Anantasook.Com

ประวัติบ้านธาตุ ตำบลธาตุ อำเภอรัตนบุรี [จากนครธีตา สู่ชุมชนบ้านธาตุ และประวัติการตั้งเมืองรัตนบุรี]

ban-that                บ้านธาตุ  ตำบลธาตุ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ อยู่ห่างจากอำเภอรัตนบุรี ไปตามเส้นทางสายรัตนบุรี-ศรีสะเกษ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข  ๒๐๗๖ ประมาณกิโลเมตรที่ ๘ เคยเป็นเมืองเก่าแก่มาแต่โบราณ ซึ่งมีหลักฐานปรากฏให้เห็นอยู่จนถึงปัจจุบันนี้  คือ
          ๑. กำแพงเมือง คูเมือง ซึ่งเป็นแบบโบราณล้อมรอบบ้านธาตุทางทิศตะวันตกและทิศใต้
          ๒. บึง หรือหนองน้ำ ซึ่งขุดด้วยมนุษย์ ล้อมรอบบ้านธาตุ ทางทิศเหนือและตะวันออก ( ปัจจุบัน คือ หนองบัว-หัวช้าง หนองเบือก หนองแก หนองกอลอ  ฯลฯ  )
          ๓. ประตูเมือง ซึ่งเป็นทางเข้า – ออก ๔ ด้าน คือ ประตูด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันตก ตามสภาพที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน
          ๔. เขตพระราชวัง ( โฮง ) ซึ่งเป็นที่อยู่ของเจ้าเมือง ( คือ บริเวณตะวันตกวัดโพธิ์ศรีธาตุในปัจจุบัน )
          ๕. สถานที่ประกอบศาสนกิจหรือพิธีกรรมตามความเชื่อ คือ  “ วิหาร ” หรือ  “ เจดีย์ ” หรือ “ ธาตุ ” หรือ “ เทวสถาน ”  ( บริเวณวัดโพธิ์ศรีธาตุ ซึ่งได้แก่  ธาตุ หิน ที่ก่อด้วยศิลาแลงหินทราย ในปัจจุบันทางวัดได้ใช้เป็นฐานในการสร้างพระธาตุมณฑป )
          นอกจากนี้ ยังมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบและเป็นเนินดิน มีคูน้ำล้อมรอบและมีหมู่บ้านกระจัดกระจายโดยรอบเป็นทุ่งนากว้าง จากหลักฐานเหล่านี้จึงน่าเชื่อได้ว่า …
          บ้านธาตุ เดิมเป็นเมืองของขอมโบราณ ชื่อว่า “นครธีตา” บ้างก็ว่า “นครจำปา” ซึ่งมีอายุนับได้พันปีมาแล้ว ต่อมาอาจมีข้าศึกจากเมืองอื่น ยกทัพมารุกราน ทำลาย หรือเกิดโรคระบาด จนทำให้ผู้คนอพยพหนีจากไป จนกลายเป็นเมืองร้าง และปราศจากการครอบครองของอาณาจักรใดๆ ในสมัยนั้น เสมือนหนึ่ง เป็นดินแดนตกสำรวจอยู่เป็นเวลานาน แม้ในสมัยสุโขทัย หรืออยุธยาตอนต้นหรือตอนกลาง ก็มิได้มีหลักฐานใดๆ ที่กล่าวถึงดินแดนแถบนี้บ้างเลย (ต่อมาช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา เรียกดินแดนแถบนี้ว่า “เขมรป่าดง”)
          สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ( ในราวปี พ.ศ. ๒๒๐๐ ) ได้มีชนพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งซึ่งสืบเชื้อสายมาจากขอม ต่อมาเรียกกันว่า พวกข่า ส่วย กวย (กูย) ที่อยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแถบเมืองอัตปือ แสนแป ในแคว้นจำปาสัก ตอนใต้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ปัจจุบัน คนกลุ่มนี้ มีความรู้ ความสามารถในการจับช้างมาเลี้ยงไว้ใช้งาน ได้พากันอพยพข้ามลำน้ำโขงมาฝั่งขวา มุ่งหน้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตพื้นที่ของจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษปัจจุบัน  
          การอพยพคราวนั้น ได้แยกย้ายออกเป็น ๖ กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มมีหัวหน้า ( หัวโป่ ) คณะนำมาดังนี้
          กลุ่มที่ ๑ มีหัวหน้าชื่อ เชียงปุม มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านโคกเมืองที ( บ้านเมืองที ตำบลเมืองที อำเภอเมืองสุรินทร์ในปัจจุบัน )
          กลุ่มที่ ๒ มีหัวหน้าชื่อ  เชียงไชย มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านกุดปะไท ( บ้านจารพัตร อำเภอศรีขรภูมิจังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบัน )
          กลุ่มที่ ๓ มีหัวหน้าชื่อ เชียงขันและตากะจะ ( บิดาเชียงขัน ) มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านโคกลำดวน( อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน )
          กลุ่มที่ ๔ มีหัวหน้าชื่อ เชียงฆะ ( ขะ ) มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านอัจจะปะนึง หรือ บ้านโคกอัจจะหรือบ้านโคกยาง ( บ้านสังขะ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบัน )
          กลุ่มที่ ๕ มีหัวหน้าชื่อ เชียงสง มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านเมืองลีง ( ตำบลเมืองลีง อำเภอ  จอมพระ  จังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบัน )
          กลุ่มที่ ๖ มีหัวหน้าชื่อ เชียงสี มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองร้างแห่งหนึ่งซึ่งอุดมสมบูรณ์ บริเวณนั้นคือ ที่ตั้งบ้านธาตุ ตำบลธาตุ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบัน 
          ชุมชนทั้ง ๖ กลุ่ม มีหัวหน้าปกครองแบบพ่อบ้านและต่างก็ปกครองกันเองฉันท์พี่น้องอย่างอิสระ ไม่ขึ้นกับหัวเมืองใด และทำมาหากินด้วยการทำนา ล่าสัตว์ เก็บของป่า และเลี้ยงช้างสืบต่อกันมาอย่างสงบสุข
          เชียงสี  เป็นผู้มีวิชาอาคมแก่กล้าสามารถผาบและผูกมัดคน ผี และสัตว์ร้ายได้
          บริเวณที่เชียงสีตั้งบ้านเรือนอยู่ในช่วงแรกนั้นแบ่งเป็นคุ้ม เชียงสีเองก็อยู่คุ้มบ้านไม้หลี่ ( ตะวันออกวัดโพธิ์ศรีธาตุ ) เชียงสีหาเลี้ยงชีพด้วยการทำไร่และออกไปทำไร่ปลูกข้าวในที่ห่างไกลบ้าน เมื่อออกจากบ้านไปไร่ เชียงสีจะเอาเต่าไปเป็นอาหาร โดยเจาะกระดองเต่าผูกหาบคอน ( คู่ ) กับหม้อข้าวเป็นประจำ ชาวบ้านจึงเรียก “ เชียงสีคอนเต่า
          ต่อมา เชียงสี ครอบครัวและชาวบ้าน ได้อพยพย้ายหมู่บ้านจากบ้านไม้หลี่ ( บ้านธาตุ ) ไปตั้งหมู่บ้านใหม่ที่ “บ้านกุดหวาย” หรือ “บ้านเมืองเตา” ก่อนจะร่วมกันสร้างวีรกรรมตามจับ พระยาช้างเผือก ถวายพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา และได้บุกเบิกสร้างบ้านแปงเมือง บ้านกุดหวาย เป็น “รัตนบุรี”  ในเวลาต่อมา
          อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เชียงสี ครอบครัวและชาวบ้านได้อพยพจากบ้านไม้หลี่ (บ้านธาตุ) บ้านธาตุก็เป็นเมืองร้างอีกครั้ง จนต่อมามีลาวกลุ่มหนึ่ง อพยพจากบ้านน้ำคำ เขตเมืองยโสธร พบบริเวณที่อุดุมสมบูรณ์แห่งนี้ จึงได้จัดตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัย แล้วเรียกชื่อว่า “บ้านธาตุ” ตามชื่อธาตุหินที่มีอยู่ ได้สร้างวัดขึ้นบริเวณธาตุหินและให้ชื่อว่า “วัดโพธิ์ศรีธาตุ” และบูรณปฏิสังขรณ์มาจนถึงทุกวันนี้ โดยชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดให้มีงานไหว้พระธาตุ และงานแสดงแสง สี เสียง “ประวัติศาสตร์ นครธีตา-บ้านธาตุ-เมืองรัตนบุรี” โดยกำหนดงานบุญ ๓-๕ วันในช่วงงานบุญเดือนสาม วันมาฆบูชา (ราวเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี) ส่วนงานเฉลิมฉลองการสร้างเมืองรัตนบุรี หรืองาน “ไหว้เจ้าพ่อศรีนครเตาท้าวเธอ” เจ้าเมืองรัตนบุรีคนแรก นั้นกำหนดช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี หลังจากงานแสดงช้างจังหวัดสุรินทร์

Exit mobile version