Anantasook.Com

เวียดนามจะแซงหน้าไทย เพราะใส่ใจพัฒนาการศึกษา การศึกษาเวียดนาม VS การศึกษาไทย

“เวียดนามจะแซงหน้าไทย จริงหรือ !!? ”
          เป็นคำถามคาใจของผม มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 หลังจากที่มีโอกาสติดตามข่าวสารทางสื่อต่างๆ เกี่ยวกับการที่ประเทศของเราต้องไปศึกษาดูงานการปฏิรูปวิทยาศาสตร์ศึกษาที่ประเทศเวียดนาม และเป็นที่ร่ำลือกันว่า ที่นั่นเขาให้ความสำคัญกับการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์อย่างมาก ในขณะที่ประเทศของเรา “ทำ” แต่ยัง “เหมือน” ไม่เต็มที่และต้องพัฒนาอีกมาก
          เมื่อกลางปี พ.ศ. 2550 ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ทำวิจัย เรื่อง แนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยสู่สากล โดยศึกษาแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจากประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง และพัฒนาแบบก้าวกระโดด รวม 6 ประเทศ ได้แก่ จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมันและฟินแลนด์ ภายใต้กรอบแนวคิด 5 ประการ คือ คนคุณภาพ ระบบคุณภาพ การจัดการคุณภาพ นโยบายคุณภาพ และวัฒนธรรมคุณภาพพื่อศึกษาว่าประเทศเหล่านี้มีอะไรเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเขาให้สูงขึ้น  ซึ่งจะเห็นว่า หนึ่งในนั้น มีประเทศเวียดนาม รวมอยู่ด้วย
          สำหรับบทความนี้ จะเน้นนำเสนอผลการวิจัยเฉพาะของประเทศเวียดนาม รวมกับประสบการณ์เท่าที่ไปรู้ ไปเห็น จากการศึกษาดูงานที่ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2551 ที่ผ่านมา วิเคราะห์เปรียบเทียบกับการจัดการศึกษาของไทย เพื่อให้เห็นข้อแตกต่างและตอบคำถามข้างต้น

22-24 เม.ย. 2551 :: ศวคท. โดยครูศักดิ์อนันต์ อนันตสุข พร้อมด้วยอาจารย์และนักศึกษา ป.บัณฑิต (การบริหารการศึกษา) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ศึกษาดูงานการจัดการศึกษาของประเทศเวียดนาม ที่โรงเรียนมัธยมสมบูรณ์(มัธยมศึกษาตอนต้น) “เล ไธ่ ฮอง ก๋อม” จังหวัดดานัง ประเทศเวียดนาม พร้อมกันนี้ยังได้เที่ยวชมเมืองเว้ เมืองประวัติศาสตร์,พระราชวังของราชวงศ์เหงียนและเมืองมรดกโลกฮอยอัน !!

                ด้านคนคุณภาพ พบว่า ประชาชนเห็นคุณค่าและความสำคัญของการศึกษา ชอบใฝ่รู้ใฝ่เรียน รักการทำงาน มุ่งการผลิตและสร้างสรรค์นวัตกรรม มีทักษะในการสื่อสารและการใช้เทคโนโลยี รู้เท่าทันอิทธิพลของต่างประเทศ ประการสำคัญ มีคุณธรรม จริยธรรมประจำชาติ รู้จักรักษาวัฒนธรรม มีความรักชาติและมีอัตลักษณ์ของความเป็นชาติตน สำหรับประเทศของเรา คนในชาติของเราเห็นคุณค่าของการศึกษามากน้อยแค่ไหน ทุกยุคทุกสมัยเราไม่เคยได้ยินนโยบาย “การศึกษาต้องมาก่อน” จากรัฐบาลใดเลย เยาวชนของเรา จำนวนมาก ลืมประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์และวัฒนธรรมของตน หันไปลุ่มหลงและบูชาวัฒนธรรมของชาติอื่นว่าดีกว่า โดยเฉพาะ “ความรักชาติ” อันเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่สุด
มีอยู่ในกายและใจของเราเพียงใด

                ด้านระบบคุณภาพ พบว่า หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เน้นการจัดระบบคุณภาพครู มีการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง ให้เงินเดือนและสวัสดิการที่ดีควบคู่ไปกับการยกระดับความสามารถของครู มีระบบการเรียนฟรี แถมตำราให้ยืมใช้ในระยะยาว ส่วนระบบการประเมินผล มีทั้งการสอบข้อเขียน และสอบปากเปล่า การสอบวัดความรู้เพื่อศึกษาต่อระดับอุดมศึกษานั้นเข้มงวดมาก สำหรับประเทศของเรา หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับช่วงชั้นที่ 1-2 ถูกตั้งคำถามว่าเป็นการยัดเยียดความรู้ให้กับเด็กมากไปหรือไม่ และสำหรับครูนั้น  เงินเดือนน้อย ต้องเป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ บางส่วนมาเป็นครู เพราะไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ไม่รักไม่ศรัทธาในวิชาชีพ  

                ด้านการจัดการคุณภาพ  พบว่า รัฐบาลเวียดนามกำหนดเป้าหมายทิศทางอย่างเป็นระบบและมีขั้นตอนที่ชัดเจน รวมพลังจากทุกแหล่งเข้ามาจัดการศึกษา กำหนดคุณภาพหลายระดับ มีวิธีการที่ยืดหยุ่นและทางเลือกที่หลากหลาย สำหรับประเทศของเรา การตัดสินใจกำหนดนโยบาย และการแก้ปัญหาของรัฐ อยู่ภายใต้สถานการณ์ความจำเป็นเฉพาะหน้า และภายใต้ความบีบคั้นของกลุ่มผลประโยชน์ ที่มีอำนาจต่อรองส่งผลให้การจัดการศึกษาและการดำเนินการในหลายๆเรื่องเกิดความล่าช้า

                ด้านนโยบายคุณภาพ พบว่า เวียดนามเน้นความมุ่งมั่นและความชัดเจนของผู้นำ รัฐเป็นผู้กำหนดทิศทางให้มีการแบ่งหน้าที่แข่งกันทำงาน ปฏิบัติตามมาตรฐานชาติ โดยใช้ยุทธศาสตร์ท้องถิ่น สำหรับประเทศของเรา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนตัวบ่อย นโยบายเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา คิดอะไรได้ก็ทำอันนั้น ครูในฐานะผู้ปฏิบัติก็สับสน ทำอย่างไรจึงจะสร้างระบบที่ไม่ว่าใครจะเข้ามา การศึกษาต้องเดินหน้าอย่างเข้มข้นและแข้มแข็ง

                ด้านวัฒนธรรมคุณภาพ พบว่า เวียดนามเห็นคุณค่าของการศึกษาสูง ส่งเสริมคนเก่งจึงมีโรงเรียนอัจฉริยะ (Gifted School) จำนวนมาก ประชาชนรักการทำงานหนัก สำหรับประเทศของเรา  เราชอบอะไรที่ง่ายๆ สบายๆ มีการแบ่งพวก ขาดความสมานฉันท์ จ้องล้มล้างซึ่งกันและกัน ภาพคนไทยตีกันเกี่ยวกับผลประโยชน์ระหว่างชาติเรื่อง เขาพระวิหาร และที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ เป็นความเศร้าสะเทือนใจในหมู่คนไทยที่รักชาติ เรายกย่องคนมีเงินมากกว่าคนมีความรู้ คนมีความรู้จึงไม่มีโอกาสทำงานเพื่อบ้านเมือง โรงเรียนที่ส่งเสริมบุคคลที่มีความสามารถพิเศษยังมีน้อย และมีเพียงทางด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์เท่านั้น

                นอกจากนี้ เวียดนาม เคารพและนับถือลัทธิขงจื๊อมาตั้งแต่อดีต ก็ยังยึดถือเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เด็กและเยาวชนจึงมักได้รับการอบรมบ่มนิสัยตั้งแต่ในบ้านไปจนถึงโรงเรียน ให้เป็นคนขยัน ซื่อสัตย์ อดทน มีวินัยและกตัญญู สำหรับประเทศของเรา มีคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ(ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย สุภาพ สะอาด สามัคคี มีน้ำใจ)  แต่ถามว่าเราใส่ใจที่จะพัฒนาเด็กของเราให้มีคุณธรรมทั้ง 8 ประการนั้นมากน้อยเพียงใด

              เป็นที่สังเกตอย่างหนึ่งว่า คนเวียดนาม จะถือว่า คนไทยและประเทศไทย เป็นตัวเปรียบเทียบคุณภาพของเขา หรือที่เรียกว่า เขา Benchmarking กับคนไทยและประเทศไทย แต่เป้าหมายไม่ใช่ทัดเทียมประเทศไทย เป้าหมายของเขาคือ ปี ค.ศ. 2020 เขาจะพัฒนาประเทศให้เท่าทันประเทศที่มีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพอย่างประเทศสิงคโปร์ นี่เป็นวิสัยทัศน์ของเขา กลับมาถามคนไทยด้วยกันเองว่า สำหรับอีก 12 ปีข้างหน้า เราเคยมีวิสัยทัศน์ร่วมกันหรือไม่ว่า เราจะไปถึงจุดไหน หรือเราจะเทียบเท่ากับใคร หรือวันนั้น เราจะมีคำถามประเภท ประเทศลาว เมียนมาร์และกัมพูชาจะแซงหน้าไทย จริงหรือ !!? อยู่อีกหรือไม่ หรือจะมี “ผู้ชนะสิบทิศ ยุคดิจิตอล จากเมียนมาร์ เกิดขึ้นหรือไม่” นี่คือคำถามแทงใจ ที่เราต้องช่วยกันหาทางออกให้กับประเทศ

             จากที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ได้เป็นการชื่นชมและเชิดชูคนอื่นว่าดี แล้วมาตำหนิตัวเองว่าแย่ แต่เราต้องกล้าที่จะเปิดใจให้กว้าง ยอมรับความจริง และต้องพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพราะในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยของเราก็มีเด็กและเยาวชนที่เป็นเด็กดี เด็กเก่ง มีความตั้งใจใฝ่รู้ ใฝ่เรียนและรู้จักคิดประดิษฐ์จนสามารถคว้ารางวัลเหรียญทองโอลิมปิก และชนะเลิศการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์, ฟุตบอลหุ่นยนต์ระดับโลกมาแล้ว จำนวนมาก และหลายโรงเรียนก็จัดการศึกษาได้ดีมีคุณภาพ เป็นโรงเรียนคุณภาพ    และเชื่อว่าทุกฝ่ายก็พยายามอย่างเต็มกำลังที่จะพัฒนาการศึกษา แต่อาจจะยังขาดเจตจำนงที่สำคัญร่วมกัน และเราต้องช่วยกัน

            ดังนั้น กับคำถามที่ว่า “เวียดนามจะแซงหน้าไทย จริงหรือ !!? ” นั้น ผมมั่นใจว่า เขาทำได้แน่ ถ้าเรายังย่ำอยู่กับที่และไม่พัฒนาตนเอง แต่หากเราจะก้าวไปข้างหน้า เราทุกคนก็ต้องช่วยกัน และไม่ต้องไปเสียเวลาโทษใครคนใดคนหนึ่ง เพราะการปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จได้นั้น  จำเป็นจะต้องอาศัยคนทุกคน จากทุกภาคส่วนของประเทศ ร่วมใจกันเห็นคุณค่าและความสำคัญของการศึกษา ร่วมมือกันปรับปรุงจุดอ่อนและทำหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบให้ดีที่สุด และช่วยดึงเด็กและเยาวชนยุคใหม่ของเรา ให้หันมาใส่ใจ รู้คิดและวางแผนชีวิตตั้งแต่เด็กเล็ก พยายามใช้เวลาให้เป็นประโยชน์เพื่ออนาคตของตนเอง สังคม และประเทศชาติ ซึ่งหากทำได้เช่นนี้ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศให้ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน 

หมายเหตุ บทความนี้ ตีพิมพ์ในวารสาร สควค.ฉบับที่ 7 สนใจคลิกที่ >> วารสาร สควค. ฉบับที่ 7 (เมษายน-มิถุนายน 2551)

Exit mobile version