Anantasook.Com

ชินลง ตะกร้อพม่าโบราณ กีฬาประจำชาติพม่า ที่ผสมผสานกีฬากับการเต้นรำ [ไปเป็นเจ้าชาย ในแคว้นศัตรู]

chinlone ออกเสียงว่า “ชินลง” หรือ “ชินโลน” เป็นกีฬาโบราณที่มีมานานกว่า 1,500 ปี ของประเทศเมียนมาร์ โดยเป็นการผสมผสานกันระหว่างกีฬากับการเต้นรำ เล่นกันเป็นทีม ไม่มีคู่ต่อสู้ แต่ละท่าในการเล่นต้องผ่านการฝึกซ้อมอย่างหนักเพราะเป็นลีลาที่ยากมาก แฝงด้วยทักษะ ความสมดุล มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าเล่นเป็นทีมจะมีผู้เล่น 6 คน โดยมีหนึ่งคนอยู่ตรงกลาง คอยควบคุมเกม หากลูกตกพื้นจะเป็นลูกตาย ต้องเริ่มต้นเล่นกันใหม่ นิยมเล่นกันทั้งชายและหญิง ปัจจุบันมีการนำออกแสดงโชว์เป็นอาชีพหนึ่งอย่างแพร่หลาย

หนังสือ “ไปเป็นเจ้าชาย…ในแคว้นศัตรู” เป็นหนังสือที่ได้รับรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด รางวัลยอดเยี่ยม ประเภท “สารคดี” ประจำปี 2553 เขียนโดยคามิน คมนีย์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำความรู้เรื่อง ชินลง กีฬาประจำชาติพม่า มาเปิดเผยให้แก่สังคมไทยได้อย่างลึกซึ้งที่สุด ทั้งนี้ ผู้เขียนเผยว่า เขาเพียงอยากพิสูจน์ว่า เกร็ก แฮมิลตัน ยกย่อง “ชินลงหรือตะกร้อพม่า” เหนือ “ตะกร้อไทย” จริง หรือไม่จริง ผู้เขียนถึงกับต้องเดินทางไปยังเมืองมัณฑะเลย์ เพื่อชมการเล่นตะกร้อพม่า หรือ ชินลง ในเทศกาลวาโซชินลง กันเลยทีเดียว สิ่งที่ผู้เขียนพบเห็น ไม่เพียงแต่วัฒนธรรม วิถีชีวิต และธรรมชาติของบ้านเมือง เขายังได้สัมผัสถึง “น้ำใจ” ของผู้คนชาวพม่า ที่ออกจะภาคภูมิใจในกีฬาประจำชาติของตน และเต็มอกเต็มใจ สอนและฝึกหัด ให้แก่นักตะกร้อจากเมืองไทยคนนี้ ถึงขนาดพยายามปั้นให้คนไทยคนหนึ่งที่เล่นตะกร้อเป็นกลายเป็น “มินดา” เจ้าชายกลางวงชินลงให้ได้

ชินลง เป็นตะกร้อวง แบบเดียวกับตะกร้อวงของไทย แต่มีตัวเอกเด่นเข้าเล่นโชว์ลีลากลางวง ตำแหน่งนี้เรียวกันว่า “มินดา” ซึ่งแปลว่า “เจ้าชาย” และลีลาลูกศอก ลูกส้น ลูกเข่า บ่วงมือ ของนักตะกร้อไทยก็สร้างความแปลกตาและฮือฮาแก่ชาวพม่าเช่นกัน บรรดาชาวพม่าที่ได้เห็นลีลาของเขาแล้ว ก็ให้กำลังใจกันว่า ฝีมืออย่างนี้เป็นมินดาได้ แต่ว่า ต้องฝึกหัดท่าแม่ไม้ต่างๆ ให้ครบถ้วน ถูกต้อง และสวยงามด้วย แล้วเขาก็ได้ร่วมแสดงฝีมือในเทศกาลสำคัญครั้งนั้นด้วย หลังจากกลับจากพม่าในปีแรก คามินก็เริ่มฝึกหัดเล่นท่าแบบพม่า ตามภาพหรือวีดีโอที่ได้เห็น รวมทั้งติดต่อกับเกร็กผู้ทำให้เขาได้รู้จักชินลงผ่านอีเมล์โต้ตอบกันไปมา 

เขากลับไปพม่าในปีที่ 2 ปีที่ 3 และปีที่ 4 เพื่อเรียนรู้ ฝึกหัด และเป็น “มินดา” จนได้ เขาเดินทางไปถึงประเทศเมียร์มาร์ ได้เห็น ได้เรียนรู้ ได้ฝึกหัด และหลงรัก “ชินลง” กระทั่งหมายมั่นปั่นมือว่าจะเป็น “มินดา หรือ เจ้าชาย” เล่นกลางวงชินลงในเทศกาลประจำปีให้ได้ และนี่คือที่มาของชื่อหนังสือเล่มนี้ “ไปเป็นเจ้าชาย” ก็คือ เป็นผู้เล่นตำแหน่ง “มินดา” ตัวเอกในวงชินลง “ในแค้วนศัตรู” ก็คือ ในประเทศเมียนมาร์ ที่มีประวัติศาสตร์ด้านการรบกับไทยมายาวนานนั่นเอง

ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 27 เมื่อปี พ.ศ. 2556  “ชินลง” ได้ถูกจัดให้มีการแข่งขันชิงชัยถึง 8 เหรียญทอง โดยรูปแบบการเล่นและประเภทของการชิงชัยชินลง ในกีฬาซีเกมส์ แบ่งได้ดังนี้ 

1. ท่าพื้นฐาน 6 คน ชายและหญิง 2 เหรียญทอง แต่ละคนจะเตะคนละ 1 ท่าพื้นฐานสลับหมุนเวียนกันจนครบ 6 ท่าจึงจะได้ 1 คะแนน
2. ท่าเดียว 6 คน ชายและหญิง 2 เหรียญทอง แต่ละคนจะเตะท่าเดียวกันครบ 6 คน ได้ 1 คะแนน
3. คนเดียว 6 ท่า ชายและหญิง 2 เหรียญทอง แต่ละคนจะต้องเตะท่าพื้นฐานคนละ 6 ท่า จึงจะได้ 1 คะแนน
4. ท่ายาก 6 คน ชายและหญิง 2 เหรียญทอง แต่ละคนจะเตะท่ายากคนละ 1 ท่าสลับหมุนเวียนกันจนครบ 6 ท่าจึงจะได้ 1 คะแนน โดยทุกประเภทจะมีกำหนดเวลา 30 นาที ทีมที่จะทำคะแนนสูงสุดจะคว้าชัยชนะไปครอง

ชมคลิป : ชินลง ยอดทักษะตระกร้อพม่าโบราณ

เรียบเรียงจาก : 
1. http://www.destinythai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539241125&Ntype=19
2. http://www.soccersuck.com/boards/topic/952915
ภาพประกอบจาก :
1. http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/326/2326/images/Chinelone/001-.jpg
2. http://upic.me/i/3x/1w601.jpg

Exit mobile version