ผู้แทนนอกสภา ภาพยนตร์การเมืองที่กำกับการแสดงโดย สุรสีห์ ผาธรรม ภาพยนตร์เรื่องนี้ น่าจะสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2518-2519 ก่อนเหตุการณ์ทางการเมือง 6 ตุลาคม 2519 [ผมได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ครั้งแรกตอนผมเป็นเด็ก ราวปี พ.ศ. 2530 เพราะผู้สมัคร ส.ส. ท่านหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์ นำมาฉายหลังการปราศรัยหาเสียง จำได้ว่าครั้งนั้น ฉายที่บริเวณวัดบ้านน้อยพัฒนา ตำบลยางสว่าง อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์]
หนังการเมือง เรื่อง ผู้แทนนอกสภา อาจได้รับการสนับสนุนจากพรรคกิจสังคม ภายใต้การนำของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ฉะนั้น เราจึงจะเห็นบุคคลสำคัญหลายคนของพรรคกิจสังคม ทั้ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ นายบุญชู โรจนเสถียร นายประสิทธิ์ ณรงค์เดช อาจารย์สุเทพ อัตถากร นายโกศล ไกรฤกษ์ และท่านอื่น ๆ อีกมาก ฉากเปิดเรื่องก็เป็นฉากสุนทรพจน์ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ฯ ซึ่งอำนวยพรให้กับบรรดาสมาชิกพรรค ให้ประสบชัยชนะในการเลือกตั้ง อีกทั้งท่านยังประกาศอย่างมีความหวังว่า การเลือกตั้งที่จะมาถึงจะเป็นการเลือกแนวนโยบายพรรค มิใช่การเลือกตั้งตัวบุคคล ซึ่งจะว่าไปแล้ว พรรคกิจสังคมของคุณชายคึกฤทธิ์ฯ ก็มีแนวนโยบายเกือบจะชัดเจนกว่าพรรคการเมืองอื่นในขณะเดียวกัน โดยพรรคกิจสังคมจะทุ่มเทงบประมาณให้กับชนบทภายใต้โครงการที่เรียกว่า “เงินผัน”
ตัวเอกของหนังเป็นลูกบ้านนอกที่ประสบผลสำเร็จในการเรียนจบชั้นปริญญาตรีทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนับแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา ธรรมศาสตร์ก็มักจะเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมอยู่เสมอ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใน พ.ศ. 2518 ธรรมศาสตร์มีอธิการบดีที่ชื่อ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์
เมื่อจบการศึกษาในเมืองหลวงแล้ว ตัวเอกของเรื่องก็เดินทาง “กลับบ้าน” สู่ชนบท เพื่อรับใช้มาตุภูมิอันเป็นแนวคิดที่นิยมในเชิงอุดมการณ์ของสมัยนั้น แม้จะเป็นทนาย ก็เป็นทนายเพื่อช่วยเหลือคนยากคนจน (ความจริง ความเฟื่องฟูของนักกฏหมายในฐานะเนติบริกร ก็เริ่มจะปรากฏอยู่แล้วพอควร) และเมื่อจังหวะทางการเมืองเปิดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ทนายคนยากก็กระโดดลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. โดยมีความหวังว่า จะสามารถขยายบทบาทรับใช้ชาวบ้านได้มากขึ้น น่าสังเกตว่า อาชีพครูต่างจังหวัด ได้รับการยอมรับว่า คงจะฉ้อฉลได้น้อยกว่าอาชีพอื่น ๆ เพราะห่างไกลจากทั้งอำนาจและเงินทอง ฉะนั้น ตัวเอกจึงเลือกครูบ้านนอกเป็นคนรัก และเป็นผู้ช่วยในการแข่งขันการเลือกตั้ง
หนังสะท้อนให้เห็นทั้งความใฝ่ฝันในอุดมการณ์ของคนหนุ่มสาว ซึ่งมีทั้งนักหนังสือพิมพ์รุ่นใหม่ นักศึกษา ในขณะที่พวกนักเลือกตั้งสนใจแต่กลวิธีสารพัดที่จะหลอกเอาคะแนนเสียงจากประชาชน โดยการล่อ การหลอก ใช้เงิน-สิ่งของ ใช้อิทธิพล และประชานิยมรูปแบบต่าง ๆ พวกนักเลือกตั้งเหล่านี้มีทั้งที่เป็นพวกหัวเก่า และมีทั้งที่เกี่ยวพันกันกับอิทธิพลท้องถิ่น (นายทุน และข้าราชการ) ซึ่งต้องการชนะเลือกตั้งเพื่อจะได้นำไปขยายบทบาทของตน อันจะนำไปสู่อำนาจผละผลประโยชน์ในท้ายที่สุด ส่วนกลุ่มสุดท้ายที่เกี่ยวพันกับการเลือกตั้งก็คือ กลุ่มชาวบ้าน ซึ่งจะว่าไปแล้ว ภาพสะท้อนในหนังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงนักแม้ปัจจุบัน กล่าวคือ เป็นภาพของพวกที่ทั้งไร้การศึกษาจึงไม่เข้าใจประชาธิปไตย เห็นแก่อามิสสินจ้างข้าวของที่เขาเอามาให้ และรวมทั้งเป็นภาพของคนที่รอคอยโอกาสที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองเพราะอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งการเมืองแบบประชาธิปไตย ได้เปิดโอกาสให้อย่างไม่เคยมีมาก่อน
การเลือกตั้ง ถูกมองว่าเป็นหัวใจที่สำคัญสุดของประชาธิปไตย และเป็นยาวิเศษที่จะแก้ไขโรคเรื้อรังทุกชนิดที่ฝังลึกอยู่ในสังคมไทย ผู้แทนที่ดี ย่อมอยู่ตรงกันข้ามกับผู้แทนที่เลว และผู้แทนที่เลวย่อมใช้เล่ห์เพทุบายทุกชนิด เพราะเดิมพันของการชนะเลือกตั้งคือผลประโยชน์นานาชนิด เมื่อการขัดขวางผู้แทนดีไม่ประสบความสำเร็จ ทางสุดท้ายคือ การลอบฆ่า
พระเอกผู้แทน ถูกฆ่าตายเฉกเช่นเดียวกับการฆาตกรรมทางการเมืองที่มีอยู่เนือง ๆ ในโลกการเมืองนอกจอหนัง ดูเหมือนสุรสีห์ ผาธรรม ผู้กำกับจะตระหนักความเป็นจริงของสังคมไทยได้ดี แต่ผู้กำกับก็ยังไม่สิ้นหวังเสียทีเดียวกับประชาธิปไตยแววมีการเลือกตั้ง เขาจึงเลือกจบหนังของเขา โดยให้การประกาศผลการเลือกตั้งตัดสินให้ตัวพระเอกชนะ แต่ก็เป็นเวลาเดียวกันกับที่พระเอกผู้แทนสิ้นลมหายใจจากคมกระสุนของผู้มีอิทธิพล
พระเอกของสุรสีห์ จึงเป็นตัวแทนเจตจำนงของประชาชน แต่ไม่มีโอกาสเข้าไปทำหน้าที่ในสภา หรือบางทีผู้กำกับอาจจะตระหนักด้วยซ้ำว่า ส.ส.ที่อยู่ในสภาล้วนแล้วแต่เป็นนักเลือกตั้ง สภาจึงไม่ใช่สถานที่จะทำให้เจตจำนงของประชาชนบรรลุผลได้ เส้นทางสู่สภา ของประชาชน จึงเป็นเรื่องยากยิ่ง ตัวแทนที่ดีของประชาชนจึงดีเกินกว่าที่จะคู่ควรกับรัฐสภา
เรียบเรียงจาก : http://songyote.wordpress.com/2006/06/11/หนังกับการเมือง