน้าด้านการสำรวจอวกาศ ดาวเทียม การสำรวจดวงจันทร์ (2) หุ่นยนต์ และ AI ผมจึงเชื่อว่า ทิศทางใหม่ของประเทศเรา “ต้องอวกาศกับหุ่นยนต์” จึงจะตามประเทศที่พัฒนาแล้วได้

6 กุมภาพันธ์ : เราไปเยี่ยมสำนักงานใหญ่ของ KOSEN ในโตเกียว President Dr. Isao Taniguchi ได้บรรยายให้กับคณะของเรา ทำให้เราได้รับทราบเกี่ยวกับระบบ KOSEN ซึ่งบัณฑิตของ KOSEN จะต้องเป็น Social Doctor คือ มีความเป็นนวัตกร และวิศวกรที่เก่งด้านปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาสังคมด้วยเทคโนโลยี ระบบจะคัดนักเรียนจบ ม.ต้น 1% ที่มีความตั้งใจจะเป็นวิศวกรที่เก่งมาเรียนใน KOSEN Campus เพื่อเป็นสุดยอดด้านวิศวกรรมและนักสร้างนวัตกรรม โดยทำในโรงเรียนอาชีวะศึกษานักเรียนที่จบจาก KOSEN จะได้รับการเสนองานจากบริษัทต่าง ๆ ในญี่ปุ่นหรือได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่ดีถ้าเขาต้องการ ช่วงบ่ายเรานั่งรถไฟความเร็วสูงไปเมืองนาโกย่า เพื่อไปดูโรงเรียนอาชีวะศึกษาที่ National Institute of Technology, Toyata College ที่เมืองโตโยต้า (Toyota City) ซึ่งเป็น 1 ใน 51 วิทยาลัยที่ใช้หลัก KOSEN ระหว่างทางเราได้ชมภูเขาไฟฟูจิ จากหน้าต่างรถไฟความเร็วสูง กิจกรรมในวันนี้ ทำให้ผมพอจะได้แนวคิดที่สำคัญบางประการดังนี้

1. แนวคิดสำหรับการเรียน เราไม่ได้เรียนอย่างหนักเพื่อให้ตัวเราเองมีงานทำ (เท่านั้น) แต่เราเรียนและพัฒนาตนเองเพื่อทำงานรับใช้สังคมและประเทศชาติ

2. เมื่อเราพบวัฒนธรรมที่แตกต่าง แนวคิดที่แตกต่าง หลักการใหม่ ความท้าทายใหม่ ปัญหาใหม่ ให้ใส่ใจ เพราะนั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดธุรกิจใหม่ และความร่วมมือใหม่ๆ

3. ผมขอประยุกต์หลักคิดของ KOSEN เป็นคำพูดที่เหมาะจะใช้ในโรงเรียนว่า “School creates our future, Let’s work and learn together”

7 กุมภาพันธ์ : เราเดินทางเข้าเยี่ยมชมบริษัท Kojima ที่มีความร่วมมือกับ National Institute of Technology, Toyota College ทำให้เราได้พบการผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในรถยนต์ รถต้นแบบ ตามด้วย Toyota Innovation Center เป็นสถานที่พบปะกันเพื่อขายแนวคิด สิทธิบัตร และจำลองต้นแบบแนวคิด บริษัทเขาดูเรียบง่าย ไม่ใหญ่โต ไม่อลังการ แต่สินค้ามีใช้เกือบทั่วโลก และล้ำยุคมาก ช่วงบ่ายเดินทางไป Toyohashi University of Technology ที่เมือง Toyohashi  สโลแกนคือ Master Technology, Create Technology ทุกสาขาในการเรียน มีขึ้นเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมของประเทศ ตามระบบ KOSEN ปิดท้ายด้วยแต่ละประเทศได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักศึกษาของประเทศตนเองที่มาเรียนที่มหาวิทยาลัยนี้

8 กุมภาพันธ์ : เราไปเยี่ยมชมบริษัท Hamamatsu Photonics K.K. Central Research Center เป็นศูนย์วิจัยเกี่ยวกับโฟตอน เชื่อมโยงกับศาสตร์ต่าง ๆ เช่น การแพทย์ วัสดุศาสตร์ ชีววิทยา พลังงาน ดาวเทียมและอุตสาหกรรมการสำรวจอวกาศ ช่วงบ่ายเราแวะไปชม ปราสาทหลังแรกของโชกุนโตกุกาวะ อิเอยะสึ ผู้ซึ่งต่อมาเป็นโชกุนที่มีอิทธิพลสูงสุดในประเทศญี่ปุ่น และเป็นตระกูลที่ปกครองญี่ปุ่นถึงกว่า 200 ปี จากนั้นก็ขึ้นรถไฟความเร็วสูงกลับโตเกียว

9 กุมภาพันธ์ : ช่วงเช้าเราเข้าชมพิพิธภัณฑ์ Miraikan วิทยาศาสตร์ของโตเกียว เยี่ยมชมการแสดงของหุ่นยนต์อาซิโม และได้เห็นการจัดแสดงนิทรรศการความก้าวหน้าด้านอวกาศ การสำรวจอวกาศ จีโนมมนุษย์ ตลอดจนหุ่นยนต์ ช่วงบ่ายก็เป็นการนั่งรถชมเมืองโตเกียว และรอบพระราชวังจักรพรรดิญี่ปุ่น จากนั้นร่วมพิธีปิดที่ JST โดยให้ตัวแทนแต่ละประเทศพูดถึงความประทับใจ และสิ่งที่อยากนำกลับไปประเทศของตนเอง รวมทั้งแนวทางความร่วมมือที่อยากให้เกิดขึ้นในอนาคต โดยทางญี่ปุ่นมีตัวแทนจาก JST KOSEN และ MEXT (กระทรวงการศึกษา วิทยาศาสตร์ กีฬาและวัฒนธรรม) ช่วงเย็นเป็นงานเลี้ยงอำลาที่ภัตตาคารแห่งหนึ่ง

ท้ายที่สุด เราก็ได้เข้าใจว่า สาเหตุที่เขาเชิญคนจาก 4 ประเทศมา เพราะเขาจะนำระบบ KOSEN ไปใช้ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศเหล่านั้น สำหรับประเทศไทยจะดำเนินการที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี คำพูดที่น่าสนใจคือ “ญี่ปุ่นเติบโต เพราะประเทศในอาเซียนพัฒนา ดังนั้น ญี่ปุ่นจะจะถ่ายทอดระบบและเทคโนโลยีให้ เพื่อให้เราช่วยตนเองและทำงานร่วมกันกับเขาหรือทำงานในบริษัทของเขาต่อไป

การเข้าร่วมโครงการนี้ช่วยเปิดโลกทัศน์การ ศึกษาสายอาชีวศึกษาให้กับผมอย่างมาก ผมคิดว่าคำว่า “อาชีวะสร้างชาติ” นั้นคือความจริงแท้แน่นอน แต่ภาย ใต้บริบทประเทศไทยนั้น นอกจากมีนโยบายสนับสนุนและการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแล้ว ต้องมีโครงการให้ทุนเด็กเก่งเรียนอาชีวะ หรือเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่เน้นเทคโนโลยีในประเทศไทย สำหรับสถานศึกษาสังกัด สพฐ. นั้น เราอาจต้องเน้นสอนเด็กเกี่ยวกับหุ่นยนต์ AI ดาวเทียม รวมถึงเน้นให้นักเรียนมีทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ น่าจะตอบโจทย์การศึกษาเพื่อการมีงานทำและแนวโน้มใหม่ในอนาคตได้

กิจกรรมแลกเปลี่ยนในโครงการ SAKURA Science Plan for Administrators (FY2017) ที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 4-10 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Sakura Exchange Program in Science ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก Japan Science and Technology Agency (JST)

หมายเหตุ : Japan Science and Technology Agency (JST) : [http://www.jst.go.jp/EN/index.html]



Leave a Comment