แนวคิดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสังคม (Science Technology and Society (STS)) คือ แนวคิดในการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่เน้นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจริง แทนการเรียนการสอนที่เริ่มต้นด้วยแนวคิด และกระบวนการ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักการวิเคราะห์และประยุกต์ ใช้แนวคิด และกระบวนการในสถานการณ์จริงที่กำลังเกิดขึ้น และพยายามให้ผู้เรียนหาคำตอบสำหรับสถานการณ์นั้น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสังคม เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ ตระหนักในปัญหาที่เกิดขึ้น ใช้ความรู้ ความสามารถพิจารณาและหาสาเหตุของปัญหา มีแนวทางเลือกในการแก้ปัญหาที่เหมาะสมและสามารถลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาตามแนวทางที่ตัดสินใจได้
การจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสังคม (STS) เน้นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชีวิต เพราะเชื่อว่าทุกปัญหา มีแนวคิดและกระบวนการต่างๆ มากมายเป็นพื้นฐาน ดังนั้น การเริ่มต้นเรียนจากสถานการณ์ที่ครูสร้างขึ้น เพื่อให้นักเรียนตั้งคำถาม ปัญหา หรือมาจากคำถามของนักเรียนที่เกิดจากประสบการณ์ของตนเอง จะส่งผลให้นักเรียนเรียนรู้แนวคิด และทักษะกระบวนการพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จำเป็น และเกี่ยวข้องกับปัญหานั้นๆ ทำให้นักเรียนเห็นว่าแนวคิดและกระบวนการนั้นมีประโยชน์นำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงได้ และครูจะมีบทบาทในฐานะของผู้จัดสภาพแวดล้อมและอำนวยความสะดวกให้เกิดการเรียนรู้มากกว่าจะเป็นแหล่งของความรู้อย่างที่เป็นมา
รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้แนวคิด วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคม (STS) มีนักการศึกษาหลายท่านได้สร้างรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด STS ในที่นี้ขอนำเสนอรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคมที่เน้นทักษะการแก้ปัญหา (STS problem-solving model) ของ Carin (1997) รูปแบบนี้สามารถตรวจสอบความรู้เดิมของนักเรียนและสามารถเพิ่มพูนความรู้ใหม่ได้โดยผ่านทักษะการแก้ปัญหา การลงมือปฏิบัติและการนำไปใช้ มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 5 ขั้น ดังนี้
1. ขั้นสืบค้น (search) นักเรียนร่วมกันตั้งคำถาม เสนอความคิดเรื่อง ตามที่ต้องการศึกษา หัวข้อที่นำเสนอนั้นอาจมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชน จากตำราเรียนวิทยาศาสตร์ จากกิจกรรมที่ได้ปฏิบัติมา จากการทัศนศึกษา จากรายการโทรทัศน์หรือจากแหล่งอื่น คำถามที่ตนเองนำเสนออาจมีมากมายหลายคำถามแต่จะเหลือเพียง 1-2 คำถามที่นำมาเป็นหลักในการศึกษา
2. ขั้นแก้ปัญหา (Solve) นักเรียนจะฝึกใช้วิธีทางการวิจัยในการเรียนรู้เพื่อหาคำตอบหรือตอบคำถามในหัวข้อหรือประเด็นที่ทำการศึกษา โดยนักเรียนจะเป็นผู้ลงมือปฏิบัติทั้งการเก็บรวบรวมข้อมูล การบันทึกผล
3. ขั้นสร้างสรรค์ (Create) จากการเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ผล นักเรียนสามารถสร้าง จัดกระทำและแสดงผลการค้นพบในลักษณะของกราฟรูปแบบต่างๆ หรืออาจสร้างหรือจัดกระทำในรูปแบบอื่นๆ
4. ขั้นแลกเปลี่ยนประสบการณ์ (Share) นักเรียนนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าแก่กลุ่มเพื่อน โดยอาจนำเสนอในรูปแบบต่างๆ เช่น การบรรยาย การเขียนรายงาน จัดแสดงโปสเตอร์ วีดีทัศน์ เพลง โคลง กลอนหรืออื่นๆ
5. ขั้นนำไปปฏิบัติจริง (Act) นักเรียนนำผลที่ได้จากการศึกษาไปปฏิบัติหรือนำเสนอข้อค้นพบนี้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหา โดยครูและนักเรียนอาจจัดการประชุมพบปะ ชี้แจงปัญหาและข้อค้นพบ หรือเขียนจดหมายถึงบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ตัวอย่างแผนการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสังคม (STS) วิชาชีววิทยา ตามแนวคิดของ Carin (1997) เรื่อง ทรัพยากรน้ำและการแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำในชุมชน ดาวน์โหลดแผนการสอน คลิกเลย >> [ตัวอย่างแผนการสอนชีววิทยา ตามแนวคิด STS ของ Carin (1997)]
หมายเหตุ : สนใจดูตัวอย่างแผนการจัดการเรียนรู้ วิชาฟิสิกส์ ตามแนวคิดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสังคม (STS) ตามแนวคิดของ Yuenyong (2006) ดาวน์โหลดแผนการจัดการเรียนรู้ คลิกเลย [ตัวอย่างแผนการสอนฟิสิกส์ ตามแนวคิด STS ของ Yuenyong (2006)]