Anantasook.Com

ของเล่นพื้นบ้าน : อีโก๊ะ หรือ เดินกะลา การทำอีโก๊ะจากกะลามะพร้าว การเล่นเดินกะลา

toys03

อีโก๊ะ เป็นของเล่นพื้นบ้านสมัยก่อน เด็กๆและวัยรุ่นมักนิยมใช้เดินและวิ่งแข็งขันกัน   อีโก๊ะมีชื่อเรียกแตกต่างกันแต่ละพื้นที่  เช่น  กบกับ  อีกุบอีกับ  โกบกาบ  ปะกับ  ก๊อบแก๊บ  โกกเกก  อีก๊บ  อีโก้บ  รองเท้ากะลา  และม้ากะลา  เป็นต้น การเรียกชื่อแตกต่างกันอาจเป็นเพราะเรียกตามเสียงที่ได้ยินตอนเดินและตอนวิ่ง   มักเล่นกันในกลุ่มของเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง

วัสดุอุปกรณ์       1. กะลามะพร้าวแก่ๆ                                         2. เชือก

 วิธีทำ  อีโก๊ะ  จะใช้กะลามะพร้าวที่ขูดเนื้อไปใช้หมดแล้ว  ซึ่งขว้างทิ้งตามใต้ถุน  ข้างบ้านหรือกองขยะ ผู้เล่นมักเลือกกะลาซีกหัวที่มีรูจาวมะพร้าว   กะลาทีนิยมใช้จะเป็นกะลาลูกค่อนข้างโต มีลักษณะแป้น ๆ ควรเลือกกะลาลูกโตและแป้นขนาดเท่าๆ กันเพราะจะได้เยียบถนัด  ไม่เจ็บเท้าหรือ พลัดตก  ผู้เล่นบางคนจะใช้กระดาษทรายขัดผิวกะลาให้เรียบเสียก่อน เตรียมเชือกหรือปอขนาดร้อยที่รูจาวกะลามะพร้าวได้  หากรูกะลาเล็กเกินไปก็จะใช้มีดปลายแหลมหรือตะปูเจาะขยายรูให้กว้างขึ้นอีก เชือกที่ร้อยจะมีความยาวประมาณ 1-2 เมตร  ร้อยรูกะลามัดปมปลายเชือกทั้งสองข้างเพื่อไม่ให้หลุดจากรูกะลาตอนเดินและวิ่ง

วิธีเล่น  วางกะลาทั้ง 2 ซีกคว่ำลงบนพื้น  ผู้เล่นจะใช้เท้าเหยียบที่กะลาทั้ง 2 ข้าง  ใช้เชือกที่มัดอยู่ระหว่างง่ามหัวแม่เท้า  กับนิ้วชี้ในลักษณะคีบเชือก สองมือจับเชือกไว้ให้สูงในระดับเอวถึงอก  การเดินหรือวิ่งจะยกมือไปพร้อมกับขาที่ก้าวย่างเดิน  ต้องจับเชือกดึงไห้ตึงตลอดเวลา  มิเช่นนั้นจะทำให้หกล้มได้ง่าย  เมื่อเด็กๆเดินกะลาอย่างชำนาญแล้วจะท้าทายวิ่งแข่งขันกันเป็นคู่ๆ  โรงเรียนในชนบทบางแห่งยังพอมีการอนุรักษ์วิ่งกะลาอยู่บ้าง  จะให้วิ่งกะลาคราวละประมาณ 5 คน  เมื่อครูให้สัญญาณทุกคนจะรีบวิ่งไปสู่หลักชัย  ใครถึงก่อนจะเป็นผู้ชนะ  ผู้เล่นคนใดเท้าแตะดินหรือพลัดตกกะลาถือว่าแพ้การแข่งขันทันที

ประโยชน์
1. ส่งเสริมพัฒนาการด้านการใช้กล้ามเนื้อ แขน ขา และการทรงตัว
2. ส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ สังคม ภาษา ความสนุกสนาน ในกรณีแข่งขัน ส่งเสริมความมีน้ำใจของนักกีฬา ความมุ่งมั่นต่อความสำเร็จ
3. การเดินกะลาแข่งขัน เป็นการส่งเสริมการออกกำลังกาย และเป็นการส่งเสริมการแข่งขันกีฬาพื้นบ้านของไทย รวมทั้งเป็นการเชิดชูการละเล่นพื้นบ้าน

หมายเหตุ :: ข้อมูลนี้ จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ตามโครงการ “ผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้ : ของเล่นพื้นบ้าน สื่อสร้างความสนใจวิทยาศาสตร์” ของชมรมคุรุวิจัย ไทยสุรินทร์ โดยทุนสนับสนุนประจำปี พ.ศ. 2555 จากสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา (http://news.ksp.or.th/TPDN/index.php)

Exit mobile version