แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อยู่ตอนใต้ของ สปป.ลาว มีขนาดใหญ่และความเจริญเป็นอันดับ 3 ของประเทศ อาณาเขตทางทิศตะวันตกติดกับชายแดนประเทศไทยทางด่านช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ทิศใต้ติดต่อกับเขตจังหวัดกัมปงทม ของประเทศกัมพูชา มีพื้นที่ประมาณ 15,415 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเมืองต่างๆ คือ เมืองปากเซ ชนะสมบูรณ์ ปากช่อง ประทุมพร สุขุมา จำปาสัก โพนทอง เมืองโขง มุลละปาโมก ในอดีตแขวงจำปาสักมีชื่อเรียกว่า เขตแคว้นของนครกาละจำบากนาคะบูริสี มีเมืองจำปาสัก เป็นเมืองหลวง และเป็นศูนย์รวมของศิลปวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจของประเทศลาวตอนใต้ แต่ภายหลังที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าอาณานิคม มีการตั้งเมืองปากเซขึ้นเป็นเมืองหลวงในปี พ.ศ. 2448 เมืองจำปาสัก (บ้านวัดทุ่ง) ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าของแขวงจำปาสักมาตั้งแต่สมัยขอมโบราณ จึงถูกลดระดับความสำคัญลงไป ที่เมืองปากเซ นอกจากชาวลาวแล้วยังมีชาวจีนและเวียดนามเข้ามาตั้งรกรากเป็นจำนวนมาก
แขวงจำปาสัก ปรากฏชื่อในพงศาวดารเขมรว่า สะมะพูปุระ เมื่ออาณาจักรฟูนันเสื่อมอำนาจ คนลาวได้ย้ายถิ่นเข้ามาสร้างบ้านเรือนกลายเป็นเมืองใหม่นามว่า “จำปานะคะบุลีสี” หรือ “จำปานคร” ถึงรัชสมัยพระเจ้าฟ้างุ้มได้ทรงรวบรวมเมืองต่างๆ ของลาวเข้ามาเป็นอาณาจักรเดียวกันชื่อว่า “ล้านช้าง” เป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองในทุกด้าน มีเมืองหลวงอยู่ที่หลวงพระบาง แต่เมื่อพระเจ้าฟ้างุ้มสิ้นพระชนม์ อาณาจักรล้านช้างเริ่มตกต่ำลงเพราะสงครามแย่งชิงอำนาจและการก่อกบฏต่างๆ นานนับร้อยปี จนถึง พ.ศ. 2063 พระเจ้าโพธิสารราชเจ้าขึ้นครองราชย์และรวบรวมแผ่นดินขึ้นใหม่ และได้ย้ายเมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้าง มาอยู่ที่เวียงจันทน์เพื่อให้ไกลจากการรุกรานของพม่า อาณาจักรล้านช้างเจริญมาได้ 200 ปีเศษก็เริ่มอ่อนแอ แตกออกเป็น 3 ฝ่าย คือ อาณาจักรหลวงพระบาง อาณาจักรเวียงจันทน์ และอาณาจักรจำปาสัก ซึ่งตรงกับสมัยกรุงธนบุรี ลาว 3 อาณาจักรมีปัญหาภายใน และชักนำให้สยามเข้าไปมีอิทธิพลในดินแดนลาว จึงโปรดให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ 1) ยกทัพไปตีลาวทั้ง 3 อาณาจักร ลาวจึงเป็นประเทศราชของสยาม (ไทย) นาน 114 ปีจนถึงปี พ.ศ. 2436 ไทยต้องยกลาวให้กับฝรั่งเศส แต่ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสเริ่มอ่อนแอ ญี่ปุ่นได้เข้ามาปกครองแทน แต่ภายหลังสิ้นสงครามโลกญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ฝรั่งเศสได้กลับมาปกครองลาวอีกครั้งหนึ่ง จนถึงปี พ.ศ. 2497 ฝรั่งเศสแพ้สงครามโลกที่เดียนเบียนฟู ลาวได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ แต่กลับถูกสหรัฐอเมริกาเข้าแทรกแซงทางการเมืองและการทหาร กลุ่มลาวรักชาติจึงได้ร่วมกันต่อสู้จนสหรัฐอเมริกาล่าถอย ลาวได้เปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ยกเลิกสถาบันเจ้าชีวิตหรือสถาบันกษัตริย์ โดยเจ้าชีวิตองค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรลาวจำปาสักคือ เจ้าบุญอุ้ม
การเดินทางไปยังเมืองปากเซ แขวงจำปาสัก
– จากชายแดนช่องเม็กในอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี (อยู่ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานีประมาณ 90 กิโลเมตร) ผ่านด่านวังเต่า สปป.ลาว มาตามทางหลวงหมายเลข 10 เป็นถนนลาดยางอย่างดี (ปี พ.ศ. 2556 กำลังมีการขยายถนนจากสองเลนเป็นสี่เลน) ระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร จะถึงสะพานมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่น มีความยาว 1,380 เมตร ข้ามแม่น้ำโขงมาเมืองปากเซ ใช้เวลาเดินทางจากด่านช่องเม็กประมาณ 1 ชั่วโมง
– การเดินทางจากพรมแดนช่องเม็กเข้าไปเมืองปากเซ สามารถใช้บริการของสถานีขนส่งลาว ที่อยู่ห่างจากด่านตรวจคนเข้าเมืองลาวระยะทาง 300 เมตร มีทั้งรถโดยสารประจำทาง รถสองแถว วันละหลายเที่ยว แต่ถ้ามีประมาณ 3-4 คน แนะนำให้ใช้บริการรถยนต์รับจ้าง จะสะดวกและเร็วกว่าหรือไปกับบริษัททัวร์จากกรุงเทพยาวไปเลยจะสะดวกที่สุด หรือสามารถนำรถส่วนตัวจากประเทศไทย เข้าไปเที่ยวปากเซได้อย่างสะดวก
สถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของปากเซ สถานที่ท่องเที่ยวของจำปาสัก
1. น้ำตกผาส้วม อุทยานบาเจียง
การเดินทางมายังน้ำตกผาส้วม นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาตามทางหลวงหมายเลข 23 จากเมืองปากเซ จนถึงบ้านห้วยแร่ประมาณกิโลเมตรที่ 21 แล้วเลี้ยวซ้ายมาตามทางหลวงหมายเลข 20 ประมาณ 13 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายมืออีก 2 กิโลเมตรเข้าสู่ตัวน้ำตก
คำว่า “ส้วม” ของลาว หรือคนอีสาน (สมัยก่อน) หมายถึง ห้องนอนที่กั้นไว้สำหรับลูกสาวลูกเขย (เจ้าบ่าว เจ้าสาว) ส่วนคำว่า “ตาด” แปลว่าลานหินที่เป็นชั้นๆ จุดเด่นของน้ำตกตาดผาส้วมคือ สายน้ำที่ไหลผ่านหินผาขนาดใหญ่ ที่มีลักษณะเป็นแท่งๆ รูปร่างคล้ายห้องหอของคู่บ่าวสาว ที่ถูกเรียงร้อยตกแต่งไว้ เป็นห้องนอนสวยงามยิ่งใหญ่อลังการ ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวสามารถลงอาบน้ำเหนือบริเวณน้ำตกได้อย่างสบาย
นอกจากนี้ภายในอุทยานแห่งชาติบาเจียง ซึ่งอยู่ในความดูแลของคุณวิมล กิจบำรุง ชาวจังหวัดนครปฐม ที่เข้ามาสัมปทานและบุกเบิกป่าเสื่อมโทรมเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมเอาหมู่บ้านโบราณของหลายชนเผ่ามาจัดแสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชมกัน เช่น บ้านของขาวกระต้าง ซึ่งเป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบๆ น้ำตกนี้ บ้านของชาวเผ่าอาลัก บ้านของชาวกระตู้ หอกวน ที่ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของชาวเผ่าละแว ภายในจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ของชาวเผ่าให้ชมเป็นจำนวนมาก และหอสูงของชาวละแวที่ใช้เป็นที่สังเกตการณ์ภายในหมู่บ้าน และที่น่าสนใจที่สุดคือบ้านพักของทางอุทยาน จำนวน 14 ห้อง ที่มีการจัดตกแต่งด้วยไม้ดูกลมกลืนกับธรรมชาติอย่างยิ่ง
2. ปราสาทวัดพู (มรดกโลก ของ ลาวตอนใต้)
ปราสาทวัดพู ถือเป็นโบราณสถานยุคขอมโบราณที่สำคัญใน สปป.ลาว (มีลักษณะคล้ายกับปราสาทเขาพระวิหาร) สันนิษบานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ามเหนทรวรมัน ปราสาทวัดพู ได้รับการรับรอง และขึ้นทะเบียนจากองค์การ UNESCO เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2545 เป็นมรดกโลกแห่งที่สองของประเทศลาว ถัดจากเมืองหลวงพระบาง ตั้งอยู่บนเนินเขาภู หรือเรียกกันว่า “ภูควาย” ห่างจากตัวเมืองเก่าจำปาสักประมาณ 6 กิโลเมตร
อาณาเขตของปราสาทวัดพู เริ่มต้นจากริมฝั่งบารายขนาดใหญ่ มีบันไดทางขึ้นรถหลั่นกันขึ้นมา 3 ชั้น จนถึงองค์ประธานของปราสาทซึ่งอยู่ชั้นบนสุด สำหรับบารายขนาดใหญ่นั้น สันนิษฐานกันว่า ในสมัยโบราณใช้เป็นที่แข่งเรือและที่สรงน้ำสำหรับพิธีกรรมต่างๆ ในอดีตที่ตั้งของวัดพู เคยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และแห่งอารยธรรมโบราณถึง 3 สมัย ได้แก่
1. อาณาจักรเจนละในช่วงศตวรรษที่ 6-8 ค้นพบจารึกกล่าวถึงการใช้ชีวิตผู้มีพรหมจรรย์ชาย หญิง เพื่อบูชาแด่เทพเจ้า
2. ยุคของอาณาจักรขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร ที่เลือกบริเวณนี้เป็นที่สร้างปราสาทหินในราวศตวรรษที่ 9
3. อาณาจักรล้านช้างได้เปลี่ยนเทวาลัยในศาสนาฮินดูให้เป็นวัดในพุทธศาสนานิกายเถรวาท
เมื่อเข้าสู่บริเวณปราสาท สิ่งที่โดดเด่นสะดุดตาแก่ผู้พบเห็นคือ ภูเขาด้านหลังปราสาทที่ตั้งเด่นตระหง่าน สามารถมองเห็นแต่ไกล รูปร่างคล้ายนมของผู้หญิงและคนเกล้ามวยผม ซึ่งเป็นที่มาของชื่อภูผาแห่งนี้ว่า “เขานมสาว” แต่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “ภูเกล้า”
ทั้งนี้ งานประเพณีประจำปี สำหรับการท่องเที่ยวปราสาทวัดพู จะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี (วันเพ็ญเดือนสาม วันมาฆบูชา) ซึ่งจะจัดติดต่อกัน 3 วัน โดยประชาชนชาวลาวจากทั่วทุกแขวงจะเดินทางนำสิ่งของมาบวงสรวงบูชาตามจุดต่างๆ ในบริเวณองค์ประธาน สำหรับในวันสุดท้ายจะมีพระสงฆ์ออกมาบิณฑบาต พอตกค่ำจะมีพิธีเวียนเทียนไปรอบๆ ปรางค์ประธาน
3. น้ำตกคอนพะเพ็ง
อยู่ห่างจากบ้านนากะสังลงมาราว 10 กิโลเมตร และห่างจากบ้านท่าม่วงลงมาราว 8 กิโลเมตร คอนพะเพ็ง เป็นน้ำตกที่ขนาดใหญ่ที่สุดในเขตแม่น้ำโขงตอนล่าง ตั้งอยู่บนแก่งหินขนาดใหญ่ที่ขวางกั้นเส้นทางการไหลของแม่น้ำโขงทั้งสาย มีลักษณะต่างระดับกันสูงประมาณ 10 เมตร ซึ่งแม้จะมีชั้นของหินไม่สูงมากนัก แต่กระแสน้ำที่ไหลถาโถมลงมามีความรุนแรงมาก ราวกับจะถล่มทลายแก่งหินอย่างดุดันและเกรี้ยวกราด สร้างความตื่นตาที่น่าประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว สมกับคำร่ำรือและยกย่องให้เป็น “ไนแองการ่า แห่งเอเชีย” นักท่องเที่ยวอาจจะมีโอกาสสัมผัสละอองไอน้ำที่แทรกตัวปกคลุมอยู่ตามแก่งหินแทบทุกอณูของบรรยากาศ
ภาพของน้ำตกคอนพะเพ็งที่น่าตื่นตาตื่นใจ สามารถมองเห็นได้ชัดเจนที่สุดจากศาลาไม้ที่สร้างไว้บนเหนือบริเวณที่กระแสน้ำไหลบ่าถาโถมลงมารวมตัวกันพอดี แต่หากต้องการสัมผัสความยิ่งใหญ่ของน้ำตกอย่างใกล้ชิดจากศาลาไม้ก็มีทางเดินลงมาชมบริเวณตัวน้ำตกในอีกมุมมองได้เช่นกัน แต่นักท่องเที่ยวต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ บริเวณน้ำตกคอนพะเพ็งมีร้านอาหารที่มีเมนูเด็ดอย่างปลาแม่น้ำให้เลือกมากมาย
นอกจากแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั้งสามแห่งที่ผมได้มีโอกาสมาสัมผัสแล้ว ในลาวใต้ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นที่น่าสนใจ ดังนี้
1. ดอนเด็ด ดอนคอน ในมหานทีสี่พันดอน ลาวใต้
ดอนเด็ด ดอนคอน เป็นเกาะเล็กๆ หนึ่งในมหานทีสี่พันดอน เกาะดอนเด็ด ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของดอนคอน มีเรือหางยาวลำเล็กให้บริการขึ้นลงตามร่องน้ำแคบๆ ระหว่าง ดอนเด็ดและดอนคอนทั้งสองเกาะนี้ เมื่อสมัยฝรั่งเศสยึดครองอินโดจีนจำเป็นต้องส่งสินค้าและสิ่งของต่างๆ ขึ้นไปทางตอนกลางประเทศ รวมถึงลำเลียงสินค้าออกจากลาวไปยังประเทศเจ้าอาณานิคม แต่ต้องติดขัด กับเกาะแก่งขนาดใหญ่ทำให้เรือสินค้าไม่สามารถแล่นผ่านแม่น้ำโขงในช่วงของน้ำตกคอนนะเพ็งและน้ำตกหลี่ผีไปได้ ฝรั่งเศสจึงได้สร้างท่าเรือและทางรถไฟบนดอนคอน ไว้สำหรับเป็นท่าเรือเพื่อขนถ่ายสินค้าลงเรือใหม่
เกาะดอนเด็ดและดอนคอน จะถูกเชื่อมด้วยสะพานปูน เดิมเป็นสะพานรถไฟของฝรั่งเศส แต่ปัจจุบันทางการลาวได้เอาทางรถไฟออกไปแล้วทำเป็นถนนแทน แต่ยังคงเก็บสภาพบรรยากาศเดิมๆเอาไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ชม โดยมีซากหักปรักหักพังของหัวจักรรถไอน้ำและรางรถไฟ ให้เห็นก่อนถึงแก่งหลี่ผี
บรรยากาศรอบๆ เกาะเงียบสงบวิถีการเป็นอยู่ ของชาวบ้านริมฝั่งน้ำอันเรียบง่าย ตลอดจนความร่มรื่นของต้นมะพร้าวหลายๆ ต้นบริเวณทั่วเกาะก็ทำให้เกาะแห่งนี้ เป็นเกาะที่น่าอยู่และได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เข้ามาพัก และท่องเที่ยวอยู่อาศัยหลายๆ วัน แบบ long-term ถือได้ว่าเป็น สวรรค์ของคนเรียบง่าย ไม่ต้องการความศิวิไลซ์ ขอติดและเกาะธรรมชาติไว้
2. แก่งหลี่ผี
หลี่ผี เป็นแก่งกลางแม่น้ำโขง ตั้งอยู่ในเขตดอนคอน ช่วงที่เหมาะแก่การเที่ยวชมแก่งหลี่ผี หรือ น้ำตกหลี่ผี คือช่วงกรกฎาคม – ธันวาคม เพราะจะสามารถเห็นสายน้ำจำนวนมากในแก่งหลี่ผี ไหลถาโถมผ่านเนินหินและโขดหินลงมาด้วยกำลังแรงแตกเป็นละอองสีขาวไปทั่วแก่งดูสวยงามตื่นตามาก
ชื่อน้ำตก “หลี่ผี” เกิดจากการเอาคำว่า หลี่-ผี มารวมกัน หลี่ เป็นภาษาลาว หมายถึง เครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายลอบ ใช้ดักปลากลางแก่ง ส่วนคำว่า ผี หมายถึงศพคนตาย ซึ่งบริเวณน้ำตกหลี่ผีจะมีกระแสน้ำไหลบ่าตามพื้นที่ราบผ่านแผ่นหิน แล้วไหลตกลงมาตรงช่องซอกเขาที่แตกแยกออกจากกัน กระแสน้ำสีเขียวเข้มในหน้าแล้งหรือสีชาในช่วงฤดูฝนจะไหลบ่าตกลงมาเบื้องล่าง จากนั้นจึงไหลไปตามรอยแยกของซอกเขาเป็นทางยาวหลายกิโลเมตร
จุดที่พบศพมากๆ คือบริเวณร่องหินของน้ำตกหลี่ผี บริเวณนี้กระแสน้ำจะไหลมารวมตัวกันเป็นแอ่งขนาดใหญ่ จากนั้นน้ำจะวนไปมาแล้วจึงไหลตกลงไป ด้านล่างผ่านซอกและหลืบหินแคบๆ ทำให้ศพของทหารในสมัยสงครามอินโดจีนจำนวนมากลอยมาติดในหลี่จับปลา ชาวลาวจึงเรียกน้ำตกแห่งนี้ว่า หลี่ผี บริเวณทางเข้าน้ำตกมีร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร เครื่องดื่ม
3. น้ำตกตาดฟาน น้ำตกตาดเยือง และ น้ำตกตาดอีตู้
ตาดฟาน เป็นน้ำตกที่สูงที่สุดในแขวงจำปาสัก เรียกอีกชื่อว่า น้ำตกดงหัวสาว (ฟาน แปลว่า เก้ง) จุดเด่นอยู่ที่สายน้ำ 2 สายที่ไหลลงจากหน้าผาสูงราว 120 เมตร โดยสายน้ำทางซ้ายมือไหลมาจากห้วยผักกูด และทางขวามือเป็นสายน้ำที่ไหลมาจากอุทยานแห่งชาติดงหัวสาว มีจุดชมวิวที่ตั้งอยู่คนละฟากเขากับตัวน้ำตก ในระดับความสูงเท่าๆกัน จากตรงนี้สามารถชมวิวตัวน้ำตกในมุมสูงได้อย่างชัดเจน และในยามเช้ายังเป็นจุดชมทะเลหมอกที่สวยงามอีกด้วย แต่สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสกับความยิ่งใหญ่ของน้ำตกแห่งนี้สามารถเดินลงไปชมตัวน้ำตกบริเวณด้านล่างได้ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร จากจุดชมวิว ด้านบน ใช้เวลาเดินเท้าค่อนข้างนาน ต้องเตรียมอาหารและอุปกรณ์กางเต็นท์ไปเองเพื่อพักแรมบริเวณด้านล่าง 1 คืน และเดินกลับขึ้นมาในวันรุ่งขึ้น นักท่องเที่ยวที่ต้องการพักแรม ควรติดต่อเจ้าหน้าที่บริเวณน้ำตกเพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางและการเตรียมตัวเพื่อความปลอดภัย หรือสามารถเลือกใช้บริการที่พักที่ “ตาดฟาน รีสอร์ท” ที่อยู่บริเวณก่อนถึงจุดชมวิวได้เช่นกัน โดยการเดินทางมายังน้ำตกตาดฟาน จะใช้ทางหลวงหมายเลข 23 เส้นทางไปปากซอง มาถึงหลักกิโลเมตรที่ 38 มีทางแยกเข้าขวามือ [ผมมีโอกาสเดินทางไปชมเมื่อ 22 เมษายน 2557]
น้ำตกตาดเยือง
ถัดจากน้ำตกตาดฟาน ที่หลักกิโลเมตรที่ 40 มีทางแยกเข้าขวามือเข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะพบน้ำตกตาดเยือง คำว่า “เยือง” แปลว่า “เลียงผา” เป็นน้ำตกขนาดกลาง ไม่สูงใหญ่เท่าตาดฟาน แต่มีข้อดีคือ นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปชมได้ใกล้ชิดถึงตัวน้ำตก โดยจุดเด่นของน้ำตกตาดเยือง คือ สายน้ำสีขาวที่ไหลออกมาตามหน้าผากระทบโขดหินแตกเป็นละอองสีขาวตัดกับสีดำเข้มของโขดหิน ท่ามกลางบรรยากาศอันร่มรื่นและเป็นส่วนตัว
น้ำตกตาดอีตู้
น้าตกตาดอีตู้ เป็นน้ำตกที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับตาดฟานและตาดเยือง คำว่า “อีตู้” แปลว่า “ควายตัวเมีย”เนื่องจากมี ควายอีตู้พลาดท่ามาตกน้ำตกที่นี้ตายเลยตั้งชื่อว่าน้ำตกตาดอีตู้ ที่น้ำตกตาดอีตู้ มีตาดอีตู้รีสอร์ท ไว้บริการนักท่องเที่ยว และภายในรีสอร์ทมีไร่กาแฟปลูกไว้เต็มพื้นที่ สวยงามมาก
เรียบเรียงจากประสบการณ์ตรง “สะบายดี ปากซ” และข้อมูลประกอบจาก
1. http://guideubon.com/news/view.php?t=49&s_id=4&d_id=4
2. http://guideubon.com/news/view.php?t=49&s_id=9&d_id=10
3. http://www.rakmuangthaitour.com/view_content.php?content_id=40