ชื่ออื่นๆ : คำพอง (เหนือ), ผักชีช้าง พิมเสน (กลาง), ใบหรม (ใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Blumea balsamifer DC.
ชื่อวงศ์ : COMPOSITAE
ชื่อสามัญ : Ngai Camphor Trce.
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของหนาด
1. ต้นหนาด : เป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นความสูงประมาณ 5-6 ฟุต ทั่วลำต้นมีขนสีขาวนุ่ม ลำต้นเป็นแก่นแข็ง
2. ใบหนาด : มีลักษณะเป็นรูปยาวรี ปลายใบแหลม โคนใบเรียวแหลมเล็กน้อย ริมขอบใบหยักเป็นซี่ใหญ่ไม่เท่ากัน ขนาดของใบกว้างประมาณ 1.2-4.5 ซม. ยาวประมาณ 10-17 ซม. หลังใบและใต้ท้องใบมีขนทั้ง 2 ด้าน ในใบพบสาร cryptomeridion มีฤทธิ์ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ เช่น กล้ามเนื้อหลอดลม ถ้านำไปกลั่นด้วยไอน้ำจะได้สารระเหยง่าย
3. ดอกหนาด : ดอกออกเป็นช่อ ตามบริเวณปลายกิ่ง ลักษณะของดอกย่อยมีกลีบดอกติดกันเป็นหลอด ส่วนปลายกลีบแยกออกจากกันเป็น 5 กลีบ กลีบดอกอ่อนจะเป็นสีเหลือง แต่พวกแก่กลีบดอกก็จะเปลี่ยนกลายเป็นสีขาว
4. ผลหนาด : ผลมีลักษณะเป็นเส้นเล็ก ๆ มีเหลี่ยมอยู่ 10 เหลี่ยม ส่วนบนเป็นขนสีขาว ๆ
การขยายพันธุ์ต้นหนาด : เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่มักขึ้นตามที่กว้าง ทุ่งนา หรือหุบเขาทั่วไป ขยายพันธุ์ ด้วยการใช้เมล็ด หรือผล
สรรพคุณของหนาด แยกออกเป็นส่วนได้ คือ
1. ราก ขับลม ทำให้การไหลเวียนของเลือดดี ขับถ่ายของเสีย ท้องร่วง แก้บวม ปวดข้อ รักษาแผลฟกช้ำ แก้ปวกเมื่อยหลังคลอด
2. ใบ บำรุงกำลัง ทำให้การไหลเวียนของเลือดดี ขับน้ำคาวปลา แก้บวม แผลฟกช้ำ แก้ปวดข้อ และกระดูก แก้กลาก แก้บิด ขับลม แก้ปวดท้อง ขับพยาธิ แก้ไข้ แก้ปวดศีรษะ แก้หืด ห้ามเลือด ขับเหงื่อ ขับเสมหะ ถ้านำมาหั่นเป็นฝอยมวนกับยาฉุน สูบแก้ริดสีดวงจมูก หากใช้ผสมในน้ำอาบสมุนไพรหลังคลอด บำรุงผิวหนังให้ชุ่มชื้น แก้หิด
3. ทั้งต้น แก้ไข้ แก้เจ็บหน้าอก แก้ปวดท้อง แก้อหิวาตกโรคขับพยาธิ ลดความดันเลือด ระงับประสาท ใบ
4. ใบและยอดอ่อน ต้มกินเป็นยาแก้ไข้ ขับเหงื่อ แก้จุกเสียด แน่นเฟ้อ ปวดท้อง ขับเสมหะ แก้ริดสีดวงจมูก ขับลมในลำไส้ ขับพยาธิ แก้บิด บำรุงกำลัง หรือบดเป็นผงผสมสุรา ใช้พอกหรือทาแผลฟกช้ำ ฝี บาดแผลสด ห้ามเลือด แก้ปวดหลังเอว ปวดข้อ และแก้กลากเกลื้อน
ใบหนาด กับความเชื่อเรื่อง สมุนไพรป้องกันผีร้าย
คนสมัยก่อนนิยมปลูกหนาดไว้ในบ้าน เนื่องจากว่าใบหนาดนั้นมีสรรพคุณ ช่วย ขับลม แก้ปวดท้อง จุกเสียด ใบหนาดจะมีกลิ่นหอมเหมือนกับพิมเสน นิยมนำมาสูดดมแก้วิงเวียนศีรษะ และยังมีความเชื่อว่า ใบหนาดมีฤทธิ์ช่วยป้องกันผีร้ายไม่ให้มาหลอกหลอนคน รวมถึงเอาไปทำน้ำมนต์ ต้มน้ำอาบ ประพรมวัว ควาย กันผี เป็นต้น ทางสาธารณสุขเชื่อว่า เป็นความเชื่อบวกกับวัฒนธรรมการดูแลสุขภาพของชุมชนตามชนบทไทยในอดีต กล่าวคือ สตรีหลังคลอดมักอาบน้ำต้มใบหนาด (บำรุงกำลัง ทำให้การไหลเวียนของเลือดดี ขับน้ำคาวปลา) ถ้าบ้านไหนไม่เอาใจใส่ดูแลสุขภาพแม่หลังคลอดให้ดี ก็อาจเกิดการตกเลือดหรือไม่สบายจนตาย โดยเฉพาะสมัยก่อนเมื่อตกเลือดแล้วโอกาสเสียชีวิตมีสูงมาก เมื่อคนเสียชีวิตก็เชื่อว่าเกิดจากผีร้าย ดังนั้น บ้านไหนที่ปลูกหนาด และใช้หนาดในการดูแลสุขภาพแม่ที่คลอดลูกใหม่ๆ จึงมีโอกาสไม่ถูกผีร้ายเข้ามาเอาชีวิตได้ นั่นเอง