การเลือกตั้งในวงการครูและบุคลากรทางการศึกษา นอกจากจะมีการเลือก ก.ค.ศ. และเลือก อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาแล้ว ก็ยังมีการเลือกตั้งกรรมการคุรุสภา และกรรมการคุรุสภาเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งนี้ กรรมการคุรุสภา ที่เป็นครูผู้สอน และผู้บริหารสถานศึกษา ทั้งสายประถมศึกษาและสายมัธยมศึกษา จะมีการเลือกตั้งจากระดับเขตพื้นที่การศึกษาก่อน เมื่อได้กรรมการคุรุสภา ระดับเขตพื้นที่การศึกษา (การกำหนดจำนวนกรรมการคุรุสภา เป็นไปตามที่คณะกรรมการสรรหาเป็นผู้กำหนด คือ บางเขตอาจมีมากกว่า 1 คน) ผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาเหล่านั้น ก็จะไปเลือกกันเอง เป็นกรรมการคุรุสภา (ระดับประเทศ) โดยกรรมการคุรุสภา และกรรมการคุรุสภาเขต มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกแต่จะดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระติดต่อกันไม่ได้ ANANTASOOK จึงขอนำความรู้เกี่ยวกับ คณะกรรมการคุรุสภา และคณะกรรมการคุรุสภาเขตพื้นที่การศึกษา และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา มาฝากกัน
คณะกรรมการคุรุสภา (คณะกรรมการคุรุสภา ระดับประเทศ) ตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 มาตรา 12 ประกอบด้วย
1. ประธานกรรมการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูงด้านการศึกษา มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือกฎหมาย
2. กรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้อำนวยการสำนักบริหารคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนและหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น
3. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนเจ็ดคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูงด้านการบริหารการศึกษา การอาชีวศึกษา การศึกษาพิเศษ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกฎหมายด้านละหนึ่งคน ซึ่งในจำนวนนี้ต้องเป็นผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นครู ผู้บริหารสถานศึกษา หรือผู้บริหารการศึกษา ไม่น้อยกว่าสามคน
4. กรรมการซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ หรือการศึกษา ซึ่งเลือกกันเองจากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐจำนวนสามคน และจากสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจำนวนหนึ่งคน
5. กรรมการจากผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ซึ่งเลือกตั้งมาจากผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ดำรงตำแหน่งครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น และมาจากสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา สถาบันอาชีวศึกษา สถานศึกษาเอกชน และองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ตามสัดส่วนจำนวนผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ให้เลขาธิการคุรุสภาเป็นเลขานุการ หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาประธานกรรมการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา และหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาให้เป็นไปตามข้อบังคับของคุรุสภา
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา ตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 มาตรา 12 มีดังนี้
1. บริหารและดำเนินการตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของคุรุสภาซึ่งกำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
2. ให้คำปรึกษาและแนะนำแก่คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ
3. พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพตามมาตรา 54
4. เร่งรัดพนักงานเจ้าหน้าที่ส่วนราชการ หรือคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ปฏิบัติตามอำนาจ และหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด
5. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อกระทำการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา
6. ควบคุม ดูแล การดำเนินงาน และการบริหารงานทั่วไป ตลอดจนออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ในเรื่องดังต่อไปนี้
(ก) การจัดแบ่งส่วนงานของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาและขอบเขตหน้าที่ของส่วนงานดังกล่าว
(ข) การกำหนดตำแหน่ง คุณสมบัติเฉพาะ อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง และค่าตอบแทนอื่นของพนักงานเจ้าหน้าที่คุรุสภา
(ค) การคัดเลือก การบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอน วินัยและการลงโทษของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งวิธีการ เงื่อนไขในการจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่ของคุรุสภา
(ง) การบริหารและจัดการการเงิน การพัสดุ และทรัพย์สินของคุรุสภา
(จ) กำหนดอำนาจหน้าที่และระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายใน
7. กำหนดนโยบายการบริหารงาน และให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
8. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา
9. พิจารณาหรือดำเนินการในเรื่องอื่นตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภาเขตพื้นที่การศึกษา มีดังนี้
1. ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรฐานวิชาชีพและการประกอบวิชาชีพในเขตพื้นที่การศึกษาต่อสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
2. จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพ มาตรฐานวิชาชีพ จรรยาบรรณของวิชาชีพ และการยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา
3. ให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมในการจัดงานวันครู
4. จัดทำหลักสูตร นำเสนอหลักสูตร หรือให้ความเห็นชอบหลักสูตรการฝึกอบรมและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาตามมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการคุรุสภาพิจารณาให้การรับรอง
5. ให้ความเห็นชอบและอนุมัติเงินอุดหนุนการจัดกิจกรรมการพัฒนาวิชาชีพของเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพในเขตพื้นที่การศึกษาที่ขึ้นทะเบียนเป็นเครือข่ายของคุรุสภา
6. พิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา เพื่อรับรางวัลต่างๆ ของคุรุสภาตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนที่คณะกรรมการคุรุสภาหรือสำนักงานเลขาธิการคุรุสภากำหนด
7. จัดทำหรือรับรองผลการดำเนินงาน แผนงาน และงบประมาณประจำปี เสนอคณะกรรมการคุรุสภา
8. ปฏิบัติงานอื่นที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการคุรุสภาหรือสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
เรียบเรียงจาก [เว็บไซต์คุรุสภา]