[แนวทาง] การจัดกิจกรรมโฮมรูม หรือ กิจกรรมวิสาสะ ตัวอย่างกิจกรรมโฮมรูม เรื่อง การฝึกประชาธิปไตยในโรงเรียน

การจัดกิจกรรมโฮมรูม เป็นการจัดกิจกรรมในห้องเรียนให้มีลักษณะเหมือนบ้าน คือ ให้ นักเรียนมีความคุ้นเคยซึ่งกันและกัน และคุ้นกับครูดังเป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อ ให้ประโยชน์แก่นักเรียนในด้านต่างๆ เช่น แนวทางการศึกษาต่อ การตระหนักในคุณค่าของการประกอบอาชีพ รู้คุณสมบัติของผู้ประสบความสำเร็จในอาชีพ รู้วิธีสร้างความสัมพันธ์อันดีกับบุคคลอื่น ฝึกทักษะในการพูด ฝึกระเบียบวินัย ฝึกการคิดวิเคราะห์ ฝึกประชาธิปไตย

ในการจัดกิจกรรมโฮมรูม มีครูหลายคนยังจัดกิจกรรมนี้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ เป็นต้นว่า ใช้เป็นเวลาสำรวจการมาเรียนขาดเรียนของนักเรียน ประกาศเรื่องราวต่างๆที่ฝ่ายบริหารโรงเรียนจะต้องแจ้งแก่นักเรียน เป็นเวลาเก็บค่าเล่าเรียน หรือไม่นักเรียนทำงานที่ค้าง ซึ่งทำให้กิจกรรมนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนเท่าที่ควร

เวลาที่ใช้ในการจัดกิจกรรมโฮมรูม มีความแตกต่างกัน บางโรงเรียนจัดกิจกรรมนี้ในช่วงเช้าก่อนเริ่มเรียน ใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที บางโรงเรียนจัดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละ 40-50 นาที โดยอาจจัดในตอนเช้าหรือตอนเย็นตามความเหมาะสม

รูปแบบบริการแนะแนวในช่วงเวลาโฮมรูม ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
1. การแต่งตั้งผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรม ซึ่งได้แก่ ครูแนะแนว ครูประจำชั้น หรือครูอื่นๆ
2. สำรวจความต้องการของนักเรียน ในระดับชั้นที่จัดกิจกรรม
3. พิจารณาลักษณะของนักเรียน ในด้านความรู้พื้นฐาน ทักษะ ความสนใจ และวัย
4. ศึกษาหลักสูตร เพื่อไม่ให้กิจกรรมที่จัดมีเนื้อหาซ้ำซ้อนกับวิชาอื่น
5. กำหนดหัวข้อเรื่อง ให้ครอบคลุมการแนะแนวการศึกษา อาชีพและการปรับตัวทางสังคม
6. จัดกิจกรรมโฮมรูมในลักษณะกิจกรรมสำเร็จรูป ซึ่งประกอบด้วย หัวข้อเรื่อง วัตถุประสงค์ เนื้อหา วิธีจัดกิจกรรม อุปกรณ์และการประเมินผล เพื่อสะดวกในการนำไปใช้

แนวทางการจัดกิจกรรมโฮมรูมหรือกิจกรรมวิสาสะเรื่อง การฝึกประชาธิปไตย

student-council-2ระดับชั้น : กิจกรรมสำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
เวลาที่ใช้ : ใช้เวลาครั้งละ 20 นาที โดยจัดกิจกรรมในหัวข้อนี้ทั้งสิ้น 3 ครั้ง
จุดมุ่งหมาย : เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสฝึกประชาธิปไตยในห้องเรียน
เนื้อหา : ในสังคมที่อยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องมีการจัดระบบการปกครอง ต้องมีผู้นำและมีผู้ตาม ซึ่งสมาชิกในสังคมจะรู้บทบาทของตัวเอง และปฏิบัติตามระเบียบที่ได้ตกลงร่วมกันสมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเลือกผู้แทนของตนเข้ามาบริหารงาน ในการเลือกผู้แทนมีวิธีการขั้นตอนแบบประชาธิปไตย มีวิธีการปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเรียกว่า ระบบพรรค แต่ละพรรคมีนโยบายของตน
2. มีการเผยแพร่หาเสียง ซึ่งให้กลุ่มคนเลือกตนไปบริหารงาน
3. ในการเลือกพรรคขึ้นมาบริหารงาน ต้องมีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม
4. พรรคที่ได้รับเลือกตั้งต้องปฏิบัติตามนโยบายที่วางไว้
5. สมาชิกทั้งหมดต้องปฏิบัติตามบทบาทของตน ในการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี

กิจกรรมครั้งที่ 1 “ระบอบประชาธิปไตยในห้องเรียน”
1. ครูติดภาพการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้นักเรียนดู พร้อมทั้งอธิบายถึงความจำเป็นในการมีผู้แทนเข้ามาบริหารประเทศหรือสังคม
2. ครูอธิบายถึงระบบการเลือกตั้งผู้แทนตามขั้นตอนประชาธิปไตย
3. ครูและนักเรียนร่วมกันพิจารณาใช้ระบอบประชาธิปไตยในการบริหารห้องเรียน โดยให้นักเรียนที่สนใจในการบริหารงานในห้องเรียน จัดตั้งพรรคของตนขึ้นโดยให้แต่ละพรรคประกอบด้วยกรรมการ 4 คน คือ หัวหน้า รองหัวหน้า เลขานุการ และเหรัญญิก พร้อมทั้งร่วมกันกำหนดนโยบายของพรรค (ครูกำหนดให้นักเรียนจัดตั้งพรรคให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์)
อุปกรณ์ : ภาพการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
การประเมินผล : ประเมินจากความสามารถในการตอบคำถามเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย

กิจกรรมครั้งที่ 2 “การหาเสียง”
ครูเปิดโอกาสให้กรรมการของแต่ละพรรคออกมาแถลงนโยบายหน้าห้องเรียน พร้อมทั้งนำแผ่นโฆษณาของพรรคมาติดในที่ที่กำหนดไว้ในห้องเรียน และเปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนในห้องเรียนได้ซักถาม เพื่อเกิดความกระจ่างเกี่ยวกับนโยบายนั้น
อุปกรณ์ : แผ่นโฆษณาพรรคของแต่ละพรรค
การประเมินผล : สังเกตความสนใจฟังและการซักถามของนักเรียน

กิจกรรมที่ 3 “กระบวนการเลือกตั้ง”
1. เลือกตัวแทนนักเรียนขึ้นมาเป็นกรรมการกลาง 1 ชุด เพื่อจัดเตรียมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องเตรียมการดังนี้
1.1 จัดเตรียมบัตรสำหรับลงคะแนนเสียง ให้มีจำนวนเท่ากับสมาชิกทุกคน
1.2 จัดเตรียมเขียนชื่อพรรคแต่ละพรรคไว้บนกระดาน พร้อมทั้งแบ่งช่วงสำหรับให้ขีดรอยคะแนนและรวมคะแนน
1.3 จัดเตรียมบัตรสำหรับใส่บัตรคะแนนวางไว้หน้าชั้น
2.ครูเปิดโอกาสให้คณะกรรมการของแต่ละพรรคแนะนำตัวอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นการทบทวนให้สมาชิกได้พิจารณาก่อนลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
3. ครูอธิบายขั้นตอนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแบบระบบพรรค โดยกำหนดว่าสมาชิกทุกคนเขียนชื่อพรรคที่ตนเองเลือกลงในบัตร แล้วนำบัตรไปใส่ลงในกล่องรับคะแนนหน้าห้องเรียนด้วยตนเอง
4. เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว ให้คณะกรรมการกลางแจกบัตรให้สมาชิกลงคะแนน แล้วนำไปหย่อนในกล่องหน้าชั้นเรียน
5. เมื่อเสร็จสิ้นการหย่อนบัตรแล้ว จะมีการนับคะแนนโดยคณะกรรมการกลาง ซึ่งมีวิธีดำเนินการนับคะแนน ดังนี้
5.1 ให้กรรมการกลางคนหนึ่งเป็นผู้อ่านชื่อพรรคในบัตร
5.2 ให้กรรมกลางอีกคนหนึ่งเป็นผู้ขีดรอยคะแนนในช่องของชื่อพรรคนั้นๆ
5.3 กรรมการกลางรวมคะแนนของแต่ละพรรค พร้อมทั้งประกาศผลการเลือกตั้ง พรรคใดได้คะแนนสูงสุดจะได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนการบริหารในห้องเรียน
6. เมื่อเลือกพรรคผู้แทนบริหารงานเรียบร้อยแล้ว ให้กรรมการทุกคนในพรรคแสดงตัว พร้อมทั้งกล่าวคำปฏิญาณในนโยบายพรรคและขอบคุณสมาชิกที่ให้การสนับสนุน
อุปกรณ์ : 
1. บัตรกระดาษรูปสี่เหลี่ยมสำหรับลงคะแนน
2. กล่องสำหรับใส่บัตรลงคะแนน
การประเมินผล : ประเมินจากความสนใจในการร่วมกิจกรรมและปฏิบัติตามขั้นตอนของระบอบการเลือกตั้ง

หมายเหตุ : สำหรับผู้ที่สนใจกิจกรรมโฮมรูม อ่านรายละเอียดและตัวอย่างกิจกรรมโฮมรูมหน่วยต่างๆได้ในหนังสือต่อไปนี้
1. วัชรี ทรัพย์มีและสมจิต ชิวปรีชา. คู่มือกิจกรรมโฮมรูม. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530.
2. วัชรี ทรัพย์มี. การแนะแนวในโรงเรียน. กรุงเทพมหานคร: ไทยวัฒนาพานิช, 2531.



Leave a Comment