Anantasook.Com

รู้ตื่นและเบิกบาน คำคุณธรรมประชาธิปไตย สร้างสำนึกใหม่สู่สังคม นวัตกรรมประชาธิปไตย รางวัลชมเชยปี 2560

การเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย หมายถึง พลเมืองที่มีคุณลักษณะที่สำคัญ คือ เป็นผู้ที่ยึดมั่นในหลักศีลธรรมและคุณธรรมของศาสนา มีหลักการทางประชาธิปไตยในการดำรงชีวิต ปฏิบัติตนตามกฎหมาย ดำรงตนเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาสังคม และประเทศชาติ ให้เป็นประเทศประชาธิปไตยตามหลักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการปลูกฝังตั้งแต่วัยเยาว์ ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ยกตัวอย่างให้เห็นว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศอังกฤษ (ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) สามารถดำรงมาตรฐานคุณธรรมและจริยธรรมที่สูงส่งเอาไว้ได้ตลอดมา คือ ชาวอังกฤษได้รับการปลูกฝังคติธรรม ๗ ประการมาตั้งแต่เด็ก [ได้แก่ (1) สัจจะ พูดความจริง (Truth), (2) ความซื่อสัตย์สุจริต (Honesty), (3) ความระลึกในหน้าที่ (Sense of Duty), (4) ความอดกลั้น (Patience), (5) ความเป็นธรรม (Fair Play), (6) ความเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Consideration for Others), (7) เมตตาธรรม (Kindness)] เมื่อบุคคลใดมีคติธรรมทั้ง ๗ ประการครบถ้วน ก็ถือว่าเป็นผู้ที่มี Integrity (หมายถึง การยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม) ซึ่งสิ่งนี้น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีอันหนึ่งสำหรับการที่จะปลูกฝังคุณธรรมของเยาวชนในสังคมประชาธิปไตยไทยได้

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระบรมราโชบายด้านการศึกษาที่มีใจความสำคัญว่า “การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียนใน ๒ ด้าน คือ (๑) ส่งเสริมให้นักเรียนมีทัศนคติที่ถูกต้อง (๒) การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานชีวิตหรืออุปนิสัยที่มั่นคงเข้มแข็ง อาทิ การสร้างบุคลิกและอุปนิสัยที่ดีงาม (Character Education)” ซึ่งการปลูกฝังให้เยาวชนมีทัศนคติที่ถูกต้อง มีคุณธรรมจริยธรรมนั้น จำเป็นต้องได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่วัยเยาว์ และคนทุกวัยในสังคม ควรจะได้ซึมซับถ้อยคำที่มีพลังเชิงบวก มีอุดมการณ์คุณธรรมถือปฏิบัติ เพื่อเป็นพลเมืองดีในสังคมประชาธิปไตย

ผู้บริหาร คณะครูและสภานักเรียนโรงเรียนตาเบาวิทยา จึงได้ร่วมกันรังสรรค์นวัตกรรม “คำคุณธรรมประชาธิปไตย สร้างสำนึกใหม่สู่สังคม” ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกคนในโรงเรียนและขยายผลสู่สาธารณชน โดยการสังเคราะห์ “คำคุณธรรมและจริยธรรม” จำนวน ๔๒ คำที่สอดคล้องกับการเป็นพลเมืองดีวิถีประชาธิปไตยซึ่งปรากฎในคำขวัญวันเด็ก, เพลงเด็กเอ๋ยเด็กดีต้องมีหน้าที่ ๑๐ อย่างด้วยกัน, ค่านิยมหลักของคนไทย ๑๒ ประการ ตามนโยบายของ คสช., คุณลักษณะอันพึงประสงค์ ๘ ประการตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน แล้วจัดทำเป็น “แบบฝึกคัดไทยใหม่ ก-ฮ” เพื่อส่งเสริมให้เด็กเยาวชนผู้ใช้ได้เรียนรู้ชุดคำภาษาไทยชุดใหม่ ที่สอดแทรกความหมายเชิงนามธรรมแทนที่ชุดคำที่ถูกสอนให้จับคู่ตัวอักษรกับวัตถุหรือรูปธรรมแบบเดิม เช่น “ก.เอ๋ย ก.ไก่” จะแทนที่ด้วย “ก. กตัญญู”, “ข.ไข่ ในเล้า” จะแทนที่ด้วย “ข.ขยัน” เป็นต้น ผู้ใช้จะได้เรียนรู้ความหมายของคลังคำศัพท์คุณธรรมประชาธิปไตย และตระหนักถึง บทบาท หน้าที่ ที่จะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ดีที่ยึดมั่น ซึ่งจะเกิดผลดีทั้งต่อตนเองและสังคม ซึ่งผลการดำเนินการในนักเรียนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ในโรงเรียนตาเบาวิทยาและโรงเรียนประถมศึกษา ๖ แห่งในพื้นที่บริการ ได้แก่ โรงเรียนบ้านสวาย บ้านตาเบา บ้านตาเตียว บ้านตะคร้อ บ้านลำพุก และบ้านโชค พบว่า แม้จะมีบางคำที่ยากในการเรียนรู้ แต่โดยรวมแล้วนักเรียนและคุณครูชื่นชอบ ที่สำคัญที่สุดจากการไปเผยแพร่ผลงานหลายแห่ง พบว่า ผู้ปกครองชอบสื่อการเรียนรู้นี้อย่างมากและอยากนำไปให้ลูกของตนเองใช้ที่บ้าน

นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรม “คุณธรรมประจำตน ยุวชนประชาธิปไตย” สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนตาเบาวิทยา โดยนักเรียนแต่ละคนจะมี “อุดมการณ์คุณธรรม” เป็นคุณธรรมประจำตนคนละสองข้อ โดยมีที่มาจากพยัญชนะตัวอักษรตัวแรกของชื่อ และตัวอักษรตัวแรกของนามสกุล (หรือตัวพยัญชนะตัวใดก็ได้ที่นักเรียนพอใจในชื่อและนามสกุลของตนเอง) เช่น ถ้านักเรียนชื่อ “ตาเบา วิทยา” นักเรียนผู้นั้นจะมีคุณธรรมประจำตน (ตามที่ปรากฏในแบบฝึกคัดไทยใหม่ ก-ฮ) ที่โดดเด่นจำนวนสองข้อ เป็นอัตลักษณ์ประจำตัว คือ “ตรงต่อเวลา กับ วินัย” นักเรียนจะมีสมุดบันทึกคุณธรรมประจำตนว่าได้ทำอะไรตามคุณธรรมข้อนั้นๆ ไปแล้วบ้างตลอดปีการศึกษา และดำเนินการจัดส่งให้ครูที่ปรึกษาได้รับทราบและชื่นชม จะเห็นได้ว่า นักเรียนแต่ละคนได้สร้างคุณค่าจากชื่อและนามสกุลของตนเอง ได้รู้จักบทบาท หน้าที่ และมีค่านิยมที่ดี ซึ่งจะช่วยให้แสดงพฤติกรรมที่ดีสำหรับการเป็นสมาชิกที่ดีของโรงเรียนต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบและจัดทำ การ์ตูนคุณธรรม ภาพวาดคุณธรรม และเพลง “กขค คุณธรรมประชาธิปไตย สร้างสำนึกใหม่สู่สังคม” เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ โดยความร่วมมือของคุณครูที่มีความสามารถด้านดนตรีและศิลปะของโรงเรียนอีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริหาร คุณครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนยังได้ร่วมเป็นแบบอย่างในการมีอุดมการณ์คุณธรรมคนละ ๒ ข้อ และสื่อสารสู่สาธารณชน โดยสกรีนข้อความลงบนวัสดุต่างๆ เช่น กระเป๋าผ้า เสื้อยืด และแก้วน้ำคุณธรรม ซึ่งดำเนินการโดยร้าน “ตาเบาสกรีน” กิจการส่งเสริมรายได้และการมีงานทำของนักเรียน และพบว่า มีหลายบุคคล หลายหน่วยงานได้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว โดยนอกจากการสั่งจัดทำตามที่ตนเองต้องการแล้ว ยังเพิ่มถ้อยคำคุณธรรมต่างๆ ทั้งที่ปรากฏใน “แบบฝึกคัดไทยใหม่ ก-ฮ” และถ้อยคำคุณธรรมอื่นๆ ที่ตนเองยึดถือไว้บนวัสดุสกรีนเหล่านั้นอีกด้วย

เป็นเรื่องยากที่จะยืนยันอย่างหนักแน่นว่า นวัตกรรม “คำคุณธรรมประชาธิปไตย สร้างสำนึกใหม่สู่สังคม” จะให้ผลเชิงบวกได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว แต่ในระหว่างการดำเนินกิจกรรมนี้ เราได้เห็นความงดงามเล็กๆ ของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ในการยึดมั่นและเริ่มมีอุดมการณ์คุณธรรมบางอย่างเป็นหลักชัยในการดำเนินชีวิตของตนเอง และร่วมกันสื่อสารคำที่มีพลังเชิงบวกสู่สังคม เพราะทุกคนในสังคมคงไม่อยากเห็นลูกของตน เป็นคนโกง (ก. โกง) ขี้เกียจ (ข. ขี้เกียจ) ริษยา (ร. ริษยา) แต่เราอยากเห็นสังคมเราเต็มไปด้วยคนดี เป็นคนกตัญญู (ก. กตัญญู) ขยัน (ข. ขยัน) รับผิดชอบ (ร. รับผิดชอบ) และนี่คืออีกหนึ่งเหตุผลส่งท้ายที่เราอยากเล่าสู่ท่านผู้อ่าน และอยากให้ท่านได้ช่วยสื่อสารคำคุณธรรมประชาธิปไตย คำอะไรก็ได้ที่ท่านชอบ สู่สังคมไทยของเรา เพื่อสร้างสำนึกใหม่ที่ดีงามและสร้างสังคมอุดม “อุดมการณ์คุณธรรม” ให้กับประเทศของเรา ช่วยกันนะครับ

บทความนี้เขียนลงวารสาร รู้ตื่นและเบิกบาน ฉบับเดือนธันวาคม 2560 โดย ดร.ศักดิ์อนันต์ อนันตสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนตาเบาวิทยา  อนุญาตให้เผยแพร่โดยไม่ดัดแปลงและอ้างอิงเจ้าของผู้เขียนบทความ

Exit mobile version