สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และชมรมรักษ์กล้วย ตระหนักถึงความสำคัญขององค์ความรู้เรื่องกล้วยและการอนุรักษ์สายพันธุ์กล้วยไทย จึงได้ริเริ่มโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ “เรื่องกล้วย…กล้วย…มหัศจรรย์พรรณไม้แห่งมนุษยชาติ” ขึ้น เพื่อส่งเสริมความรู้เรื่องของกล้วยในเชิงวิทยาศาสตร์โดยการบูรณาการความรู้ร่วมกับภาษาศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ เพื่อให้เยาวชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องกล้วยและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต ค่ายกล้วย…กล้วย จึงเกิดขึ้น >>
ค่าย “เรื่องกล้วย…กล้วย…มหัศจรรย์พรรณไม้แห่งมนุษยชาติ” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 มกราคม 2553 ในโอกาสนี้ นักเรียนกลุ่มกล้วยพันกอ จากโรงเรียนนารายณ์คำผงวิทยา จังหวัดสุรินทณื ที่ประกอบด้วยครูที่ปรึกษา 1 คน คือ นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข และนักเรียน จำนวน 3 คน คือ นางสาวกาญจนาพร ครองไข่น้ำ, นางสาวปรีญานุช สมทิพย์, นายนนทนันท์ จันทกุล ได้รับคัดเลือกร่วมเข้าค่ายดังกล่าว และนักเรียน ทีมกล้วยพันกอ เป็น 1 ใน 3 ทีม จาก 30 ทีม ที่ได้รับคะแนนรวมสูงสุดจากคณะครูที่ปรึกษา 25 คน ในด้านผลงานที่มีทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ ความคิดสร้างสรรค์และการนำไปใช้ประโยชน์ จากการนำเสนอแนวคิดโครงงานเรื่อง “ประสิทธิภาพการแตกหน่อของกล้วยหอมด้วยปุ๋ยต่างชนิดกัน”
ทั้งนี้ จากประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกล้วยที่ปลูกในท้องถิ่น Mr.ANANTASOOK มีคำถามที่สามารถเป็นแนวคิดให้นักเรียนและคุณครูที่มีความสนใจในการทำโครงงานเกี่ยวกับเรื่องกล้วย ดังนี้
1. เราจะปลูกกล้วยในทุ่งนาที่มีความแห้งแล้ง เพื่อพิทักษ์ดินและน้ำ ลดความร้อนแล้งได้อย่างไร ในฤดูแล้ง ทุ่งนาอีสานต้องประสบกับปัญหาความร้อนและแห้งแล้ง ทำให้พืชที่ปลูกตาย ผลผลิตเสียหาย ซึ่งถ้าต้องการให้ได้ผลผลิตดีต้องใช้น้ำจากใต้ดิน ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เราได้สังเกตพบว่า ดินบริเวณที่ปลูกกล้วยจะมีความชุ่มชื้นสูงกว่าบริเวณที่ไม่ได้ปลูก และหากมีการปลูกกล้วยในพื้นที่ว่างเปล่า ตามคันคูนา นอกจากจะได้กล้วยไว้กินแล้ว ยังช่วยพิทักษ์ดิน(พบไส้เดือน) น้ำ(ความชุ่มชื้น) และลดภาวะโลก(อีสาน)ร้อน ได้ด้วย ทั้งนี้หากมีการส่งเสริมการปลูกกล้วยตามทุ่งนาของสุรินทร์แล้ว นอกจากจะสามารถใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของกล้วยแล้วยังได้อาหารสำหรับ “ช้างสุรินทร์” ด้วย
2. จากข้อ 1 กล้วยที่ปลูกในทุ่งนา เมื่อถึงฤดูแล้ง ใบจะแห้งกรอบและลำต้นเล็กลงเพราะขาดน้ำ แต่เมื่อถึงฤดูฝนก็จะกลับมาเขียวชอุ่มอีกครั้ง และมีหน่อกล้วยเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก คำถามคือว่า เราจะสามารถปรับปรุงพันธุ์กล้วยที่ปลูกในทุ่งนาให้สามารถให้ผลผลิตในฤดูแล้งและทนความร้อนแล้ง ได้อย่างไร
3. กล้วยที่ปลูกในดินบริเวณเดียวกัน แต่มีประสิทธิภาพในการแตกหน่อ ให้เครือและผลที่สมบูรณ์แตกต่างกัน อะไรเป็นปัจจัยของความแตกต่างดังกล่าว เราได้พบว่า กอกล้วยที่ใส่ปุ๋ยน้ำหมักจากเปลือกหอยจะมีประสิทธิภาพฯ ดีกว่า กอกล้วยที่ใส่ปุ๋ยมูลสัตว์ (ขี้วัว-ขี้ควาย) จริงหรือ?? หรือมีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้อง
4. กล้วยที่มีการบริโภค แต่ละชนิด มีคุณค่าทางอาหาร แตกต่างกันอย่างไร กล้วยที่มีการนำมาบริโภคมีหลายชนิด เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ กล้วยหอมทอง กล้วยหอมเขียว เป็นต้น กล้วยเหล่านี้ มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอะไรบ้าง กินผลสุกกับกินผลเมื่อผ่านความร้อน(ทำขนม) คุณค่าทางอาหารจะมีอยู่แตกต่างกันอย่างไร รวมถึงแต่ละส่วนของกล้วยที่มีการบริโภค เช่น ปลี ลำต้น ราก มีสรรพคุณทางยาอย่างไร ถ้ามีคนทำวิจัยไว้แล้ว หากมีการรวบรวมความรู้เรื่อง กล้วยกับวิถีชีวิตของคนไทยดังกล่าวข้างต้น เผยแพร่ให้ประชาชนทราบก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
5. การศึกษาเปรียบเทียบวิธีการบ่มกล้วยด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน ในชุมชนมีการบ่มกล้วยด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน เช่น การใช้หม้อดินอบความร้อน การใช้แก๊ส การมัดปากถุงกระสอบ การใช้ใบพืชเช่น ใบสาบเสือ อบในหม้อดิน วิธีการเหล่านี้ส่งผลต่อเวลาการสุกของกล้วยแตกต่างกันอย่างไร และมีผลต่อปริมาณน้ำตาลหรือสารอาหาร (ในข้อ 4) อย่างไร
กิจกรรมเสนอแนะสำหรับครู
ให้นักเรียนทำโครงงานตามประเด็นคำถามวิจัยที่นำเสนอในบทความ
การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น
1. คณิตศาสตร์ ศึกษาระยะที่เหมาะสมในการปลูกกล้วย จำนวนลูกหรือจำนวนหวี ในหนึ่งเครือ หรือรูปแบบ(ความซ้ำๆ) ของหวีกล้วยแต่ละชนิด
2. สังคมศึกษา การนำส่วนต่างๆของกล้วยใปใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น ลอยกระทง ห่อขนม แต่งงาน หรือแม้แต่งานศพ (ตั้งแต่เกิดจนตาย)
3. ภาษาไทย แต่งกลอนคำประพันธ์ ที่เกี่ยวกับกล้วย
4. การงานอาชีพ การเพาะปลูกกล้วย และการประกอบอาหารจากกล้วย