ตะแล็บแก็บ เป็นของเล่นเด็กใช้วัสดุประเภทกะลามะพร้าว กระบอกไม้ไผ่ กล่องไม้ขีดหรือกระป๋องนม ทำเป็นที่ผูกติดต่อสื่อสารกัน โดยผู้ฟังจะใช้ที่รับแนบไว้ที่หู เพื่อให้ได้ยินเสียง การที่เรียกชื่อของเล่นว่า “ตะแล็บแก็บ” คงเรียกชื่อตามผู้ใหญ่ สมัยโบราณ ที่เรียก Telegram แต่ด้วยการฟังและการออกเสียงไม่ใช่เจนจึงออกเสียงเพี้ยนไป ต่อมาได้บัญญัติศัพท์ว่า “โทรเลข” การโทรเลขเริ่มก่อกำเนิดมาแต่ปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และมีการวางสายโทรเลขในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
การทำของเล่นซึ่งเด็กๆและชาวบ้านเรียกว่า “ตะแล็บแก็บ” [บ้างก็ว่า โทรศัพท์กระป๋อง, โทรศัพท์กล่องไม้ขีดไฟ]นี้ คงมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน คิดว่า “ตะแล็บแก็บ” คือโทรศัพท์ เพราะ “โทร” แปลว่า “ไกล” และศัพท์แปลว่า “เสียง” เมื่อรวมคำแปลเข้าด้วยกันมีความหมายว่า “เสียงที่มาจากทางไกล” เด็กๆจึงได้หาวัสดุชนิดต่างๆมาทำที่พูดโทรศัพท์และที่รับโทรศัพท์
วัสดุอุปกรณ์
1. กระป๋องนม 2 ใบ
2. ด้าย/เชือก
3. ไม้กลัด
วิธีทำ
1. นำกระป๋องนมข้นหวานที่เปิดใช้แล้วมา 2 ใบ แล้วเลาะเอาฝากระป๋องที่เปิดทิ้ง พร้อมกับใช้ค้อนเล็กๆ ทุบรอบกระป๋องส่วนที่เอาฝาออกให้เรียบ
2. สำหรับด้านก้นของกระป๋องนม ให้เจาะเป็นรูเล็กๆ ด้วยตะปู แล้วนำปลายด้ายที่มีความยาวตามที่ต้องการ สอดเข้าในรูที่ก้นกระป๋องนมแล้วผูกไว้ด้วยไม้กลัดเล็กๆ ไว้ภายในกระป๋องเพื่อกันไม่ให้ด้ายหลุด จากนั้นนำปลายด้ายอีกข้างหนึ่งไปทำในลักษณะเดียวกันกับกระป๋องนมอีกใบ
วิธีการเล่น
1. ผู้เล่น 2 คน จับกระป๋องนมคนละ 1 ใบ แล้วดึงเชือกให้ตึง
2. ให้ผู้ฟังเอากระป๋องจ่อที่หู
3. ผู้พูด พูดใส่ในกระป๋องโต้ตอบกัน โดยให้สลับกันเป็นผู้ฟังและผู้พูด
ประโยชน์
1. ส่งเสริมทักษะด้านการเป็นนักประดิษฐ์
2. ส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ สังคม และภาษา
3. เสริมสร้างหลักความเข้าใจในการเคลื่อนที่ของเสียงผ่านตัวกลาง (เส้นเชือก)