การศึกษาเป็นกระบวนการต่อเนื่องตลอดชีวิต นอกจากการเรียนรู้หนังสืออันเป็นกุญแจสำคัญที่ไขเข้าสู่สรรพวิทยาการแล้ว การเรียนรู้ด้วยสื่อการเรียนอย่างอื่น และกระบวนการอื่น ๆ ซึ่งมีอยู่นานัปการนั้น จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้เรียนให้ดีขึ้นได้ ดังนั้น องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO จึงได้กำหนดเอาวันที่ 8 กันยายนของทุกปี เป็นวัน International Literacy Day ตามมติของที่ประชุมของรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการจากประเทศทั่วโลก ว่าด้วยการขจัดการไม่รู้หนังสือ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเตหะราน เมื่อปี พ.ศ. 2508 (ค.ศ. 1965) เพื่อเป็นวันที่ระลึกการรู้หนังสือสากล และได้มีหนังสือเชิญชวนประเทศสมาชิกร่วมจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967 เป็นต้นมา
ประเทศไทยได้เริ่มจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อการรณรงค์และระลึกถึงการรู้หนังสือมาตั้งแต่ พ.ศ. 2510 ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 กองการศึกษาผู้ใหญ่ ได้จัดนิทรรศการ “วันการศึกษาผู้ใหญ่แห่งชาติ” ขึ้น ณ หอสมุดแห่งชาติ และในปี พ.ศ. 2521 ได้จัดนิทรรศการ “วันการศึกษาผู้ใหญ่และการศึกษานอกระบบ” ขึ้น ณ บริเวณโรงละครแห่งชาติ โดยมีหน่วยงานจากภายนอกเข้ามาสมทบด้วย
ในปี พ.ศ. 2522 ได้มีการจัดนิทรรศการ “วันการศึกษานอกโรงเรียน” ขึ้น ณ บริเวณคุรุสภา ในปีนี้มีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการสร้างเสริมคุณลักษณะที่ดีของการเรียนรู้และกระตุ้นให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของการรู้หนังสือ และการศึกษาตลอดชีวิต ด้วยเหตุนี้ International Literacy Day จึงได้กลายมาเป็น “วันการศึกษานอกโรงเรียน” ของไทยด้วยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา
โดยเหตุที่การศึกษานอกโรงเรียนเป็นการศึกษาตลอดชีวิต และกระบวนการเรียนการสอนไม่จำกัดสถานที่ เวลา อายุ เพศ หรืออาชีพของผู้เรียน แต่เน้นกลุ่มเป้าหมายที่ไม่มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนในระบบโรงเรียน การจัดการศึกษานอกโรงเรียน จึงมีหลายรูปแบบ เช่น
1. การสอนให้คนอ่านออกเขียนได้ เพื่อให้มีความรู้พื้นฐานในการดำรงชีวิต ได้แก่ โครงการรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือแห่งชาติ โครงการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จขั้นพื้นฐาน และโครงการศึกษาต่อเนื่อง
2. การจัดที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน ห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดเคลื่อนที่ วิทยุและโทรทัศน์เพื่อการศึกษา เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารที่ทันต่อเหตุการณ์
3. การสอนวิชาชีพหลักสูตรระยะสั้น โครงการฝึกอบรมต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายด้านวิชาชีพ และให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคม
กิจกรรมที่จัดในวันการศึกษานอกโรงเรียน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของการรู้หนังสือและการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งส่วนตนและส่วนรวมให้ดีขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยให้ประชาชนได้รับรู้และมีความเข้าใจเกี่ยวกับการให้บริการของกรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย
เรียบเรียงจาก :
1. วรนุช อุษณกร. ประวัติวันสำคัญที่ควรรู้จัก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2543.
2. http://www.lib.ru.ac.th/journal/sep/sep08-InternationalLiteracyDay.html
3. http://th.wikipedia.org/wiki/วันการศึกษานอกโรงเรียน
ภาพประกอบจาก : http://www.altrusa.com/Images/international-literacy-day-web-banner.png