โปสเตอร์ผลงานวิจัย เป็นสื่อที่ใช้ในการนำเสนอผลงานวิจัยของครู นักศึกษา นักวิจัย หรือนักวิชาการ นอกเหนือจากการนำผลงานวิจัยไปตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ เรามักจะได้เห็นการแสดงโปสเตอร์ผลงานวิจัยตามงานสัมมนา งานประชุมวิชาการ ซึ่งมีทั้งผลงานวิจัยของนักวิจัย นักวิชาการ ครู และนักศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงระดับปริญญาเอก
1. ข้อมูลในโปสเตอร์ต้องถูกต้องครบถ้วน ตามองค์ประกอบการนำเสนอผลงานวิจัย ได้แก่ ชื่องานวิจัย, ชื่อผู้วิจัย, ชื่อที่ปรึกษา, ต้นสังกัด, บทคัดย่อ (Abstract), หลักการและวัตถุประสงค์ (objective), ระเบียบวิธีวิจัย (Methodology), ผลการวิจัย (Result), สรุป (Conclusion) เอกสารอ้างอิง (References) และมีภาพประกอบตามสมควร นอกจากนี้ ก็อาจจะมี การให้เครดิตกับหน่วยงานที่สังกัด และหน่วยงานที่สนับสนุนทุนวิจัย อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องใส่ทุกอย่างลงในโปสเตอร์ คัดเอาเฉพาะสำคัญและน่าสนใจเท่านั้น
2. การนำเสนอข้อมูลต้องตามลำดับ โดยอาจแบ่งเป็นกรอบ (ซ้าย-ขวา หรือ บน-กลาง-ล่าง) เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ทำให้ดูสวยงามได้ แต่ไม่ควรทำให้ฉูดฉาดมากนัก เพราะจะไม่ดูเป็นการเสนอผลงานที่เป็น “วิชาการ” และรูปแบบตัวอักษรควรเป็นไปตามที่กำหนด หรือดูเรียบร้อยสบายตา
3. ขนาดของโปสเตอร์ผลงานวิจัย ต้องเป็นไปตามที่ผู้จัดงานกำหนด (โดยทั่วไปกำหนดขนาด 80 x 120 ซม.) ต้องทราบว่า การจัดโปสเตอร์เป็นแนวตั้งหรือแนวนอน ถ้าทำต่างออกไป อาจไม่มีบอร์ดให้ปิด ถึงปิดไปแล้วต่างจากคนอื่น ก็อาจจะกลายเป็น “จุดเด่น” ที่เจ้าตัวไม่น่ายินดีเท่าไหร่ หรือบางแห่งก็อาจไม่มีให้ปิดก็ได้
4. โปรแกรมสำหรับทำโปสเตอร์ผลงานวิจัย ถ้าไม่เป็นโปรแกรมอะไรสักอย่าง ก็เตรียมเนื้อหา รูปภาพ แล้วก็ออกแบบคร่าวๆ ไปที่โรงพิมพ์ได้เลย แต่อาจใช้เวลาในการตรวจแก้ไข หลายรอบ แต่ถ้าสามารถใช้งานบางโปรแกรมได้ ก็สะดวกครับ ทำเสร็จ ไปโรงพิมพ์แล้วก็อาจจะรับงานในวันนั้นได้เลย มีหลายโปรแกรมที่ใช้ทำโปสเตอร์ เช่น PowerPoint, Photoshop, InDesign, Illustrator หรือแม้แต่ MS Word สำหรับโปสเตอร์ ที่ผมทำนี้ ใช้โปรแกรม PowerPoint ครับ
5. สถานที่พิมพ์โปสเตอร์ผลงานวิจัย ทุกวันนี้ เทคโนโลยีการพิมพ์ ก้าวหน้าไปมาก ท่านสามารถนำไฟล์ที่ออกแบบไว้ จากทุกโปรแกรม ไปที่โรงพิมพ์ระบบดิจิตอลได้เลยครับ จะพิมพ์ลงไวนิล หรือพิมพ์ลงกระดาษ ถ้าพิมพ์ลงกระดาจะเอาแบบเคลือบหรือแบบปกติ มีให้เลือกตามความพอใจ ราคาก็ขึ้นกับคุณภาพของงาน สมัยนี้ต้องแบบว่า เอาลงกระดาแบบเคลือบไปเลยครับ เพราะสามารถเก็บไว้ใช้ได้หลายงาน นำไปปิดไว้ที่โรงเรียนก็สวยและดูดีมีคุณค่า ใช้ประโยชน์ได้หลายงาน
6. การนำโปสเตอร์ไปจัดแสดงในต่างประเทศ ควรม้วนใส่กระบอกใส่โปสเตอร์ให้เรียบร้อย ช่วงที่ผมข้าร่วมประชุมวิชาการ ASERA 2013 ที่ Wellington, New Zealand (ภาพที่ 1) ผมเห็นผู้นำเสนอผลงานแบบโปสเตอร์ จากประเทศไต้หวัน ทำโปสเตอร์พิมพ์ข้อความใส่ผ้า (ลักษณะจะเป็นผ้ามัน ลื่นๆ) ครับ เก็บง่าย พับใส่กระเป๋าได้เหมือนผ้าผืนหนึ่ง สะดวกมาก (ยังไม่เคยพบที่ประเทศไทยมาก่อน)
ตัวอย่างโปสเตอร์ของผม ในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในโรงเรียน (วทร. ครั้งที่ 21)
เว็บไซต์ : ASERA : [Australasian Science Education Research Association]
เรียบเรียงจากประสบการณ์และข้อมูลบางส่วนจาก : http://janghuman.wordpress.com