“… คนเรานั้นจะต้องมี นวัตกรรม คือต้อง innovative หรือต้องรู้จักสร้างสรรค์ ต้องมีความพร้อมที่จะก้าว ไปข้างหน้า ปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ว่าก็ต้องสามารถปรับโลกให้เหมาะสม สอดคล้องกับความเป็นอยู่หรือความพอใจความสุขสบายของตัวเองเหมือนกัน ต้องแก้ ปัญหาด้วยความคิด พอทางหนึ่งตันก็ต้องหาทางใหม่ ไม่งอมืองอเท้า ยิ่งใน ภาวะวิกฤต ยิ่งต้องการนวัตกรรม ซึ่งไม่เฉพาะแต่นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเท่านั้น หากแต่เป็นนวัตกรรม ของทั้งระบบโดยรวม ตั้งแต่สังคม เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรม…”
สำหรับนวัตกรรมทางการศึกษานั้น สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดทำโครงการหนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษาทุกแห่งในการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ วิธีการใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน พัฒนาเป็นนวัตกรรมการศึกษาที่มีคุณภาพเหมาะกับบริบทของโรงเรียน เพื่อปรับปรุงหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การจัดการเรียนการสอน และการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียน
ประเภทของนวัตกรรมตามขอบข่ายของ สพฐ. มี 4 ประเภท ดังนี้
1. นวัตกรรมด้านการบริหารจัดการโรงเรียนให้มีคุณภาพ เช่น รูปแบบ/วิธีการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนในชุมชนแออัด โรงเรียนที่ขาดแคลนครู โรงเรียนที่มีเด็กพิการหรือเด็กด้อยโอกาส โรงเรียนในเมืองที่มีนักเรียนจำนวนมาก เป็นต้น
2. นวัตกรรมด้านการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ เช่น เทคนิค วิธีการสอนแบบคละชั้น การจัดหลักสูตร ชุดการสอน บทเรียนโปรแกรม การผลิตสื่อการเรียนการสอน คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) e-Learning เทคนิควิธีการสอนแบบใหม่ ๆ ที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ วิธีการวัดและประเมินผล เป็นต้น
3. นวัตกรรมด้านการพัฒนานักเรียนให้เป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม เช่น รูปแบบ วิธีการ กิจกรรมการพัฒนานักเรียนที่เน้นคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ รูปแบบ/เทคนิค วิธีการ หรือกระบวนการจัดค่ายสร้างเสริมพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม รูปแบบ/วิธีแบบฝึกอบรม เพื่อปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมเป็นต้น
4. นวัตกรรมด้านอื่น ๆ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน เช่น สื่อการเรียนการสอนที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ การผลิตหุ่นยนต์เพื่อการเรียนรู้ เทคโนโลยีชีวภาพที่ใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งเทคนิค วิธีการที่ทำให้นักเรียนค้นพบวิธีการเรียนรู้ของตนเอง การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมสุขภาพ เป็นต้น
สำหรับบทความนี้ ขอกล่าวถึงเฉพาะการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน ซึ่งประกอบด้วยการดำเนินการ 2 ขั้นตอนหลัก คือ การคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมและนำนวัตกรรมที่คิดค้นได้ไปพัฒนาผู้เรียนให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีกระบวนการพัฒนางานทั้งระบบ 7 ขั้นตอนดังนี้
1. การศึกษาปัญหาการเรียนการสอน โดยพิจารณาว่ามีเรื่องใดที่ยังมีปัญหา จำเป็นต้องปรับปรุง แก้ไข หรือพัฒนาให้มีคุณภาพตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ โดยดูจาก
1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
2) ผลการตรวจผลงาน หรือแบบฝึกหัด
3) ผลจากการทดสอบความรู้และทักษะการเรียนรู้
4) บันทึกผลการสอนหลังสอนในแผนการจัดการเรียนรู้
เมื่อพบปัญหาแล้ว ก็หาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร ซึ่งอาจเกิดจากตัวครู ผู้เรียน สื่อหรือวิธีสอน ฯลฯ แล้วนำมาจัดลำดับความสำคัญเพื่อดำเนินการพัฒนา เช่น ปัญหาคือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ สาเหตุคือ ขาดสื่อที่ดึงดูดความสนใจ จึงจัดทำสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน(CAI) เป็นนวัตกรรมการเรียนการสอน เป็นต้น
2. การจัดทำนวัตกรรม โดยมีขั้นตอนการสร้าง ดังนี้
1) วิเคราะห์หลักสูตร
2) ศึกษาหลักการ แนวคิด ทฤษฎีและผลงานที่เกี่ยวข้อง
3) จัดทำโครงสร้างและสร้างนวัตกรรมตามโครงสร้างและขั้นตอนที่กำหนด
4) นำนวัตกรรมที่สร้างขึ้นไปหาคุณภาพและประสิทธิภาพ
3. การจัดทำเครื่องมือประเมินคุณภาพและประสิทธิภาพของนวัตกรรม โดยดำเนินการดังนี้
1) ศึกษาวัตถุประสงค์ของนวัตกรรมที่สร้างขึ้น
2) กำหนดเครื่องมือที่ต้องใช้ประกอบการประเมินคุณภาพและประสิทธิภาพของนวัตกรรม
3) ออกแบบและสร้างเครื่องมือ โดยผ่านการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญ
4) ศึกษาคุณภาพและประสิทธิภาพของเครื่องมือ
5) จัดทำเป็นเครื่องมือฉบับจริง
4. การทดลองหาคุณภาพและประสิทธิภาพของนวัตกรรม
4.1 การหาคุณภาพของนวัตกรรม ดำเนินการดังนี้
1) กลั่นกรองเบื้องต้นโดยให้ผู้เรียนและครูผู้สอนในกลุ่มสาระอ่านเพื่อตรวจสอบดูว่ามีข้อบกพร่องที่ใดบ้าง แล้วนำข้อบกพร่องมาปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม
2) นำนวัตกรรมที่ปรับปรุงแก้ไขเรียบร้อยแล้วให้ผู้เชี่ยวชาญ 3 – 5 คน ประเมินเพื่อตรวจสอบคุณภาพ และให้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงนวัตกรรมให้มีคุณภาพสูงขึ้น
3) วิเคราะห์ผลการประเมินของผู้เชี่ยวชาญเพื่อดูว่านวัตกรรมมีคุณภาพอยู่ในระดับใด และปรับปรุงข้อบกพร่องในกรณีที่ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ข้อเสนอแนะ
4) จัดทำนวัตกรรมที่พร้อมสำหรับนำไปทดลองใช้เพื่อศึกษาประสิทธิภาพต่อไป
4.2 การหาประสิทธิภาพของนวัตกรรม ดำเนินการดังนี้
1) นำนวัตกรรมที่ผ่านการตรวจสอบและประเมินคุณภาพของผู้เชี่ยวชาญแล้ว ไปทดลองใช้กับผู้เรียนที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับกลุ่มเป้าหมายของการแก้ปัญหาหรือพัฒนา ตามรูปแบบและวิธีการที่กำหนด
2) นำผลการทดลองมาคำนวณหาประสิทธิภาพของนวัตกรรมโดยใช้สูตร E1/ E2
5. การนำนวัตกรรมไปใช้แก้ปัญหา/พัฒนาผู้เรียน โดยนำไปใช้แก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียนที่เป็นประชากร หรือกลุ่มตัวอย่างของการแก้ปัญหา/พัฒนา
6. การเขียนรายงานผลการพัฒนานวัตกรรม เป็นการนำผลการดำเนินการสร้างและทดลองใช้นวัตกรรมทุกขั้นตอนมาเขียนเพื่อแสดงถึงคุณภาพและประสิทธิภาพของนวัตกรรมว่ามีมากน้อยเพียงใด โดยใช้แนวเดียวกับการเขียนรายงานการวิจัย 5 บท
7. การเผยแพร่ผลการพัฒนานวัตกรรม หลังจากพิสูจน์ผลชัดเจนว่านวัตกรรมที่คิดค้นและพัฒนานั้น สามารถแก้ปัญหาและพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างแท้จริงและได้นำเสนอผลการทดลองใช้ออกมาเป็นรายงานที่ถูกต้องแล้ว ควรเผยแพร่ผลการพัฒนาอย่างกว้างขวางเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการศึกษา การพัฒนาผู้เรียน และการสร้างความก้าวหน้าให้เกิดขึ้นในวิชาการ โดยการจัดนิทรรศการแสดงผลงาน เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อครูส่งนวัตกรรมการเรียนการสอนเข้าประกวด คณะกรรมการประเมิน จะมีหลักการประเมินความเป็นนวัตกรรม ดังนี้
1. เป็นผลงานที่เกิดจากแนวคิด วิธีการ กระบวนการใหม่ ๆ หรือ องค์ความรู้ใหม่ที่ยังไม่เคยมีหรือปรากฏที่ใดมาก่อน
2. เป็นผลงาน วิธีการ หรือกระบวนการที่มีอยู่แล้วแต่นำมาปรับปรุงหรือพัฒนาหรือใช้วิธีการใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีใครทำแต่ได้ผลดียิ่งกว่าผลงานเดิม
3. ต้องมีกระบวนการวิจัยในการพัฒนาอย่างเป็นระบบ น่าเชื่อถือ
4. เป็นผลงานที่ไม่ชี้นำหรือขัดต่อศีลธรรม วัฒนธรรมและขนมธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย
5. มีผลโดยตรงต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
6. มีคุณภาพ 4 ด้าน คือ
6.1 กระบวนการพัฒนา (เป็นระบบ, ริเริ่มสร้างสรรค์, ปัจจุบัน ทันสมัย, การมีส่วนร่วม)
6.2 มีความสมบูรณ์ ถูกต้อง (มีแนวคิด ทฤษฎี หลักการอ้างอิงได้ , ผลงานตรงตามวัตถุประสงค์และ เป้าหมายในการพัฒนา)
6.3 มีความคุ้มค่าในการพัฒนานวัตกรรม (สอดคล้องกับสภาพปัญหาและบริบทของโรงเรียน, ใช้ทรัพยากรคุ้มค่าแต่เกิดประโยชน์สูงสุด, สามารถแก้ปัญหาหรือพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ, ขยายผลได้กว้างขว้าง)
6.4 มีประโยชน์ในการนำไปใช้จัดการเรียนการสอน ต่อนักเรียน วิชาชีพครู โรงเรียน หน่วยงานทางการศึกษา สังคม ชุมชนและท้องถิ่น