แนวการประเมินการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มครูผู้ช่วย เริ่มจากการให้ครูผู้ช่วยได้นำเสนอผลการปฏิบัติงานตามองค์ประกอบการประเมิน/ตัวชี้วัดการประเมิน โดยใช้เพาเวอร์พอยท์ร่วมกับการจัดนิทรรศการแสดงผลงาน จากนั้น คณะกรรมการประเมินควรจะได้สอบถามเกี่ยวกับผลการปฏิบัติงานและให้ข้อแนะนำที่มีประโยชน์เพื่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ครูให้มีประสิทธิภาพ เพราะถ้า ครูผู้ช่วย เริ่มต้นในอาชีพครูได้ดี เป็นครูดี ที่มีคุณภาพ รู้ว่าต้องทำอะไร อย่างมืออาชีพ สิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นทักษะติดตัวครูตลอดไป “เมื่อครูดี มีคุณภาพ โรงเรียนก็จะมีคุณภาพ” ไปด้วย
บทบาทและหน้าที่ของครูในโรงเรียน จะต้องทำหน้าที่และรับผิดชอบ ดังนี้
(1) งานการจัดการเรียนการสอน ต้องทำหน้าที่สอนให้เต็มที่เกิดผลดีตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพ
(2) งานครูประจำชั้น/ที่ปรึกษา ต้องทำหน้าที่ครูให้บริบูรณ์ตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ
(3) งานพิเศษในโรงเรียนตามโครงสร้างการบริหารงาน ต้องทำให้เกิดผลดีต่อโรงเรียนและราชการ
(4) งานพิเศษที่ ผอ.มอบหมายโดยชอบ ต้องปฏิบัติเพื่อฝึกทักษะการทำงาน ให้เกิดผลดีต่อราชการ
นอกจากนี้ ครูต้องมีเอกสารเชิงประจักษ์ รายการต่างๆ ดังนี้
1. ครูต้องมีแผนการจัดการเรียนรู้ และมีการจัดทำ ปพ.ให้เป็นปัจจุบัน
2. ครูมีการปฏิบัติหน้าที่ครูที่ปรึกษา มีข้อมูลผู้เรียนรายคนและรายงานการเยี่ยมบ้าน
3. ครูมีผลงานการพัฒนาผู้เรียน/ ผลงานนักเรียน/ โครงงาน
4. ครูมีการรายงานการไปราชการหลังจากการกลับจากการไปราชการ
5. ครูมีรายงานการปฏิบัติงานพิเศษ เช่น งานแนะแนว งานพัสดุ งานการเงิน
6. ครูมีการปฏิบัติหน้าที่เวรประจำวัน เวรกลางคืน เวรวันหยุด และมีบันทึกการปฏิบัติหน้าที่
7. ครูมีการสรุปโครงการหรือกิจกรรมที่รับผิดชอบ เช่น โครงการแข่งขันกีฬาสี โครงการเข้าค่ายพักแรมลูกเสือ
8. ครูมีผลงานวิจัย, งานวิจัยในชั้นเรียน แบบง่ายหรือแบบรายงาน 5 บท
9. การทำแฟ้มสะสมงาน แฟ้มเกียรติบัตร แฟ้มสะสมงานตามมาตรฐาน
กล่าวโดยสรุป ครูหนึ่งคน ต้องทำหน้าที่สอนในชั้นเรียนให้เต็มที่ เป็นครูที่ปรึกษาที่ดีทุกมิติ มีผลงานการพัฒนาผู้นักเรียนที่โชว์ได้ และทำงานพิเศษในโรงเรียนให้เกิดประโยชน์ต่อราชการ เพียงเท่านี้ ก็ได้ชื่อว่า ได้ทำหน้าที่ครูอย่างครบถ้วนบริบูรณ์