ก. แนวคิดการบริหารจัดการสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
“ปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ ตามมาตรา 8 วัตถุประสงค์ และมาตรา 9 อำนาจหน้าที่ แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 อย่างมีประสิทธิภาพ โดย
1. ลดขั้นตอน ลดระยะเวลาและลดกระบวนการทำงานที่ซับซ้อน
2. ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมสนับสนุนการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง รวดเร็ว
3. สร้างเครือข่ายและบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาวิชาชีพ กับหน่วยงานการศึกษาภายในและภายนอกประเทศ
4. เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของบุคลากรทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้สามารถบริการผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข. วิสัยทัศน์ด้านวิชาชีพทางการศึกษาของประเทศ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มาตรฐานวิชาชีพ และจรรยาบรรณของวิชาชีพทางการศึกษา นโยบายและแผนพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษา
วิสัยทัศน์คุรุสภา : คุรุสภาเป็นองค์กรวิชาชีพที่มีระบบและกลไกในการส่งเสริม สนับสนุน เชื่อมโยงการผลิต การคัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล
วิสัยทัศน์ของข้าพเจ้า : “ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่มีคุณภาพ คือพลังขับเคลื่อนการศึกษาไทย”
ข้าพเจ้า ขอนำเสนอแนวคิดบางประการตามพันธกิจของคุรุสภา ดังนี้
พันธกิจที่ 1 พัฒนามาตรฐานวิชาชีพ และกำกับ ดูแลการประกอบวิชาชีพ
ข้าพเจ้า ขอนำเสนอเพียง 3 ประเด็น ดังนี้
1. พัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาทุกแห่ง ให้เป็นผู้นำในการกำกับ ดูแลการพัฒนาวิชาชีพครูในสถานศึกษา ให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ และจิตวิญญาณของความเป็นครู ตลอดจนต้องผลักดันให้มีการกำหนดให้การพัฒนาวิชาชีพครูผูกพันกับการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติราชการ ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างบทบาทให้กับผู้บริหารสถานศึกษาและกระตุ้นให้ครูพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และไม่เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการในสถานศึกษา
2. จัดให้มีการประเมินและตรวจสอบคุณภาพของผู้ประกอบวิชาชาชีพทางการศึกษา ตามมาตรฐานตำแหน่ง จรรยาบรรณวิชาชีพและระดับวิทยฐานะ ทั้งนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา การมีวิทยฐานะสูง แต่ปฏิบัติงานไม่ได้ตามมาตรฐานตำแหน่ง มาตรฐานการปฏิบัติงานและวิทยฐานะ จึงต้องใช้เป็นเงื่อนไขในการพัฒนาตนเองและเป็นเงื่อนไขในการใช้ขอต่ออายุใบประกอบวิชาชีพ
3. มีคณะกรรมการหรือระบบและกลไกในการรักษามาตรฐาน ผดุงเกียรติ และศักดิ์ศรีของผู้ประกอบวิชาชีพ ต้องมีความรวดเร็วในการจัดการกับการกระทำหรือบุคคลที่กระทำการใดๆ ที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับวิชาชีพ
พันธกิจที่ 2 พัฒนาวิชาชีพ และส่งเสริมครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาชีพ
ข้าพเจ้าขอนำเสนอเพียง 2 ประเด็น ดังนี้
1. ส่งเสริมและเพิ่มบทบาทศูนย์เครือข่ายวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ให้มีศักยภาพในการพัฒนาหลักสูตร จัดการอบรมและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาในพื้นที่ของตนเอง ทำงานเชื่อมโยงกับสถาบันคุรุพัฒนา (แทนการให้ตัวแทนบริษัท ห้างร้านและเอกชนเป็นผู้กำหนดหลักสูตรการพัฒนา และให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาเป็นตัวแทนในการจัดการพัฒนาครู ดังนั้น คุรุสภาต้องส่งเสริมให้เกิดการสร้างเครือข่ายวิชาชีพที่มีศักยภาพในการทำหน้าที่นี้)
2. เร่งรัดกำหนดแนวปฏิบัติสำหรับแก้ปัญหาครูและบุคลากรทางการศึกษา ประกอบอาชีพอิสระหรือประกอบอาชีพเสริมอื่น นอกเหนือจากการทำหน้าที่ครู เพราะสถานการณ์นี้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการประสิทธิภาพในการทำหน้าที่การสอนและการใส่ใจดูแลนักเรียน เรื่องนี้คุรุสภาควรจะกำหนดให้ชัดเจนว่า จะปล่อยเลยตามเลย หรือจะสนับสนุนให้มีอาชีพที่สอง หรือจะไม่สนับสนุน หรือจะพบกันครึ่งทางอย่างพอดี และจะทำอย่างไร เพราะเป็นความจริงว่า เรื่องนี้ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและส่งผลต่อประสิทธิภาพการสอน
พันธกิจที่ 3 ประสาน ส่งเสริม การศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพ
ข้าพเจ้า ขอนำเสนอเพียง 4 ประเด็น ดังนี้
1. ยกระดับคุณภาพชุมชนทางวิชาการของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาเพิ่มขึ้น โดยในรอบ 5 ปีของการถือครองใบประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาแต่ละคนควรสามารถเขียนบทความทางวิชาการตีพิมพ์ (ออนไลน์และออฟไลน์) และต้องริเริ่มให้มีวารสารทางวิชาการของคุรุสภา ที่มีผลกระทบเชิงบวกอย่างสูง (High Impact) ในแวดวงวิชาการ
2. จัดตั้งกองทุนเฉพาะกิจที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนครูในการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของสังคม หรือทุนสนับสนุนการเปิดพื้นที่สำหรับประลองแนวคิดการจัดการเรียนรู้แนวใหม่ของครูรุ่นใหม่ และครูในระดับอื่น เช่น ครูชำนาญการ/ ครูชำนาญการพิเศษ
3. รวมพลังครูไทยให้แผ่นดิน ในวันครู ในลักษณะขอความร่วมมือครูบริจาค ตามกำลังศรัทธาหรือกำหนดขั้นต่ำเช่น รายละ 20, 30, 50 บาท สร้างอนุสรณ์วันครูในแต่ละปี ปีละหนึ่งแห่งหรือหลายแห่ง มอบเป็นทุนการศึกษา “ครูไทยให้ศิษย์” หรือสร้างสาธารณประโยชน์ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการสร้างความดีของครูไว้ในแผ่นดินและเป็นสิ่งที่เชื่อว่าครูจะภาคภูมิใจ
4. คุรุสภาประเทศไทย ต้องมีบทบาทนำในการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพของผู้บริหารสถานศึกษา ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดโครงการอบรมผู้บริหารสถานศึกษาจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนในประเทศไทย (ทุนสนับสนุนจากรัฐบาลไทย) เพื่อเผยแพร่แนวคิดการพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษาของไทย ตลอดจนแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีกับผู้ประกอบวิชาชีพจากประเทศสมาชิกอาเซียน
พันธกิจที่ 4 พัฒนาระบบบริหารจัดการโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม
ขอนำเสนอเพียง 3 ประเด็น ดังนี้
1. จัดให้มีระบบการขอรับและออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ อย่างถูกต้อง ทันสมัยและรวดเร็ว ในประเด็นนี้ต้องยอมรับว่า ขั้นตอนการต่อใบอนุญาตและการได้รับใบอนุญาต ในช่องทางปกติปัจจุบันใช้เวลานาน ซึ่งเมื่อเทียบกับกระบวนการเดียวกันในการขอรับเอกสารทางการศึกษากับสถาบันทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาจะใช้เวลารวดเร็วต่างกันมาก หากเป็นไปได้กระบวนการตรงนี้ ควรจะรวดเร็ว
2. สนับสนุนให้มีการจัดทำหลักสูตรการพัฒนาวิชาชีพ และจรรยาบรรณวิชาชีพผ่านระบบออนไลน์ ตลอดจนส่งเสริมให้หน่วยพัฒนาครู หรือศูนย์เครือข่ายวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่มีศักยภาพ จัดทำหลักสูตรการอบรมออนไลน์ที่ได้มาตรฐาน (เหมือนคอร์สเรียนออนไลน์จำนวนมาก ที่หน่วยงานต่าง ๆ มีการจัดทำและได้ผลดี) เพื่อเพิ่มทางเลือกในการพัฒนาตนเองของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา
3. จัดให้มีช่องทางออนไลน์เป็นสื่อเชิงรุก ฉับไวทันเหตุการณ์ ในการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ สร้างขวัญและกำลังใจ ยกย่องเชิดชูครูผู้มีอุดมการณ์ ตลอดจนนำเสนอกรณีตัวอย่างเป็น “คลินิกวิชาชีพ” เพื่อป้องกันการประพฤติผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ และมีแบบแผนการปฏิบัติตนที่ถูกต้องเหมาะสม