Anantasook.Com

เที่ยวเวียงจันทน์ ไหว้พระธาตุหลวง ชมประตูชัย วัดสีเมือง วัดสีสะเกด หอพระแก้ว ธาตุดำ หอคำ ล่องลำน้ำงึม

นครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ประกอบไปด้วยเมือง (อำเภอ) ทั้งหมด 6 เมือง คือ เมืองจันทะบุลี, เมืองสีสัดตะนาก, เมืองไซเสดถา, เมืองสีโคดตะบอง, เมืองหาดซายฟอง และเมืองไซทานี มีเนื้อที่ 3,920 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตรงข้ามกับอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคายของประเทศไทย เมืองหลวงของ สปป.ลาวแห่งนี้ ยังคงไว้ซึ่งบรรยากาศเงียบสงบ ชาวเมืองทั่วไปดำเนินชีวิตประจำวันอย่างเรียบง่าย แตกต่างจากเมืองหลวงอื่นๆ ของเอเชียในหลายประเทศ ปัจจุบันการเดินทางมาท่องเที่ยวเวียงจันทน์นั้นสะดวกมาก เพียงข้ามแม่น้ำโขง ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาวจากชายแดนหนองคายไป 1,240 เมตร และเดินทางต่ออีกประมาณ 20 กิโลเมตร ก็ถึงนครหลวงเวียงจันทน์ สำหรับนักท่องเที่ยวที่มีเวลาจำกัดสามารถเลือกเดินทางแบบ 1 วันก็ได้ แต่หากมีเวลาสักหน่อยควรจะมีเวลาเดินทางสัก 2 วัน 1 คืน ก็ถือว่ากำลังดี

เมื่อมาเยือนนครหลวงเวียงจันทน์แล้ว สถานที่แห่งแรกที่ไม่ควรพลาดคือ พระธาตุหลวง ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ประจำชาติลาว มีความหมายต่อจิตใจชาวลาวอย่างใหญ่หลวง ถัดมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือบนถนนล้านช้างเป็นที่ตั้งของประตูชัยหรือรันเวย์แนวตั้ง ที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศสและความงามของพุทธศิลปะลาวได้อย่างลงตัว ส่วนวัดต่างๆ ในตัวเมืองก็มีความน่าสนใจเช่นกัน เช่น (1) วัดสีเมือง สถานที่ตั้งของเสาหลักเมือง ที่ชาวลาวเดินทางไปสักการบูชาเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน  (2) วัดสีสะเกด วัดที่เก่าแก่ที่สุดในนครหลวงเวียงจันทน์  ฝั่งตรงข้ามวัดสีสะเกด คือ หอพระแก้ว ซึ่งอดีตเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกตที่อัญเชิญมาจากล้านนา ก่อนจะถูกอัญเชิญไปยังกรุงธนบุรี และปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่กรุงเทพมหานคร

พระธาตุหลวง
ที่ตั้ง: ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประตูชัย
เวลาเปิด-ปิด: 08.00 น. – 12.00 น. และ 13.00 น. – 17.00 น.
ค่าธรรมเนียมในการเข้าชม: เสียค่าธรรมเนียม 5,000 กีบ/คน


พระธาตุหลวง เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติลาวและศาสนสถานที่สำคัญที่สุดของลาว มีความหมายต่อจิตใจประชาชนชาวลาวอย่างใหญ่หลวง แทนความเป็นเอกราชและอำนาจอธิปไตยของประเทศลาว ถัดจากประตูทางเข้าใหญ่มาประมาณ 100 เมตร จะเห็นพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ตั้งอยู่บนฐานสูง พระหัตถ์ทรงถือพระแสงดาบวางพาดไว้บนพระเพลา เล่ากันว่าพระแสงดาบเล่มนี้จะทำหน้าที่ปกป้องพระธาตุหลวง ซึ่งถือได้ว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวลาวทุกคน

พระธาตุหลวงสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 16 เป็นเจดีย์ที่มีลักษณะโดดเด่นที่สุดในอาณาจักรล้านช้าง มาตั้งแต่สมัยของสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พระธาตุหลวงองค์นี้มีรูปทรงไม่เหมือนกับพระธาตุองค์อื่นๆ เป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมในพระพุทธศาสนากับสถาปัตยกรรมของอาณาจักร ลักษณะรูปทรงของพระธาตุหลวงน่าจะได้รับการถ่ายทอดความเชื่อมาจากคติจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง เริ่มจากภายนอกตั้งแต่ระเบียงและทางเข้าทั้ง 4 ทิศ เสมือนเป็นเทือกเขาน้อยใหญ่ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ส่วนฐานที่ลดหลั่นกัน 3 ชั้นขององค์พระธาตุหมายถึงโลก 3 ภูมิ คือ มนุษยโลก เทวโลก และพรหมโลก เหนือฐานชั้นที่ 3 เป็นองค์ระฆังเตี้ยคล้ายสถูปทรงฟองน้ำในผังทรงเหลี่ยม

เล่าสืบต่อกันมาว่า พระธาตุหลวงสร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยพุทธศักราชที่ 236 พระภิกษุลาวจำนวน 5 รูปเดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย และได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้ามายังนครเวียงจันทน์ด้วย ต่อมาได้กราบทูลเชิญพระยาจันทะบุรีประสิดสัก เจ้าครองนครเวียงจันทน์ในขณะนั้นให้สร้างพระธาตุหลวงขึ้นเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุเพื่อให้ชาวลาวที่เลื่อมใสกราบไว้เคารพบูชา กล่าวกันว่า พระธาตุองค์เดิมนั้นสร้างด้วยหินเป็นทรงโอคว่ำ มีการก่อสร้างกำแพงล้อมรอบไว้เอาไว้ทั้งสี่ด้าน แต่ละด้านมีความกว้าง 10 เมตร หนา 4 เมตร และสูง 9 เมตร เชื่อกันว่าพระธาตุที่เห็นในปัจจุบันนี้สร้างครอบพระธาตุองค์เดิมไว้ ซึ่งต่อมาสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองหลวงของราชอาณาจักรล้านช้างจากหลวงพระบางมาอยู่ที่เวียงจันทน์ ตามดำริของพระราชบิดาคือ พระเจ้าโพธิสาระราช จากนั้นจึงทรงมีบัญชาให้ทรงสร้างพระเจดีย์องค์ใหม่ครองพระธาตุองค์เดิมไว้ ณ.บริเวณที่เคยเป็นเทวสถานเก่าของขอมโดยเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2109 และหลังจากสร้างพระธาตุหลวงเสร็จ ได้โปรดฯ ให้สร้างวัดขึ้นล้อมรอบพระธาตุไว้ทั้งสี่ทิศด้วย แต่ในปัจจุบันเหลืออยู่แค่เพียงสองแห่งด้วยกันคือ วัดพระธาตุหลวงเหนือและพระธาตุหลวงใต้ ปัจจุบันพระธาตุหลวงมีลักษณะคล้ายป้อมปราการ ด้วยระเบียงสูงใหญ่ที่โอบล้อมองค์พระธาตุไว้พร้อมกับทำช่องหน้าต่างเล็กๆ เอาไว้โดยรอบ ประตูทางเข้านั้นเป็นประตูไม้บานใหญ่ลงรักสีแดงไว้ทั้งหมด รอบๆ องค์พระธาตุใหญ่มีเจดีย์บริวารล้อมรอบอยู่โดยรอบอีกหลายองค์ เมื่อเดินเข้าไปดูใกล้ๆ จะเห็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธศาสนาแห่งนี้ปรากฏอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นรูปแกะสลักพญานาค พระพุทธรูปปิดทอง ลายกลีบบัวประดับอยู่บนฐานปักษ์ ถัดมาบริเวณทางเข้าด้านหลังขององค์พระธาตุมีศิลาจารึก เกี่ยวกับประวัติของพระธาตุหลวง

ประตูชัย
ที่ตั้ง: ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของนครหลวงเวียงจันทน์ บนถนนล้านช้าง
เวลาเปิด-ปิด: 08.00 น. – 12.00 น. และ 13.00 น. – 17.00 น.
ค่าธรรมเนียมในการเข้าชม: เสียค่าธรรมเนียม 3,000 กีบ/คน ในการขึ้นชมวิว


จากถนนล้านช้างมุ่งหน้ามาทางวงเวียนใหญ่ จะเห็นประตูชัยตั้งเด่นตระหง่านอยู่ตรงกึ่งกลาง ประตูชัยออกแบบโดย ท่านทำไซยะสิด เสนา ผู้บัญชาการกรมยุทธสรรพาวุธ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 63 ล้านกีบ และสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2512 เป็นอนุสรณ์สถานเพื่อระลึกถึงประชาชนชาวลาวผู้เสียสละชีวิตในสงครามก่อนหน้าการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ ประตูชัยแห่งนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “รันเวย์แนวตั้ง” เพราะการก่อสร้างประตูชัยแห่งนี้ใช้ปูนซิเมนต์ที่อเมริกาซื้อเพื่อนำมาสร้างสนามบินใหม่ในนครหลวงเวียงจันทน์ในระหว่างสงครามอินโดจีน แต่ไม่ทันได้สร้างเพราะอเมริกาพ่ายแพ้สงครามในอินโดจีนเสียก่อน จึงนำปูนซิเมนต์มาสร้างประตูชัยแทน

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของประตูชัยได้รับอิทธิพลมาจากประตูชัยในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เจ้าอาณานิคมในสมัยนั้นแต่ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของประตูชัยก็ยังคงเอกลักษณ์ในแบบของชาวลาวปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพุทธศิลปลาว ภาพเรื่องราวมหากาพย์รามายณะ แบบปูนปั้นใต้ซุ้มโค้งของประตูชัย บริเวณทางเข้าภายในมีบันได 147ขั้น ให้เดินขึ้นไปชมวิวทิวทัศน์ของเมืองเวียงจันทน์ได้รอบตัวเมือง ในปัจจุบันตอนช่วงเย็นๆ ของทุกวัน บริเวณสวนสาธารณะโดยรอบ จะเห็นชาวนครหลวงหลากหลายวัย ใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานที่สำหรับออกกำลังกาย และพักผ่อนตามอัธยาศัย 

วัดสีเมือง
ที่ตั้ง: บนถนนเชษฐาธิราช ทางทิศตะวันออกของสถานทูตฝรั่งเศส
ปี่ที่สร้าง: พ.ศ.2106
รัชสมัย: สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช
เวลาเปิด-ปิด: 08.00 น. – 12.00 น. และ 13.00 น. – 17.00 น.

วัดสีเมือง เป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองประจำนครเวียงจันทน์ หลังจากเสนาอำมาตย์ของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้ลงความเห็นให้สร้างวัดสีเมืองในปี พ.ศ.2106 ก็ได้มีการขุดหลุมขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อทำพิธีตั้งเสาหลักเมือง มีเรื่องเล่าว่าในวันทำพิธี ทางการได้นำเสาหลักเมืองไปแขวนเอาไว้เหนือหลุม รอให้มีคนกะโดดลงไปและผู้ที่สมัครใจก็คือหญิงมีครรภ์ผู้หนึ่ง จากนั้นจึงตัดเชือกปล่อยเสาลงไปทับหญิงผู้นั้นให้ตกตายไป หลังจากนั้นจึงทำการสร้างสิมครอบเสาหลักเมืองเอาไว้ ต่อมาถูกกองทัพสยามทำลายลงในปี พ.ศ.2458 ภายในวัดมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่มากมาย และมีอยู่องค์หนึ่งที่เก่าแก่ที่สุด น่าจะสร้างขึ้นก่อนปีพ.ศ.2371พระพุทธรูปองค์นี้ชำรุดไปบางส่วน ชาวลาวเชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ใครไปบนบานศาลกล่าวสิ่งใดเป็นต้องได้สมใจ ด้านหน้าฝั่งตรงข้ามประตูทางเข้าจึงมีร้านจำหน่ายดอกไม้ ธูป เทียน และร้านจำหน่ายผลไม้ให้บริการ ทางทิศตะวันออกของวัดสีเมืองมีสวนสาธารณะเล็กๆ มีพระบรมรูปของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ตั้งอยู่บนแท่นสูงกลางสวนสาธารณะ พระหัตถ์ทรงถือสมุดใบลานที่จารึกประมวลกฎหมายฉบับแรกของลาวเอาไว้ พระบรมรูปเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์นี้เป็นของขวัญที่ทางสหภาพโซเวียต มอบมาให้ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลังจากนั้นแผ่นป้ายโลหะจารึกพระนามถูกฝ่ายคอมมิวนิสต์รื้อทิ้งออกไปภายหลังได้รับชัยชนะในสงครามปลดปล่อยเมื่อปี พ.ศ.2518

วัดสีสะเกด
ที่ตั้ง: หัวมุมถนนล้านช้าง ตัดกับถนนเชษฐาธิราช (ตรงข้ามหอพระแก้ว)
ปีที่สร้าง: พ.ศ.2361
รัชสมัย: เจ้าอนุวงศ์
เวลาเปิด-ปิด: 08.00 น. – 12.00 น. และ 13.00 น. – 16.00 น.
ค่าธรรมเนียมในการเข้าชม: เสียค่าธรรมเนียม 5,000 กีบ/คน
หมายเหตุ: ห้ามถ่ายภาพด้านในสิม (อุโบสถ)


วัดสีสะเกดเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในนครหลวงเวียงจันทน์ที่ไม่ควรพลาดชม เมื่อแรกสร้างมีชื่อว่า“วัดสตสหัสสาราม” ซึ่งมีความหมายว่า “วัดแสน” แต่เหตุที่ประชาชนเรียกว่าชื่อวัดนี้ว่า วัดสีสะเกด (ศรีษะเกศ) เนื่องจากวัดแห่งนี้หันหน้ามาทางพระราชวังหรือทิศหัวนอนของเจ้าอนุวงศ์ เพื่อที่ว่าเมื่อท่านทรงตื่นบรรทมหรือเข้าบรรทมก็สามารถไหว้พระในวัดสีสะเกดได้ทั้งตอนเช้าและค่ำ เจ้าอนุวงศ์ได้สร้างวัดแห่งนี้ในบริเวณวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งซึ่งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับพระราชวัง ลักษณะการจัดวางแผนผังแตกต่างไปจากวัดอื่นๆ ในนครหลวงเวียงจันทน์ คือระเบียงที่ล้อมรอบพระอุโบสถเป็นการแบ่งเขตพุทธาวาสออกจากเขตสังฆวาสอย่างชัดเจน และเนื่องจากในสมัยนั้นลาวตกเป็นเมืองขึ้นของไทย เจ้าอนุวงศ์จึงออกแบบวัดตามอย่างศิลปะไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กองทัพสยามไม่ทำลายวัดแห่งนี้ลงหลังจากยกทัพเข้าตีนครเวียงจันทน์ได้สำเร็จในปี พ.ศ.2317 จึงนับได้ว่าวัดสีสะเกดอาจเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดในนครเวียงจันทน์ เพราะวัดอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมดล้วนเป็นวัดที่ถูกบูรณะขึ้นมาใหม่หลังจากนครเวียงจันทน์แตกในครั้งนั้นทั้งสิ้น ทางเข้าพระอุโบสถบริเวณประตูด้านขวามีศิลาจารึกสร้างด้วยหินทรายเนื้อละเอียด บรรยายถึงประวัติการสร้างการจัดวาง และการสมโภชเฉลิมฉลองของวัดสีสะเกดแห่งนี้ ถัดมาบริเวณผนังด้านในของระเบียงที่ล้อมรอบพระอุโบสถเอาไว้นั้น มีการทำช่องกุดเล็กๆ ลักษณะเป็นซุ้มโค้งแหลมจำนวนมากสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปเงินและพระพุทธรูปดินเผามากกว่า 6,800 องค์ ส่วนใหญ่เป็นพระที่สร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 16-19 ที่นครเวียงจันทน์ นอกจากนี้ผนังภายในพระอุโบสถมีรูปแต้มระบายสีเก่าแก่ที่สุดในนครเวียงจันทน์ และมีช่องกุดเล็กๆ ด้านบนสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปเช่นเดียวกับระเบียงด้านนอกสำหรับระเบียงด้านตะวันตกเป็นสถานที่เก็บรวบรวมเศษชิ้นส่วนของพระพุทธรูปที่ถูกกองทัพสยามทำลายลงในสงครามเมื่อปี พ.ศ.2317 ด้านหลังของพระอุโบสถมีรางไม้รูปทรงคล้ายพระยานาคใช้เป็นรางสำหรับสรงน้ำพระในเทศกาลปีใหม่ลาว (สงกรานต์) ส่วนทางด้านซ้ายมือเป็นหอไตรสร้างตามแบบอย่างศิลปะพม่า สำหรับคัมภีร์พระไตรปิฎกทางพุทธศาสนาต่างๆ ถูกกองทัพสยามอัญเชิญมาไว้ยังกรุงเทพฯ

หอพระแก้ว
ที่ตั้ง: ตรงข้ามกับวัดสีสะเกด ติดทำเนียบประธานประเทศ
ปีที่สร้าง: พ.ศ.2108
รัชสมัย: สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช
เวลาเปิด-ปิด: 08.00 น. – 12.00 น. และ 13.00 น. – 16.00 น.
ค่าธรรมเนียมในการเข้าชม: เสียค่าธรรมเนียม 5,000 กีบ/คน


จากวัดสีสะเกดสามารถข้ามถนนมาฝั่งตรงข้ามเพื่อมาชมหอพระแก้ว แต่เดิมหอพระแก้วเคยเป็นวัดหลวงประจำราชวงศ์ลาว สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่อัญเชิญมาจากล้านนา และเมื่อต้องเสด็จกลับมาครองราชย์บัลลังก์ล้านช้าง หลังจากที่พระราชบิดาคือพระโพธิสาระราชเจ้าสิ้นพระชนม์ลง

หลังการทำศึกกับสยาม ในปี พ.ศ.2322 (สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช นำทัพโดยสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ) นครเวียงจันทน์ถูกกองทัพสยามตีแตก กองทัพสยามได้บุกเข้าพระราชวังและนำเอาพระแก้วมรกต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของนครเวียงจันทน์ไป พร้อมทั้งกวาดต้อนพระราชวงศ์ลาวกลับไปยังกรุงธนบุรีจำนวนมาก แม้ต่อมาราชวงศ์ของลาวจะได้บูรณะวัดวาอารามขึ้นมาใหม่ แต่วัดเหล่านี้ก็เป็นอันต้องถูกกองทัพสยามทำลายลงอีกครั้งในปี พ.ศ.2371 (สมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3)

หอพระแก้วที่เห็นอยู่ในปัจจุบันได้ถูกบูรณะขึ้นมาใหม่เกือบทั้งหมดในระหว่างปี พ.ศ.2480-2483 ภายใต้การควบคุมดูแลก่อสร้างของเจ้าสุวรรณภูมา ผู้ที่จบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์จากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และต่อมายังได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศลาว หลังจากได้รับชัยชนะในสงครามปลดปล่อยอีกด้วย นอกจากนี้สมัยอาณานิคมบริเวณรอบๆ วัดสีสะเกดและหอพระแก้ว เคยถูกใช้เป็นศูนย์กลางของหน่วยงานปกครองของฝรั่งเศสมาก่อน แม้ในปัจจุบันหอพระแก้วจะไม่ใช่วัดอีกต่อไปแล้ว ได้เปลี่ยนสภาพเป็นหอพิพิธภัณฑ์เพื่อเก็บรวบรวมพระพุทธรูปและโบราณวัตถุต่างๆ มากมาย แต่นักท่องเที่ยว (โดยเฉพาะชาวไทย) ก็ยังเดินทางมาสักการบูชากันเป็นจำนวนมาก ในส่วนของพิพิธภัณฑ์นั้นจัดแสดงพระแท่นราชบัลลังก์ปิดทองจารึกพระไตรปิฎกภาษาขอมและกลองสำริดประจำพระราชวงศ์ลาว สำหรับประตูใหญ่ทั้งสองประตูเป็นของเก่าแก่ที่หลงเหลือมาแต่เดิม บานประตูจำหลักเป็นรูปองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า บริเวณโดยรอบของหอพระแก้วเงียบสงบ ร่มเย็น  ก่อนกลับไม่ควรพลาดชมไหขนาดกลางจากทุ่งไหหินในแขวงเซียงขวางตั้งอยู่ 1 ใบภายในศาลาหลังเล็กด้านหน้าของหอพระแก้ว

หอคำ (ทำเนียบประธานประเทศ)
ที่ตั้ง: ถนนเชษฐาธิราช ทางทิศตะวันออกอยู่ติดกับหอพระแก้ว

แต่เดิมนั้นสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นจวนข้าหลวงฝรั่งเศสสำหรับปกครองอาณานิคมลาวที่ยึดมาได้ในปี พ.ศ.2436 ในอดีตที่ผ่านมาหอคำยังเคยเป็นประทับของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์และเจ้าศรีสว่างวัฒนา เมื่อครั้งเสด็จจากหลวงพระบางมาเยือนนครเวียงจันทน์ ปัจจุบันทางรัฐบาลลาวใช้เป็นที่รับรองอาคันตุกะต่างประเทศ ปัจจุบันท่านประธานประเทศไม่ได้พำนักอยู่ที่นี่แล้ว ทางรัฐบาลลาวไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมภายในทำเนียบ

ทาดดำหรือธาตุดำ
ตั้งอยู่เขตวงเวียน ใกล้กับบริเวณหอคำ และสถานทูตอเมริกา ไม่ปรากฏหลักฐานเวลาก่อสร้างที่แน่ชัด ว่ากันว่า เป็นพระธาตุที่สร้างขึ้นโดยกองทัพของสยาม เพื่อปิดทางเข้าออกเมืองบาดาลของพญานาค 7 เศียร ไม่ให้ออกมาช่วยคนลาวสู้กับทัพของสยาม จนทำให้กองทัพลาวพ่ายแพ้ต่อกองทัพของสยาม คนลาวเล่ากันว่า ทัพสยามได้ทำคำสาปเอาไว้ วิธีแก้คำสาปคือ ปล่อยให้พระธาตุพังทลายลงมาเอง เมื่อธาตุดำพังทลาย ตามธรรมชาติลงเมื่อใด (ไม่ใช่ฝีมือมนุษย์) พญานาคจะออกมา และประเทศลาวจะเจริญรุ่งเรืองดังเดิม ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีการบูรณะพระธาตุดังกล่าว


นอกจากนี้ หากนักท่องเที่ยวมีเวลาควรถือโอกาสไปล่องแพรับประทานอาหารกลางวัน ที่ลำน้ำงึม ของเขื่อนลำน้ำงึม ก็จะได้บรรยากาศผ่อนคลาย ชมวิถีชีวิตชาวลาวริมน้ำงึม อาหารดี ดนตรีไพเราะ และช่วงหนึ่งที่มีโอกาสมานครหลวงเวียงจันทน์ คำดี สิทธิศักดิ์ ได้พาเข้าเยี่ยมชมสนามกีฬาแห่งชาติของ สสป.ลาว ที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ อีกด้วย


เรียบเรียงจากประสบการณ์เที่ยวนครหลวงเวียงจันทน์และข้อมูลประกอบจาก

http://www.louangprabang.net/content.asp?id=394

Exit mobile version