[ข้อมูล] การจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ นักศึกษาพี่เลี้ยงค่ายจุดประกายการเรียนรู้วิชาการ ค่ายแนะแนววิชาการ

ค่ายวิทยาศาสตร์ เป็นกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เสริมหลักสูตรชนิดหนึ่ง ซึ่งจัดให้นักเรียนที่มาเข้าร่วมกิจกรรมพักแรม (กลางคืน) ร่วมกัน ณ ที่ใดที่หนึ่ง กิจกรรมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่จัดขึ้น มีลักษณะเป็นกิจกรรมที่จะช่วยเพิ่มพูนความรู้ ทักษะกระบวนการ และประสบการณ์ตรงทางวิทยาศาสตร์ ช่วยจุดประกายความสนใจใคร่เรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ (และคณิตศาสตร์) และรวมถึงการแนะแนววิชาการ จูงใจเรียนต่อ เพิ่มแรงจูงในในการเรียนและอยากเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไปด้วย (นักศึกษาและ/หรือนักศึกษาฝึกสอน ควรมีโอกาสได้ออกค่ายเป็นพี่เลี้ยงค่ายสักครั้ง…เพราะเมื่อเป็นครูแล้ว การที่ครูจะจัดกิจกรรมค่ายเอง ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับครูจำนวนมาก หากไม่ใช่นโยบายของโรงเรียนแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ยากมาก การประสานงานกับนักศึกษาในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา จึงเป็นสิ่งจำเป็น และคุณครูผู้นั้น ควรมีประสบการณ์ในการออกค่ายและจัดค่าย จะได้เข้าใจวัฒนธรรมการทำค่ายมากขึ้น)

วัตถุประสงค์ของการจัดค่ายวิทยาศาสตร์ มีดังนี้
     1. เพื่อเพิ่มพูนความรู้ กระบวนการ ประสบการณ์ตรงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
     2. เพื่อปลูกฝังเจตคติต่อการเป็นนักวิทยาศาสตร์ และผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
     3. เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีความสามัคคี มนุษยสัมพันธ์ และความเป็นผู้นำ
     4. เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์
     5. เพื่อให้มีโอกาสใช้แหล่งวิทยากรมากกว่าการสอนปกติ

ขั้นตอนในการจัดค่ายวิทยาศาสตร์ มีดังต่อไปนี้
     1. ขั้นเตรียมการควรมีการเตรียมการล่วงหน้าให้นานพอเพียง ทุกสิ่งทุกอย่างเตรียมให้เรียบร้อยก่อนวันเปิดค่ายไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์ เวลาในการเตรียมค่ายจะมากน้อยต่างกันขึ้นอยู่กับกิจกรรมและระยะเวลาในการอยู่ค่าย สิ่งที่จะต้องทำได้แก่
             1.1 จัดทำโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ และแต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ในโครงการจัดค่ายควรระบุหลักการและเหตุผล จุดประสงค์ กิจกรรมที่จะจัดขึ้น กำหนดงบประมาณที่จะใช้จ่าย และผลที่คาดว่าจะได้รับ
             1.2 เตรียมงานด้านวิชาการ
             1.3 เตรียมงานด้านนันทนาการ
             1.4 กำหนดกฎเกณฑ์และวิธีการที่จะคัดเลือกนักเรียนมาเข้าค่ายให้เหมาะสม
             1.5 ติดต่อประสานงานด้านธุรการต่างๆ เช่น ที่พัก อาหาร ยา การรักษาความปลอดภัย และทำหนังสือถึงผู้ปกครองเพื่อขออนุญาตนำนักเรียนเข้าค่าย
      2. ขั้นดำเนินการ
             2.1 จัดค่ายตามที่วางแผนไว้
             2.2 ประชุมกรรมการควบคุมค่ายตามความเหมาะสม
             2.3 ดำเนินกิจกรรมด้านวิชาการตามขั้นตอนต่อไปนี้
                     – ชี้แจงแนวทางและให้ความรู้ก่อนดำเนินกิจกรรม
                     – ดูแลนักเรียนขณะดำเนินกิจกรรม
                     – นักเรียนเขียนรายงานอภิปรายสรุปกิจกรรมประจำวัน
       3. ขั้นประเมินผล ในการจัดค่ายวิทยาศาสตร์ ควรมีการประเมินผล 2 แบบ คือ
            3.1 การประเมินผลประจำวัน ได้แก่ การประเมินกิจกรรมทุกๆ ด้านที่ดำเนินไปในแต่ละวัน โดยการประชุมระหว่างคณะกรรมการควบคุมค่าย ทำให้ทราบข้อบกพร่องของกิจกรรมในวันนั้น เพื่อการปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
           3.2 การประเมินผลเมื่อสิ้นสุดการอยู่ค่าย เป็นการประเมินผลการอยู่ค่ายทั้งหมดทุกด้านทั้งกิจกรรมวิชาการนันทการ บริหาร ธุรการ และอื่นๆ ข้อมูลเหล่านี้ควรได้รับจากผู้เข้าค่ายทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ผลจากการประเมินนี้จะมีประโยชน์ในการจัดค่ายครั้งต่อไป

กิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ กิจกรรมที่จัดขึ้นในค่ายวิทยาศาสตร์ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ กิจกรรมด้านวิชาการและกิจกรรมนันทนาการ
     1. กิจกรรมด้านวิชาการเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเสริมจากหลักสูตรปกติ เป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าแก่นักเรียนและเป็นกิจกรรมที่ไม่สามารถจะจัดได้หรือจัดได้ยากในภาคเรียนปกติการอยู่ค่ายจึงเป็นโอกาสที่นักเรียนจะได้รับประสบการณ์ที่แปลกใหม่ และได้รับประโยชน์จากการเข้าค่ายอย่างเต็มที่ กิจกรรมทางวิชาการมีหลายแบบดังนี้
          1.1 การศึกษาและดูงานหน่วยงาน สถานที่ต่างๆ เป็นการเพิ่มประสบการณ์ตรงแก่นักเรียน จากแหล่งความรู้ปฐมภูมิ นักเรียนสามารถศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลตรงได้ในทันที ก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนก่อให้เกิดเจตคติที่ดีได้
          1.2 การศึกษาและสำรวจธรรมชาติ เป็นการจัดประสบการณ์ตรงให้กับผู้เรียน เน้นในเรื่องของการศึกษาระบบนิเวศในธรรมชาติหรือสภาวะแวดล้อมเป็นหลัก
          1.3 การบรรยายทางวิชาการ เป็นกิจกรรมที่จัดให้กับบุคคลที่มีผลงานดีเด่น มีชื่อเสียง เคยได้รับรางวัลเป็นบุคคลตัวอย่างทางวิทยาศาสตร์มาบรรยาย ให้นักเรียนได้รับข้อมูลโดยตรงจากผู้สร้างผลงานนั้น
          1.4 กิจกรรมฝึกความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ เช่น ให้นักเรียนประดิษฐ์อุปกรณ์หรือเครื่องมือ เครื่องใช้จากวัสดุเหลือใช้ที่จัดหามา
          1.5 การปฏิบัติการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ หรือสถานที่เตรียมไว้ อาจจัดสถานที่และวัสดุอุปกรณ์ให้นักเรียนทดลองปฏิบัติเป็นเรื่องๆ แล้วให้นักเรียนหมุนเวียนกันปฏิบัติการทดลองจนครบ เรื่องที่ทดลองควรเป็นเรื่องที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์
          1.6 การฝึกงานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้นักเรียนได้มีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ เป็นการเพิ่มพูนความรู้ และทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
          การจัดกิจกรรมสามารถจัดได้อีกหลายรูปแบบ เช่น การอภิปราย สัมมนาปัญหาวิทยาศาสตร์ การทำโครงงานทางวิทยาศาสตร์ การจัดนิทรรศการแสดงผลงานทางวิทยาศาสตร์ของตนเอง  ตลอดจนกิจกรรมที่ใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่มีลักษณะแปลกแตกต่างไปจากบทเรียนปกติ ต้องให้ทั้งความสนุกสนานเพลิดเพลินและได้รับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปพร้อมกัน
     2. กิจกรรมด้านนันทนาการ : เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อความสนุกสนานคลายเครียด ส่งเสริมการแสดงออก ความสามัคคีและความเป็นผู้นำ กิจกรรมนันทนาการในค่ายวิทยาศาสตร์มักจะเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและสัมพันธ์กับการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วย กิจกรรมที่อาจจัดขึ้นได้แก่
          2.1 การออกกำลังกายในภาคเช้า และ/หรือตอนเย็น
          2.2 เกม เช่น การผสมอักษรเพื่อใช้เป็นชื่อพืชหรือสัตว์ เกมสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์
          2.3 การร้องเพลง
          2.4 การถามตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์
          2.5 ภาพยนตร์หรือวีดีโอเทปทางวิทยาศาสตร์
          เวลาสำหรับจัดกิจกรรมนันทนาการควรเลือกให้เหมาะสม เช่น อาจใช้เวลาเพียง 5–10 นาที ก่อนหรือหลังกิจกรรมทางวิชาการ หรือแทรกในระหว่างดำเนินกิจกรรมทางวิชาการเพื่อผ่อนคลายความเครียด หรือจัดช่วงเวลาไว้สำหรับกิจกรรมนันทนาการโดยเฉพาะ เช่น ในเวลากลางคืนหลังจากรับประทานอาหารเย็น

          กล่าวโดยสรุป ค่ายวิทยาศาสตร์จัดเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรวิทยาศาสตร์ เป็นการศึกษาวิทยาศาสตร์นอกเหนือจากในห้องเรียน โดยจัดให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมกัน ณ ที่ใดที่หนึ่งในช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ที่ไม่สามารถจัดในห้องเรียนได้ หรือจัดได้แต่ไม่ดีเท่าที่ควร จุดมุ่งหมายของการจัดค่ายวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนนั้น เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ มีเจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ และฝึกให้นักเรียนคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ขณะเดียวกัน ผู้จัดค่าย ที่เป็นนักศึกษา ก็ได้มีโอกาสในการฝึกการทำงานร่วมกัน การแก้ปัญหา การบริหารจัดการ และเสริมสร้างจิตสาธารณะในการบริการสังคมในเชิงวิชาการ โดยทักษะต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยส่งเสริมให้นักศึกษาที่จัดค่ายได้นำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานร่วมกับผู้อื่นในสังคมต่อไป

ประสบการณ์การจัดค่ายของผู้เขียน
สำหรับผู้เขียน ช่วงที่เป็นนักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากการเข้าร่วมเป็นพี่เลี้ยงค่ายในค่ายวิชาการ ค่ายแนะแนว ค่ายฟิสิกส์สัญจรและค่ายธรรมะแล้ว ในด้านกิจกรรมค่ายที่เกี่ยวกับการจุดประกายความสนใจทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการแนะแนวศึกษาต่อนั้น ได้ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการค่ายหลายค่าย ดังนี้
          1. กิจกรรมแนะแนวชวนน้องเข้า มข. ณ โรงเรียนเบิดพิทยาสรรค์  จัดโดยศิษย์เก่า มข. เบิดพิทยาสรรค์-รัตนบุรี และเพื่อนร่วมหอพักที่รู้จัก รวมหกคน ชวนกันมาเองในช่วงหยุดวันเข้าพรรษาของปี พ.ศ. 2541
          2. ค่ายแนะแนวสัมพันธ์ ณ โรงเรียนเบิดพิทยาสรรค์  จัดโดยศิษย์เก่า มข. เบิดพิทยาสรรค์-รัตนบุรีและเพื่อนนักศึกษาภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับทุนสนับสนุนจากสมาคมศิษย์เก่ามหาวิยาลัยขอนแก่น ผ่านทางองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อ 20-22 สิงหาคม 2542
sakanan-camp-1
          3. ค่ายจำปาแก้ว-แนะแนวสัมพันธ์ ณ โรงเรียนเบิดพิทยาสรรค์ จัดโดย นักศึกษาทุนโครงการ พสวท.-สควค. ศูนย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ขณะปฏิบัติหน้าที่ประธานนักศึกษาโครงการ พสวท. และ สควค. ศูนย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น) เมื่อ 18-20 สิงหาคม 2543
sakanan-camp-2
          4. ค่ายจำปาแก้ว-แนะแนวสัมพันธ์ ณ โรงเรียนธาตุศรีนคร จัดโดยศิษย์เก่า มข. อำเภอรัตนบุรี และทีมงานชมรมประสานงานนักศึกษาเพื่อน้องผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น  (ขณะปฏิบัติหน้าที่ สมาชิกสภานักศึกษา (ส.ส.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทุนสนับสนุนจากสภานักศึกษา) กิจกรรมค่ายสองคืนสองวัน ในปี พ.ศ. 2544 (ฟิล์มที่ใช้ในการบันทึกภาพสูญหายทั้งหมด)
          5. ค่ายจุดประกายวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ โรงเรียนปากคาดพิทยาคม จัดโดย นักศึกษา ป.บัณฑิต โครงการ สควค. รุ่นที่ 6 ศูนย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ขณะปฏิบัติหน้าที่ ประธานนักศึกษาทุน สควค.ฯ) เมื่อ ปี พ.ศ. 2545
sakanan-camp-3
นอกจากนี้ ปี พ.ศ. 2547 ขณะรับราชการครูที่โรงเรียนมัธยมทับทิมสยาม 04 จังหวัดสุรินทร์  ได้ประสานงานให้มีการจัดกิจกรรมค่ายอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งน้ำ โดยนักศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์  ปี พ.ศ. 2549 ขณะรับราชการที่โรงเรียนพนาสนวิทยา จังหวัดสุรินทร์ ได้ประสานงานให้มีการจัดกิจกรรมค่ายจุดประกายความสนใจวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ โดยนักศึกษาทุนโครงการ สควค. จากศูนย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และปี พ.ศ. 2551 ขณะรับราชการที่โรงเรียนนารายณ์คำผงวิทยา จังหวัดสุรินทร์ ได้ร่วมสนับสนุน (ในฐานะรุ่นพี่ชมรมวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น) และจัดส่งนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมค่ายวิชาการ ของชมรมวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่โรงเรียนธาตุศรีนคร จังหวัดสุรินทร์ 



Leave a Comment