ประมาณ พ.ศ. 2442 มีการปรับพื้นที่ ทำปรำ สร้างสะพานไม้ข้ามลำห้วยทันทับที่ท่าสองคอน หมู่บ้านในพื้นที่ใกล้เคียงได้รับแจ้งให้นำราษฎรไปช่วยกันทำงานให้เสร็จก่อน “เจ้านาย” มาเยี่ยม ท่าน้ำแห่งนี้อยู่ห่างจากบ้านโนนสั้นประมาณ 10 กิโลเมตร ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ การไปทำงานนั้นชาวบ้านโนนสั้นใช้เดินทางด้วยเท้าลัดเลาะไปตามทุ่งนาและป่า
นายบ้านกันหาได้นำราษฎรบ้านโนนสั้นไปร่วมงานในครั้งนี้อย่างพร้อมเพียง เมื่อเดินทางถึงท่าสองคอนก็ช่วยกันทำงานตลอดวัน ตกเย็นนายกันหาแจ้งให้ราษฎรบ้านโนนสั้นทราบว่าท่านจะค้างคืนอยู่ที่ท่าสองคอน ใครจะค้างคืนกับท่านก็ได้หรือจะกับไปค้างคืนที่บ้านก็ตามอัธยาศัย ราษฎรส่วนน้อยอยู่ค้างคืนกับนายบ้านกันหา ส่วนมากกลับมาค้างคืนที่บ้านโนนสั้น ยามดึกของคืนนั้นนายกันหา เกิดอาการไหลตาย (อาจเกิดจากการว่ายน้ำดำน้ำตลอดทั้งวันเพื่อฝังเสาสะพาน จนร่างกายเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ตกกลางคืนก็เสียชีวิต) ราษฎรบ้านโนนสั้น ที่ท่าสองคอนแบ่งกันออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกรุ่งเช้านำร่างไร้ลมหายใจของนายกันหากลับบำเพ็ญกุศลที่ศาลาทำบุญที่บ้านโนนสั้น ส่วนที่เหลือและชาวบ้านโนนสั้นที่ว่างจากการบำเพ็ญกุศลศพนายบ้านกันหายังต้องทำงานต่อที่ท่าสองคอนจนกว่าจะแล้วเสร็จโดยมีนายพิม บุญยิ่งเป็นหัวหน้า
เมื่อ “เจ้านาย” มาที่ท่าสองคอนเพื่อเยี่ยมราษฎรสองฝั่งลำห้วยทับทันนั้น ท่านได้มอบมะพร้าวพันธุ์จำนวนหนึ่งต้นแก่นายพิม บุญยิ่ง ผู้แทนนายบ้าน บ้านโนนสั้น นายพิมได้นำมะพร้าวดังกล่าวมาปลูกไว้ที่สวนเรียกกันทั่วไปว่า “มะพร้าวเจ้า” ส่วนนางก้อมภรรายนายกันหาต้องอยู่บ้านคนเดียวเมื่อสามีเสียชีวิตเพราะไม่มีบุตรธิดา จึงขอเด็กหญิงบุด ซึ่งเป็นธิดาของเซียงดำมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม เมื่อเด็กหญิงบุดเติบใหญ่แต่งงานกับนายธรรม ทันชมมีลูกหลานสืบต่อมา
ปี พ.ศ. 2483 นางก้อม ก็ถึงแก่กรรมและประกอบพิธีฌาปนกิจ ต่อมา พ.ศ. 2485 จึงประกอบพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลอัฐินางก้อมภรรยาของนายกัญหา โดยนายวิชัย แสนเสริมและชาวบ้านโนนสั้นร่วมกันจัดทำอย่างยิ่งใหญ่
ปี พ.ศ.2492 ทางราชการได้แยก 6 หมู่บ้าน ออกจากตำบลเบิด และแยกอีก 6 หมู่บ้านออกจากตำบลโนน มารวมกันตั้งเป็นตำบลหนองหลวง แล้วแยกการปกครองเป็นบ้านโนนสั้นหมู่ที่ 6 และบ้านโนนสั้นหมู่ที่ 13 ตำบลหนองหลวง
11 มิถุนายน 2510 ทางราชการแบ่งเขตการปกครอง บ้านโนนสั้นหมู่ที่ 3 เป็นบ้านโนนสั้นหมู่ 6 และบ้านอีโกฏิหมู่ที่ 14 ต.หนองหลวง