ชื่อนักเรียน : นางสาวปภาวรินทร์ แก้วจูมพล, นางสาวสุชานาฎ ทันชม จากโรงเรียนนารายณ์คำผงวิทยา ต.คำผง อ.โนนนารายณ์ จ.สุรินทร์
ครูที่ปรึกษา : นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข, นายณัฐพล แสงทวี
บทคัดย่อ
ในช่วงเดือนหนึ่งดวงจันทร์ จะปรากฏให้เห็นเป็นเสี้ยวบ้าง เต็มดวงบ้างครบรอบใช้เวลาประมาณ 29½ วัน ช่วงเวลานี้เรียกว่าเดือนจันทรคติ เสี้ยวจันทร์ที่ปรากฏในวันหนึ่งเรียกว่าดิถี (phase) ซึ่งขึ้นกับมุมตกกระทบของแสงอาทิตย์ที่สะท้อนพื้นผิวดวงจันทร์มายังโลก การทำความเข้าใจเรื่องดิถีดวงจันทร์ หรือการเกิดข้างขึ้นข้างแรมในบทเรียน มักใช้ภาพการเห็นดิถีดวงจันทร์ เมื่อผู้สังเกตมองจากตำแหน่งต่างๆ บนโลกมาอธิบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีการสังเกตท้องฟ้าจริง ที่มุมอาซิมุทและมุมเงยที่แตกต่างกัน จะทำให้เห็นดิถีของดวงจันทร์ไม่เหมือนกัน ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้
โครงงานนี้ จะแสดงให้เห็นถึง ความแตกต่างของการมองเห็นดิถีของดวงจันทร์ในหนึ่งเดือนจันทรคติ (10 พฤศจิกายน – 10 ธันวาคม 2558) จากการสังเกตจากแบบจำลองการเกิดดิถีของดวงจันทร์ที่สร้างขึ้น ร่วมกับการศึกษาจากโปรแกรม WorldWide Telescope, โปรแกรม Stellarium และการสังเกตดิถีดวงจันทร์บนท้องฟ้าจริง ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าใจคำอธิบายเรื่อง การเกิดข้างขึ้นข้างแรมในบทเรียน ที่สัมพันธ์กับปรากฏการณ์ที่สามารถสังเกตได้จริงบนท้องฟ้าได้
คำสำคัญ: ดิถีดวงจันทร์, ข้างขึ้นข้างแรม, WorldWide Telescope
ดาวน์โหลด Full Paper >> [การศึกษาเปรียบเทียบดิถีดวงจันทร์จากแบบจำลอง โปรแกรมทางดาราศาสตร์ และการสังเกตท้องฟ้า]
ดาวน์โหลด Poster Presentation >> [การศึกษาเปรียบเทียบดิถีดวงจันทร์จากแบบจำลอง โปรแกรมทางดาราศาสตร์ และการสังเกตท้องฟ้า]