ผ้าป่ากับภาษี บริจาคเงินให้สถานศึกษา บริจาคเงินให้โรงเรียน เงินสนับสนุนการศึกษา ลดหย่อนภาษีได้สองเท่า ทำยังไง

phapa-nkw

เงินบริจาคผ้าป่าเพื่อการศึกษา สามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้ ได้หรือไม่ ??
เงินผ้าป่ากับเงินภาษี … หาคำตอบด้วยตัวคุณเองที่นี่ 

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษา
——————————————–

               อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓ และมาตรา ๔ แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๕๘) พ.ศ. ๒๕๕๖ อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษา ดังต่อไปนี้

               ข้อ ๑ ให้ยกเลิกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๒๔๑) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษา ลงวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖

               ข้อ ๒ ในประกาศนี้
                        “สถานศึกษา” หมายความว่า สถานศึกษาของรัฐ โรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

               ข้อ ๓ การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดา สำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษา ตามมาตรา ๓ (๑) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๕๘) พ.ศ. ๒๕๕๖ จะต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้น

               ข้อ ๔ การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษา ตามมาตรา ๓ (๒) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๕๘) พ.ศ. ๒๕๕๖ จะบริจาคเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าก็ได้ กรณีบริจาคเป็นทรัพย์สินหรือสินค้า ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้
                        (๑) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจัดหาทรัพย์สินหรือสินค้ามาเพื่อการบริจาค ต้องมีหลักฐานการได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือสินค้าที่ระบุจำนวนและมูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้านั้น โดยให้ถือว่ามูลค่าตามหลักฐานดังกล่าว เป็นมูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้าที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้
                        (๒) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลบันทึกบัญชีทรัพย์สินที่จะนำมาบริจาคดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ให้ถือเอามูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือจากการคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน เป็นมูลค่าของทรัพย์สินที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้
                        (๓) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นผู้ผลิตสินค้าเพื่อขายหรือเป็นผู้ขายสินค้า ให้ถือเอามูลค่าต้นทุนของสินค้าดังกล่าวที่สามารถพิสูจน์ได้ เป็นมูลค่าของสินค้าที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้

               ข้อ ๕ ผู้ที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษาตามข้อ ๓ และข้อ ๔ ต้องมีเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้ จากสถานศึกษา พร้อมให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้
                        (๑) กรณีบริจาคเป็นเงิน ได้แก่ ใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานอื่นเป็นหนังสือที่ออกโดยสถานศึกษาผู้รับบริจาค เช่น หนังสือขอบคุณ ใบประกาศเกียรติคุณ ใบอนุโมทนาบัตร ซึ่งหลักฐานดังกล่าวต้องระบุจำนวนเงินที่ได้บริจาคและสามารถพิสูจน์การรับบริจาคจากผู้บริจาคได้ โดยมีการรับรองอย่างชัดแจ้งจากสถานศึกษาว่าได้รับบริจาคจริง
                        (๒) กรณีบริจาคเป็นทรัพย์สินหรือสินค้า ได้แก่ หลักฐานเป็นหนังสือที่ออกโดยสถานศึกษาผู้รับบริจาคซึ่งพิสูจน์ได้ว่าได้บริจาคทรัพย์สินหรือสินค้าให้แก่สถานศึกษา เช่น หนังสือขอบคุณ ใบประกาศเกียรติคุณ ใบอนุโมทนาบัตร ซึ่งหลักฐานดังกล่าวได้ระบุมูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้านั้นตามหลักเกณฑ์ในข้อ ๔

               ข้อ ๖ บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษา ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๕๘) พ.ศ. ๒๕๕๖ ต้องไม่นำเงินบริจาคที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นั้น ไปหักลดหย่อนสำหรับเงินบริจาคตามมาตรา ๔๗ (๗) แห่งประมวลรัษฎากร หรือต้องไม่นำเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นั้นไปหักเป็นรายจ่ายตามมาตรา ๖๕ ตรี (๓) แห่งประมวลรัษฎากร

               ข้อ ๗ การยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่สถานศึกษา ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๕๘) พ.ศ. ๒๕๕๖ ผู้ที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีดังกล่าวจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือที่ออกโดยสถานศึกษาผู้รับบริจาคซึ่งพิสูจน์ได้ว่าได้บริจาคทรัพย์สินหรือสินค้าให้แก่สถานศึกษา เช่น หนังสือขอบคุณ ใบประกาศเกียรติคุณ ใบอนุโมทนาบัตร ซึ่งหลักฐานดังกล่าวได้ระบุมูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้านั้นตามหลักเกณฑ์ในข้อ ๔ พร้อมให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

               ข้อ ๘ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖

สาธิต รังคสิริ
(นายสาธิต รังคสิริ)
อธิบดีกรมสรรพากร

——————————————-การบริจาคเงิน กับการลดหย่อนภาษี—————————————

พิเศษ : การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนสองเท่า กรณีบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษา ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ดังนี้

1. ต้องเป็นการบริจาคให้กับสถานศึกษาตามรายชื่อสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนด และไม่เป็นการบริจาคเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่อผู้ใดโดยเฉพาะ
ตัวอย่างเช่น การจ่ายค่าเทอมของผู้มีเงินได้หรือบุตร การซื้อวัสดุอุปกรณ์ ตำราเรียน ของผู้มีเงินได้หรือบุตร หรือ ค่าเล่าเรียนพิเศษบุตร เป็นต้น

2. เงินที่บริจาคนำไปยกเว้นภาษีเงินได้ เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่าย แต่ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมิน

3. การบริจาคให้แก่สถานศึกษา ต้องเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับรายการ ดังต่อไปนี้
        3.1 จัดหาหรือจัดสร้างอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือที่ดิน ให้แก่ สถานศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา
        3.2 จัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึกษา แบบเรียน ตำรา หนังสือวิชาการ สื่อ และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาตลอดจนวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กับการศึกษา
        3.3 จัดหาครู อาจารย์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา การประดิษฐ์ การพัฒนา การค้นคว้า หรือการวิจัย สำหรับนักเรียน นิสิต หรือ นักศึกษาของสถานศึกษา

4. ต้องมีหลักฐานจากสถานศึกษา เป็นใบเสร็จรับเงินของสถานศึกษาเท่านั้น โดย “ สถานศึกษาต้องระบุ คำว่า “เงินบริจาคเพื่อ…. 3.1, 3.2, 3.3 เพื่อ สนับสนุนการศึกษา ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2547 ” ซึ่งให้เป็นส่วนกลางของสถานศึกษา นั้น

5. หากเป็นการบริจาคให้แก่สถานศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ ที่นอกเหนือจาก ข้อ 3.1 3.2 และ 3.3 ให้นำไปหักลดหย่อนได้ ตามมาตรา 47(7)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร

ท่านสามารถค้นหารายชื่อสถานศึกษาตามข้อ 1 จากเว็บไซต์ กรมสรรพากร www.rd.go.th > อ้างอิง > ประมวลรัษฎากร >ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร แล้วคลิกที่รายชื่อสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศ หรือสอบถามได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่(ทุกพื้นที่)/สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา(ทุกสาขา) หรือ >> [พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2547]

อ่านมาถึงจุดนี้ ผมสรุปง่ายๆ ให้ทราบเลยว่า เกียรติบัตร ใบอนุโมทนาบัตร ใบประกาศเกียรติคุณ ใบเสร็จรับเงิน ที่สถานศึกษาออกให้เรา กรณีที่บริจาคเงินให้สถานศึกษา เช่น มอบเงินผ้าป่าเพื่อการศึกษา ที่มีการระบุว่า “…บริจาคเพื่อการศึกษา” ตามโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบและเป็นค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดไว้ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 420) พ.ศ.2547 สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สองเท่าของยอดเงินที่บริจาค ครับ 

ที่มา : http://www.rd.go.th/publish/48725.0.html



Leave a Comment