Anantasook.Com

[เที่ยวสกลนคร] ปราสาทภูเพ็ก ปราสาทสุริยะปฏิทิน และตำนานอุรังคนิทานปราสาทอรดีมายา แข่งขันรังสรรค์ศิลป์

ปราสาทภูเพ็ก หรือ พระธาตุภูเพ็ก เป็นโบราณสถานปราสาทขอมขนาดใหญ่ ก่อสร้างด้วยหินทราย ตั้งอยู่บนยอดเขาที่ชื่อภูเพ็ก สูงจากระดับน้ำทะเล 520 เมตร สูงกว่าปราสาทหินพนมรุ้ง (350 เมตร) และปราสาทนครธม ของกัมพูชา (209 เมตร) ตั้งอยู่ที่บ้านภูเพ็ก ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร บริเวณเส้นรุ้ง 17.19 องศาเหนือ และเส้นแวง 103.94 องศาตะวันออก ห่างจากตัวเมืองสกลนครทางรถยนต์ 37 กิโลเมตร  โดยมาทางถนนหลวงแผ่นดินหมายเลข 22 สายนครพนม – อุดรธานี ถึงกิโลเมตรที่ 138 เลี้ยวซ้ายเข้าไปทางถนนลาดยางผ่านบ้านนาหัวบ่อ เข้าถึงเชิงภูเขาและเดินขึ้นบันไดอีก 491 ขั้น ถึงตัวปราสาท
                ตัวปราสาทตั้งอยู่บนฐานยกสูง ตอนหน้าของปราสาทมีฐานหินเป็นก้อนเรียงซ้อน ๆ กัน ยื่นออกคล้ายกากบาท เรียกว่า โคปุระ สูงกว่าฐานของเรือนฐานเล็กน้อย ตัวเรือนธาตุทั้งสี่ด้านย่อมุม ๆ ละ 5 เหลี่ยม รวมเป็น 20 เหลี่ยม ความกว้างของปราสาทโดยรอบกว้างด้านละ 11 เมตร มีชานเป็นพื้นที่กว้างพอสมควร ความสูงจากพื้นดินถึงฐานชั้นที่ 1 สูง 1.58 เมตร จากฐานชั้นที่ 1 ถึงฐานชั้นที่ 2 สูง .70 เมตร ตัวเรือนปราสาททั้ง 3 ด้าน คือ ทิศเหนือ, ทิศใต้ และทิศตะวันตก บริเวณโดยรอบพบ สระน้ำโบราณและแหล่งสกัดหินในการสร้างปราสาท หน้าอาคารปราสาทหันไปทางทิศตะวันออก และมีบันไดหินก่อปูนขึ้นบนยอดเขาประมาณ 491 ขั้น ตามตำนานสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยเดียวกับพระธาตุนารายณ์เจงเวง และมีตำนานเกี่ยวเนื่องกับปราสาททั้งสองแห่ง

                อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่าปราสาทภูเพ็ก มีลักษณะ เป็น “ปราสาทสุริยะปฏิทิน” (ปฏิทินมหาศักราชของขอมโบราณ) ที่ใช้ความรู้ทางดาราศาสตร์เข้ามาช่วยในการคำนวณหาวันสำคัญที่จะประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ จากตำแหน่งของดวงอาทิตย์ที่เคลื่อนที่ไปยังราศีต่างๆ โดยมีแนวแกนหลักของปราสาทวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ ตะวันออก ตะวันตกในวันวิษุวัต อันสร้างขึ้นบนฐานความรู้ เรื่อง เขาพระสุเมรุ ตามคติในศาสนาพราหมณ์ที่ถือว่าเป็นศูนย์กลางของโลกและจักรวาล นอกจากนี้ ปราสาทภูเพ็กกับปราสาทนครวัดและนครทม ซึ่งเป็นราชธานีของอาณาจักรขอมโบราณในประเทศกัมพูชา ตั้งอยู่บนเส้นตรงเดียวกันในแนวทิศเหนือ-ใต้ ณ เส้นแวง 103.9 องศาตะวันออก จึงถูกใช้เป็นสถานที่พิสูจน์ความเชื่อ เรื่อง วันสิ้นโลก ในปลายปี พ.ศ. 2555


จากการสำรวจของชมรมพยัคฆ์ภูเพ็ก พบว่าปราสาทแห่งนี้มีสิ่งก่อสร้างมากมาย เป็นผังเมืองที่ชัดเจน อาทิเช่น ฝายขอมโบราณแห่งเดียวในประเทศไทยที่สร้างอยู่บนภูเขา สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 300 เมตร คาดว่าเป็นฝายที่สร้างสำหรับเก็บน้ำไว้บริโภคอุปโภคของผู้คนในสมัยนั้น มีการเรียงตัวของหินแบบการสร้างฝายอย่างชัดเจน หินที่เป็นส่วนหนึ่งของฝายโบราณมีรากไม้ล้อมรอบ ซึ่งเป็นจุดที่มีความสวยงามแปลกตาและมหัศจรรย์อีกจุดหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีแหล่งตัดหินหลายแห่ง ที่อยู่บริเวณด้านล่างก่อนลำเลียงหินขึ้นไปสร้างเป็นตัวปราสาท บันไดขอมโบราณขึ้นสู่ตัวปราสาท ที่มีจำนวน 491 ขั้น (บ้างก็ว่า 495 ขั้น) จากการพิสูจน์หลักฐานทางประวัติศาสตร์เชื่อว่าปราสาทนี้สร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งบ่งบอกถึงสาเหตุหรือเรื่องราวในยุคนั้นว่า อาจจะมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หรือเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับการปกครองเกิดขึ้นในยุคนั้น ส่งผลให้ไม่สามารถสร้างต่อจนแล้วเสร็จ

                  ปราสาทภูเพ็กยังมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับอุรังคนิทาน ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้บันทึกไว้ว่าเป็น “ตำนานอุรังคนิทานปราสาทอรดีมายา” (เรื่องราวเกี่ยวกับการแข่งขันกันสร้างปราสาทระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงสาวใช้กลอุบายแต่งกายยั่วยวนทำให้ชายหนุ่มหลงไหลจนทำให้ฝ่ายชายสร้างปราสาทไม่เสร็จ) ซึ่งจังหวัดสกลนคร ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสกลนคร ชมรมพยัคฆ์ภูเพ็ก และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครพนม จะมีการจัดการแสดงแสง สี เสียงและนาฏกรรมพื้นบ้าน “อรดีมายา… ตำนานปุฮาณปราสาทภูเพ็ก” ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 20-21 ธันวาคม 2556 ณ ปราสาทภูเพ็ก อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร  เพื่อประชาสัมพันธ์ปราสาทภูเพ็กให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ ที่ให้ความรู้ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมประเพณี ผู้สนใจสามารถ โทรสอบถามรายละเอียดได้ที่ 042-744-009 (http://lac.snru.ac.th)

หมายเหตุ :: ผู้สนใจอ่านความเป็นมาของปราสาทภูเพ็กเพิ่มเติม ได้ที่นี่
http://www.yclsakhon.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=358217

Exit mobile version