คำว่า “แซน” หมายถึง การเซ่น การเซ่นไหว้ การบวงสรวง ส่วน “โฎนตา” หมายถึง การทำบุญให้ยาย และตา หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ดังนั้น ประเพณีแซนโฎนตา หมายถึง ประเพณีเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ จัดเป็นประเพณีสำคัญที่คนไทยซึ่งพูดภาษาเขมร มีการสืบทอดมาเป็นระยะเวลายาวนานนับพันปี โดยจะประกอบพิธีกรรมตรงกับวันแรม 14 ค่ำเดือน 10 ของทุกปี เมื่อถึงวันดังกล่าว ลูกหลาน ญาติพี่น้องที่ไปประกอบอาชีพหรือตั้งถิ่นฐานที่อื่น ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล จะเดินทางกลับมารวมญาติ เพื่อทำพิธีแซนโฎนตา บูชาบรรพบุรุษ
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ผ่านไป 7 สัปดาห์ ก็ได้เสด็จมายังกรุงพาราณสี ทรงโปรดพระปัญจวัคคีย์ โปรดชฏิล 3 พี่น้องพร้อมทั้งบริวาร 1,000 คน แล้ว จึงเสด็จไปยังกรุงราชคฤห์เพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสารจนได้บรรลุธรรมขั้นพระโสดาบัน
พระเจ้าพิมพิสารทรงนิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งภิกษุสงฆ์เพื่อรับภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น รุ่งเช้า พระพุทธเจ้าจึงเสด็จ ไปรับมหาทานในพระราชนิเวศน์ ส่วนพวกเปรตญาติของพระเจ้าพิมพิสารก็ได้รอรับถวายทานแล้ว ก็ทรงดำริว่าจักหาสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าว่าจะทรงประทับที่ไหน จึงทำให้ทรงลืมอุทิศส่วนบุญไปให้พวกเปรตญาติเสียสนิท พวกเปรตญาติที่รออยู่ เมื่อไม่ได้รับผลบุญจึงเสียใจในคืนนั้นจึงได้พากันร้องโหยหวนน่าสะพึงกลัวอย่างยิ่ง ในที่ใกล้พระราชนิเวศน์ ที่บรรทม พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงตกพระทัย พอรุ่งเช้าจึงทรงเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วกราบทูลเรื่อง เสียงนั้นให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เสียงร้องนั้นมิได้เป็นนิมิตรร้ายแต่ประการใด แต่เป็นเสียงเปรตญาติของพระองค์มารอส่วนบุญที่เมื่อวันก่อนพระองค์ถวายทานแล้วมิได้อุทิศแก่พวกเขา พวกเขาจึงพากันผิดหวังและมาส่งเสียงร้องดังกล่าว และได้รับคำแนะนำให้กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้พวกเขา
วันต่อมาพระเจ้าพิมพิสารจึงได้นิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารในพระราชวัง แล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่พวกเปรตเหล่านั้น ตกดึกคืนนั้นพวกเปรตมาปรากฏโฉมอีก แต่คราวนี้หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ขอบคุณที่แบ่งส่วนบุณให้แล้วก็อันตรธานหายวับไป
เรื่องของพระเจ้าพิมพิสาร จึงเป็นจุดเริ่มต้นของพิธีแซนโฎนตา ของชาวเขมร
ชาวเขมร เชื่อว่าเมื่อถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ประตูยมโลกจะเปิด ผีในยมโลกจะเดินทางมาเยี่ยมญาติได้ ชาวเขมรจึงมีการจัดทำอาหาร ขนม ข้าวต้ม ในตอนเย็นของวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 และพอรุ่งเช้า
วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ก็จะก็จะนำอาหาร ขนม ข้าวต้ม ไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่วัด เป็นวัน “เบ็นตูจ” โดยเชื่อว่า ผีจะออกมาจากยมโลกได้ 15 วัน หลังจากนั้นต้องกลับไปรับกรรมในยมโลกตามเดิม จากวันเบ็นตูจนับไปอีก 15 วัน (นับจากวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 ) จะตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี คือวัน “เบ็นทม” ซึ่งเป็นวันที่ประกอบพิธีแซนโฎนตา
สาเหตุที่ต้องเตรียมตัวทำบุญตั้งแต่วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 เพราะผีตายาย หรือผีบรรพบุรุษ ถูกปล่อยมาวันนั้น และเดินทางมาไกลเกิดความเหน็ดเหนื่อย หิวกระหาย เมื่อมาถึงก็จะอยู่ที่วัดรอคอยว่าญาติหรือลูกหลานจะมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้หรือไม่ เมื่อถึงรุ่งเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ญาติหรือลูกหลานก็จะไปทำบุญที่วัด ช่วงนี้ ถ้าญาติหรือลูกหลานมาก็จะดีใจและได้รับผลบุญจากที่ได้มีการทำบุญอุทิศให้ ก็จะอวยพรให้ญาติหรือลูกหลานมีความสุขความเจริญ ประกอบอาชีพประสบผลสำเร็จมีเงินมีทองใช้ แต่ถ้าไม่เห็นก็จะโกรธและสาปแช่งญาติหรือลูกหลานไม่ให้มีความสุขความเจริญ
จุดประสงค์ของประเพณีแซนโฎนตา นอกจากจะเป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผีบรรพบุรุษแล้วยังเป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ การสร้างปฏิสัมพันธ์ ความรักความอบอุ่นของสมาชิกในครอบครัวเครือญาติ ตลอดถึงการสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน
ขั้นตอนการประกอบพิธีกรรมแซนโฎนตา (กรณีบ้านปราสาท ตำบลท่าตูม อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์) มีดังนี้
1. การเตรียมอุปกรณ์เครื่องเซ่นไหว้
2. การเซ่นไหว้ศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน
3. การเซ่นไหว้ศาลพระภูมิประจำบ้าน
4. การประกอบพิธีกรรมแซนโฎนตาที่บ้าน
5. การประกอบพิธีกรรมบายเบ็น
6. การประกอบพิธีกรรมที่วัด
ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมอุปกรณ์เครื่องเซ่นไหว้ ในพิธีแซนโฎนตา ประกอบด้วย อาหารคาว – หวาน ผลไม้ เครื่องดื่มและอุปกรณ์ดังต่อไปนี้
1. อาหารคาวได้แก่ ปลานึ่ง ปลาย่าง หมูย่าง ไก่ย่าง แกงวุ้นเส้น แกงกล้วย ต้มยำไก่ ลาบหมู ไก่นึ่ง ซึ่งต้องเป็นไก่ทั้งตัวเอาเครื่องในออก
2. อาหารหวาน ได้แก่ ข้าวต้มมัดใบมะพร้าว ขนมเทียน ขนมนางเล็ด ขนมโชค(ขนมดอกบัว) ขนมโกรด ข้าวกระยาสารท
3. ผลไม้ ได้แก่ มะพร้าวอ่อน กล้วย ส้ม ละมุด พุทรา องุ่น เป็นต้น
4. เครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำเปล่า เหล้าขาว น้ำอัดลม เหล้าสีต่างๆ เป็นต้น
5. อุปกรณ์ต่างๆ ได้แก่ เสื่อหวาย ที่นอนแบบพับ หมอน ผ้าขาว ผ้าไหม ผ้าโสร่ง อาภรณ์ต่าง ๆ พาน ธูป เทียน กรวย 5 ช่อ ที่ทำจากใบตองสดม้วนเป็นกรวย แล้วสอดด้วย ธูป และใบกรูยกะนำ ความหมายของการจัดกรวย 5 ช่อ คือ ขันธ์ 5 หมายถึง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ( อ่ำ เอ็นดู, 2549, สัมภาษณ์)
เมื่อเตรียมอุปกรณ์ อาหารคาว-หวาน ผลไม้ และเครื่องเซ่น ๆ พร้อมแล้ว การจัดสถานที่ประกอบพิธีกรรมแซนโฎนตา จะปูด้วยเสื่อหวาย (หากไม่มีเสื่อหวายสามารถใช้เสื่อแบบอื่นได้ ) วางที่นอนแบบพับพร้อม หมอน ปูทับด้วยผ้าขาว นำผ้าไหม ผ้าโสร่ง หรืออาภรณ์อื่น ๆ วางไว้บนหมอน อาหาร เครื่องเซ่นต่างๆ จะวางไว้บนผ้าขาว หากไม่หมด สามารถวางรายรอบได้
ขั้นตอนที่ 2 การเซ่นไหว้ศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน ก่อนที่จะทำพิธีกรรมแซนโฎนตาที่บ้าน ชาวบ้านจะนำเครื่องเซ่นไหว้ซึ่งแบ่งไว้ต่างหากจากที่เซ่นที่บ้าน ไปเซ่นไหว้ศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน ซึ่งทุกบ้านที่จะประกอบพิธีกรรมใดก็ตามจะต้องไปเซ่นไหว้ศาลปู่ตาก่อนเสมอ เป็นการบอกกล่าวให้ศาลปู่ตาได้รับรู้ ตามความเชื่อที่สืบทอดต่อ ๆ กันมานานแล้ว
ขั้นตอนที่ 3 การเซ่นไหว้ศาลพระภูมิประจำบ้าน เมื่อเสร็จจากเซ่นไหว้ศาลปู่ตาประจำหมู่บ้านแล้ว จะนำเครื่องเซ่นไหว้ ซึ่งแบ่งไว้ต่างหากจากที่เซ่นที่บ้าน เซ่นไหว้ศาลพระภูมิประจำบ้าน เพื่อบอกกล่าวและเป็นการเปิดทางให้ผีบรรพบุรุษสามารถเข้ามาในบ้านได้
ขั้นตอนที่ 4 การประกอบพิธีกรรมแซนโฎนตาที่บ้าน แสดงออกถึงการนับถือผียายตา โดยเมื่อชาวบ้านทำการเซ่นไหว้ศาลพระภูมิประจำบ้านเสร็จแล้ว ก็จะเรียกญาติ ๆ มารวมกันที่บ้านของพ่อแม่ หรือ ปู่ย่าตายาย (ญาติระดับอาวุโสสูงสุดของครอบครัว) ซึ่งได้เตรียมสถานที่เซ่นไหว้ไว้แล้ว ถ้าครอบครัวใดที่พ่อแม่ได้เสียชีวิตไปแล้วก็จะไปรวมกันที่บ้านของญาติอาวุโสก่อน หลังจากนั้นจึงเชิญญาติอาวุโสไปที่บ้านของตน เพื่อให้ญาติอาวุโสเป็นผู้นำในการประกอบพิธี
การนำกรวย 5 ช่อ วางบนพาน พร้อมเงินเหรียญ 1 บาท 5 บาท 10 บาท หรือเงินจำนวนหนึ่งใส่ลงไปบนพาน ซึ่งเชื่อว่าเป็นเงินค่าเดินทางให้แก่ผีบรรพบุรุษ เมื่อเสร็จพิธีเงินที่วางไว้จะเป็นเงินมงคล หรือเงินที่ผีบรรพบุรุษอวยพรกลับให้มีความเจริญรุ่งเรืองร่ำรวยมีเงินมีทอง
เมื่อคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง มาพร้อมกันแล้ว ในขั้นตอนนี้ กรณีที่เชิญญาติหรือผู้อาวุโสมาเป็นผู้นำในพิธีเจ้าของบ้านก็จะมีการยกพานกรวย (แสดงการเคารพ)ให้แก่ผู้อาวุโส จากนั้นผู้อาวุโสจึงนำทำพิธีโดยการยกพานกรวย พร้อมญาติ ๆ และเจ้าของบ้าน จะยกเครื่องดื่ม น้ำเปล่า น้ำหวาน น้ำอัดลม เหล้า เบียร์ ต่าง ๆ ขึ้น หลังจากนั้นผู้อาวุโสกรวดน้ำลงพื้นดิน(ต้องถึงดินจริงๆ) เพื่อบอกพระแม่ธรณีให้ได้รับรู้และเป็นการสื่อสารถึงผีบรรพบุรุษ เพราะเชื่อว่าการกรวดน้ำที่ใสบริสุทธิ์ลงพื้นดิน จะสามารถสื่อสารไปถึงผีบรรพบุรุษได้
ผู้อาวุโสกรวดน้ำลงพื้นดินเสร็จแล้วจะเป็นการจุดธูปจุดเทียนปักที่ของเซ่นต่าง ๆ จากนั้นผู้อาวุโสกล่าวเป็นภาษาเขมร ดังนี้ (สำเนียง สมานพร้อม, 2549 , สัมภาษณ์)
(ภาษาเขมร)
“โมเวย แมเอาว์ ยายตา ดอลแคดอลงัยโฎนตาเฮย มาแคเมียนมะนอง แดลบานลวงลับโตวเฮย ออยบานโมโฮบโมประสา
ตองเอ๊าะเรือลคะเนีย โกนเจาบานรีบตะตูลตุเฮย เมียนนมเนจเจยอันซอมซ็อบยาง เบอโกนเจามันรีบมันตะตูลเฮย
แมเอาว์ยายตาเกอะมือมุมือเมือดกี โกนเจารีบตะตูลตุเฮย เกาะโมโฮบโมประสากรุบ ๆ คะเนีย อันเจินโมตองเอาะเด้อ”
(คำแปล)
“มาเน้อ พ่อแม่ ยายตา ถึงวันโฎนตาแล้ว ปีหนึ่งมีครั้งเดียว ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ก็ให้ได้มารับประทานกันทุกท่าน
ลูกหลานได้ตระเตรียมต้อนรับไว้แล้ว มีขนมเนย กล้วย ข้าวต้ม ทุกอย่าง จะได้ไม่ต้องยืนมองดูคนอื่นเขากินอาหาร
ลูกหลานเตรียมไว้ต้อนรับแล้ว มารับประทานทุก ๆ ท่าน อัญเชิญมาทั้งหมด”
พร้อมนี้คนในบ้านหรือญาติอาวุโสลำดับต่อมาก็นำเครื่องดื่มต่าง ๆ รินลงแก้ว หรือภาชนะอื่นรองรับเครื่องดื่ม (ทำเหมือนการกรวดน้ำ) เป็นครั้งที่หนึ่ง เหมือนดังว่าผีบรรพบุรุษกำลังรับประทานอาหารเครื่องเซ่นอยู่ สักพักประมาณ 5-10 นาที ก็จะรินเครื่องดื่มอีกเป็นครั้งที่ 2 เหมือนดังว่าผีบรรพบุรุษทานอาหารฝืดคอต้องดื่มน้ำดื่มเหล้า ในระหว่างนี้ผู้ร่วมพิธีก็จะกล่าวเป็นภาษาเขมรดังนี้
(ภาษาเขมร)
“แมเอาว์ ยายตาเวย นมเนจเจยอันซอมกะเมียน เบียร์กะเมียน สรากะเมียน โมโฮบเรือลคะเนีย โฮบเฮยกอเพอะตืก
เพอะสรา แดลโกนเจาบานรีบตะตูลเฮยนีเกอะ ออยโกนเจาบานรัวซีเมียนเกิด โกนเจานารับเรียชการเกอะออยมันเกิดเจ้าเนีย
บานตำแนงกะปั๊วบานเกิดทีปึง คันแมเอาว์ตอโตวมุ โกนเจานากำปูงรีนเกอะออยสอบบานที่หนึง”
(คำแปล)
“พ่อแม่ ยายตาเอ้ย อาหารขนมข้าวต้มก็มี เบียร์ก็มี เหล้าก็มี มารับประทานทุกท่าน รับประทานแล้วอาหารฝืดคอก็ดื่มน้ำ ดื่มเหล้า สิ่งที่ลูกหลานได้ตระเตรียมมานี้ก็ขอให้ลูกหลานทำมาหากินเจริญรุ่งเรือง
ลูกหลานคนไหนรับราชการก็ขอให้มีตำแหน่งใหญ่โต ได้ตำแหน่งสูงขึ้นไปข้างหน้า เป็นที่พึงของพ่อแม่ต่อไป
ลูกหลานคนไหนกำลังเรียนอยู่ก็ขอให้สอบได้ที่ 1″
(เป็นการยกตัวอย่าง ไม่จำกัดว่าต้องกล่าวเช่นนี้ทั้งหมด)
ซึ่งในการรินเครื่องดื่มครั้งที่ 2 นี้คำกล่าวส่วนใหญ่เป็นคำขอพรจากลูกหลาน และในระหว่างนี้ลูกหลานก็จะพูดคุยกันถึงเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ ของคนในครอบครัว เหมือนดังว่าเป็นการบ่นถึงความทุกข์ของลูกหลาน หรือการบอกถึงความสำเร็จความเจริญก้าวหน้าของลูกหลาน เพื่อให้บรรพบุรุษได้รับรู้ และช่วยเหลือหรือชื่นชมยินดีต่อไป สักพักประมาณ 5-10 นาที จะเป็นการรินน้ำเป็นครั้งที่ 3 เป็นการรินเพื่อให้ผีบรรพบุรุษได้ดื่ม เมื่อรับประทานอาหารเครื่องเซ่นเสร็จแล้ว และเป็นการล้างมือ และจะมีการกล่าวเป็นภาษาเขมรดังนี้ (อ่ำ เอ็นดู, 2549, สัมภาษณ์)
(ภาษาเขมร)
“แมเอาว์ ยายตา เกอะบานโฮบบานประสาจะแอดเฮย บานเพอะตืก บานเลียงใดเลียงจืง ออยปวรโกนเจากะมัย
ยากกะมัยกรอ ออยรัวซีเมียนเกิด โกนเจาเกอะออยคารถคารา เมียนสังป๊วด เมียนโสร่ง บานโตวเวือดโตววา โตวเสราะโตวแสร”
(คำแปล)
“พ่อแม่ ตายาย ก็ได้รับประทานอิ่มแล้ว ได้ดื่มน้ำ ได้ล้างมือล้างเท้าแล้ว ก็อวยพรให้ลูกหลานอย่าได้ยากจน
ขอให้ทำมาหากินประกอบอาชีพเจริญรุ่งเรือง แล้วลูกหลานก็มีค่ารถฝากไป มีผ้าถุง มีโสร่ง เพื่อให้ พ่อแม่ ตายาย ได้ใส่ไป
วัดไปวา ใส่กลับบ้านกลับช่อง”
ทั้งนี้เชื่อกันว่า ผีบรรพบุรุษล่วงลับไปนานแล้วเสื้อผ้าอาภรณ์ต่าง ๆ ก็เก่าแล้ว จึงได้จัดหาให้ใหม่ เพื่อจะได้ใส่ไปรับบุญกุศลที่ลูกหลานได้ไปทำบุญในรุ่งเช้าของวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ที่วัดในหมู่บ้าน
หลังจากที่รินน้ำเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ผู้อาวุโสจะแบ่งอาหารเครื่องเซ่น อย่างละเล็กอย่างละน้อยใส่ห่อใบตอง พร้อมกรวย 5 ช่อและเงินเหรียญต่าง ๆ จำนวนหนึ่ง โปรยไปที่พื้นเหมือนการโปรยทาน เพื่อให้ผีที่ไม่มีญาติที่คอยอยู่นอกบ้านได้รับประทานด้วย ในระหว่างนี้เด็ก ๆ ลูกหลานจะคอยรับและแย่งเงินเหรียญกันสนุกสนาน
เมื่อทำพิธีเสร็จแล้วลูกหลานญาติพี่น้องก็จะนำอาหารเครื่องเซ่นต่าง ๆ มารับประทานร่วมกัน เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ ในหมู่ลูกหลาน ญาติมิตรเพราะหนึ่งปี มีครั้งเดียว ลูกหลานที่ไปอยู่หมู่บ้านอื่นหรือต่างจังหวัดจะได้รู้จักคุ้นเคยกัน
ขั้นตอนที่ 5 การประกอบพิธีกรรมบายเบ็น เมื่อเสร็จพิธีกรรมแซนโฎนตาที่บ้านแล้ว จะมีการทำบายเบ็น ประกอบด้วยข้าวเหนียวนึ่ง คลุกกับงาปั้นเป็นก้อน ๆ ขนม ข้าวต้มแกะห่อออก ผลไม้ต่างๆ เช่น มะยม มะขามป้อม สมอ อ้อยควั่นเป็นแว่น มีเผือกต้ม แล้วใสภาชนะไปรวมกันที่วัดในเวลาเช้ามืดของวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ให้พระทำพิธีให้ แล้วจึงนำบายเบ็นไปที่นาเพื่อบูชาเซ่นไหว้แม่โพสพ จากนั้นก็นำบายเบ็นไปหว่าน หรือโรยให้ทั่วนาข้าว ซึ่งโดยปกติแล้วในเวลานั้นข้าวจะตั้งท้อง ก็เป็นการรับขวัญข้าวพอดี
ทองสุข สุทธิสาร (2549 , สัมภาษณ์) สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าตูม ประจำหมู่ 5 บ้านปราสาท กล่าวว่าการทำบายเบ็น จากการสังเกตพบว่าคล้ายกับการทำน้ำหมักชีวภาพปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนประกอบต่าง ๆ คล้าย ๆ กัน เพียงแต่ว่าน้ำหมักชีวภาพจะหมักนาน บายเบ็นไม่ได้หมักก่อนนำไปหว่าน แต่เมื่อหว่านบายเบ็นไปแล้วข้าวมีความอุดมสมบูรณ์ เมล็ดไม่ลีบ ได้เมล็ดข้าวเต็มเม็ดเต็มหน่วยเต็มรวงสวยงาม
ขั้นตอนที่ 6 การประกอบพิธีกรรมแซนโฎนตาที่วัด ในเช้าของวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 หลังจากที่นำบายเบ็นไปหว่านที่นาแล้ว ก็จะนำอาหาร คาวหวานลักษณะเดียวกันกับที่ประกอบพิธีแซนโฎนตาที่บ้าน โดยทำขึ้นใหม่นำไปที่วัด เพื่อให้พระสงฆ์ทำพิธีสวดมนต์ อุทิศส่วนกุศลให้อีกครั้งหนึ่ง แต่การอุทิศส่วนกุศลที่วัดจะไม่จำเพาะเจาะจงว่าจะเป็นญาติ หรือบรรพบุรุษของตนเองเท่านั้น แต่จะรวมถึงผีไร้ญาติ สัมพะเวสี ผีเปรต ผีเร่ร่อน เจ้ากรรมนายเวร ต่าง ๆ ได้รับส่วนบุญด้วย
ลักษณะการทำพิธีที่วัดจะมีลักษณะคล้ายกันกับทำที่บ้าน แต่จะเพิ่มเติมส่วนที่เป็นของสังฆทานถวายพระสงฆ์มาด้วย กล่าวคือ การทำพิธีที่วัดจะมีสิ่งของมาสองส่วน คือ ส่วนที่ทำบุญกับพระสงฆ์มี สังฆทาน ต่างๆ และส่วนที่ทำพิธีแซนโฎนตา ซึ่งเหมือนกันกับทำที่บ้าน
พระครูปทุมปริยัติการ (2549, สัมภาษณ์) กล่าวว่าตอนเช้ามีพิธีตักบาตร ถวายอาหารพระสงฆ์ จากนั้นพระสงฆ์สวดมนต์บทต่าง ๆ จนถึงบทชยันโต พระสงฆ์อาวุโสก็จะพรมน้ำมนต์ และจบด้วยบทให้พร คือ ยะถา…สัพพี… ในระหว่างพระสวดยะถา ทุกคนจะตั้งใจทำการกรวดน้ำ โดยมองไปที่สายน้ำที่ใสรินไหลจากภาชนะใบหนึ่งลงสู่ภาชนะอีกใบหนึ่งด้วยใจจดจ่อ ไม่ให้สายน้ำขาด ในใจก็จะอุทิศบุญกุศลถึงผีบรรพบุรุษ ผีไร้ญาติ สัมพะเวสี ผีเปรต ผีเร่ร่อน เจ้ากรรมนายเวร ต่าง ๆ โดยเชื่อว่าการทำเช่นนี้จะสามารถส่งถึงผีบรรพบุรุษและผีอื่นที่อุทิศได้
โสรัจ คงทน (2549, สัมภาษณ์) กล่าวว่าการกรวดน้ำขณะที่พระสวดยะถานั้น สามารถส่งสิ่งของที่ทำบุญ ให้ไปถึงผีที่เราตั้งใจส่งไปได้ โดยได้เคยพิสูจน์มาแล้วว่าแม้แต่คนที่ยังไม่ตายก็ยังสามารถรับรู้ถึงความรู้สึกอิ่มเอิบได้ ซึ่งได้ยกตัวอย่างว่ามีคนในหมู่บ้านไปทำงานเป็นลูกจ้างในเรือประมงแล้วประสบพายุสูญหายไป ญาติพี่น้องคิดว่าตายไปแล้ว จึงประกอบพิธีศพให้โดยใช้โลงศพเปล่า ๆ มีสวดยะถาให้พรจากพระสงฆ์ ญาติกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ หลังจากที่บุคคลดังกล่าวที่คิดว่าตายไปแล้วกลับมา กล่าวถึงความรู้สึกว่าในขณะที่ติดเกาะอยู่ในบางวันรู้สึกอิ่มเอิบ โดยไม่ทราบสาเหตุ และอิ่มจนไม่รู้สึกหิวข้าว หิวอาหาร เป็นวัน ๆ เป็นเช่นนี้อยู่เป็นประจำทุกวันพระ โสรัจ คงทน จึงเชื่อว่าการกรวดน้ำสามารถส่งสิ่งของที่ทำบุญไปนั้น ถึงผีที่เราตั้งใจส่งไปได้
ที่มา : http://muang.surin.police.go.th/culture/culture.htm
ภาพประกอบจาก : http://2.bp.blogspot.com/-yNGs9gKH0Bg/Uk1hMn7TxmI/AAAAAAAAAKc/jFjQlrCpIHc/s1600/250479_542844545741055_1595498426_n.jpg