Anantasook.Com

โรค NCDs โรคร้ายที่มาจากการใช้ชีวิต กลุ่มโรคไม่ติดต่อ วิธีหนีโรควิถีชีวิต ลดความเสี่ยงโรคที่ตัวเราสร้างขึ้นเอง

NCDsโรค NCDs คืออะไร : โรค NCDs ย่อมาจากคำว่า “Non-communicable diseases” หมายถึง กลุ่มโรคไม่ติดต่อ ที่ไม่สามารถแพร่กระจายโรคจากคนสู่คนได้ โดยทั่วไปอาจเรียกว่า “กลุ่มโรคเรื้อรัง” ซึ่งหมายถึงโรคที่เกิดต่อเนื่องยาวนาน และมีการดำเนินของโรคเป็นไปอย่างช้าๆ ซึ่งแตกต่างจากโรคติดเชื้อส่วนใหญ่ ที่มักมีการดำเนินโรคอย่างรวดเร็ว โรคเอ็นซีดี เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่สมดุล  ทั้งการกิน  นอน  พักผ่อน  ออกกำลังกาย และการทำงาน ทั้งนี้คนทั่วไปมักเข้าใจว่า โรค NCDs เป็นโรคของคนแก่ เพราะอาการของโรคมักเกิดขึ้นตอนสูงอายุ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงสะสมในช่วงวัยหนุ่มสาว เมื่อสูงอายุ โรคก็จะระเบิดออกมา เมื่อถึงเวลานี้ก็ยากเกินจะเยียวยาแล้ว

กลุ่มโรค NCDs ที่สำคัญ ประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่
     1.กลุ่มโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด (รวมถึงโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง)
     2.กลุ่มโรคเบาหวาน
     3.กลุ่มโรคมะเร็ง
     4.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง (รวมถึงโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหอบหืด)

        “โรค NCDs จัดเป็นฆาตกรอันดับหนึ่ง ที่คร่าชีวิตประชากรโลกมากกว่าสาเหตุการตายอื่นๆ ทุกสาเหตุรวมกัน มากถึง 36.2 ล้านคนต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 66% ของการเสียชีวิตของประชากรโลกทั้งหมดในปี 2554 ขณะที่ในประเทศไทย กลุ่มโรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึงประมาณ 3.1 แสนคน หรือ ร้อยละ 73 ของการเสียชีวิตของประชากรไทยทั้งหมดในปี 2552”

ข้อมูลจากนิตยสาร  ชีวจิต  ฉบับที่  312  ปีที่  13   (1  ตุลาคม  2554)  หน้า  36-37  เรื่อง  “โรควิถีชีวิต  มหันตภัยร้าย  ทำลายชาติ สำหรับประเทศไทย”  ระบุว่า โรควิถีชีวิต (โรค NCDs)  5  อันดับแรกที่ทำให้เสียชีวิต  คือ   มะเร็ง   หลอดเลือดสมอง  โรคหัวใจขาดเลือด   เบาหวาน  และ  ความดันโลหิตสูง

สาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดโรค NCD
           ผลการรายงานของ แผนยุทธศาสตร์สุขภาพดี  วิถีชีวิตไทย  พ.ศ.  2554-2563  สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์  สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  พบสาเหตุหลักก่อให้เกิดโรควิถีชีวิต  คือ
           1. คนไทยประมาณร้อยละ  76  บริโภคผักและผลไม้น้อยหรือต่ำกว่าเกณฑ์ 
           2. คนไทยบริโภคน้ำตาลและเกลือโซเดี่ยม เพิ่มขึ้นมากกว่าเกณฑ์
           3. ในปี พ.ศ.  2551-2552  คนไทยที่มีอายุ  15  ปีขึ้นไป  สูบบุหรี่  12  ล้านคน  ดื่มสุรา   23  ล้านคน  และในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา  คนไทยบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น  2  เท่า
           4. ในปี พ.ศ.  2551-2552  ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนของคนไทย  ในเด็ก  1.6  ล้านคน และผู้ใหญ่   17.6  ล้านคน  มีการใช้ยาลดความอ้วนเพิ่มขึ้น  5.5  เท่า  ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรควิถีชีวิตมาก
          5. ขาดการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม สม่ำเสมอ

การป้องกันโรค NCDs : ปรับพฤติกรรม หนีกลุ่มโรค NCDs
วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงโรค NCDs ก็ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่ลดพฤติกรรมเสี่ยงและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตให้มีความสมดุล ได้แก่ ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ งดสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ งดอาหารหวาน มัน เค็ม และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยป้องกันและบรรเทาเบาบางการเกิดโรคนี้ ช่วยยืดชีวิตของเราได้

เรียบเรียงจาก
1. http://edtech.ipst.ac.th/index.php/2011-07-29-04-02-00/2011-08-09-07-26-40/18-2011-08-09-06-29-06/401–non-communicable-diseases-ncd-.html
2. http://www.thaihealth.or.th/Content/23880-NCDs-โรคร้ายที่สร้างเอง.html

ภาพประกอบจาก :
1.http://edtech.ipst.ac.th/images/stories/article/p.jpg
2.https://fbcdn-sphotos-e-a.akamaihd.net/hphotos-ak-xap1/t1.09/1017431_333013210157275_4666936236193847157_n.png

Exit mobile version