เกษตรอินทรีย์ คือ การประกอบอาชีพการเกษตรกรรม สร้างสรรค์ให้เกิดความสมดุลย์ทางธรรมชาติ และความอุดมสมบูรณ์ที่ยั่งยืน ให้ผลผลิตมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และการผลิตนั้น ทำให้เกิดการผสมผสานเกื้อกูลซึ่งกันและกัน หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีสังเคราะห์ เน้นการปลูกพืชหมุนเวียน ใช้ทรัพยากรในไร่นาให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเน้นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ โดยการเพิ่มอินทรีย์วัตถุ เช่น มูลสัตว์ต่างๆ เศษเหลือของพืชใช้เป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด น้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งหัวใจหลักของการทำเกษตรอินทรีย์ มีอยู่ 4 ประการ คือ
1. การไม่ใช้ปุ๋ยเคมี
2. การไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช
3. การไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช
4. การไม่ใช้ฮอร์โมนในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์
เกษตรปราณีต คือ การทำเกษตรที่เข้าใจธรรมชาติ เป็นการเกษตรในพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ (ตามทฤษฎีที่นักวิชาการวิจัยไว้ บ้างก็ว่า ทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสน ซึ่งในที่นี้ใช้ทั้งแปลง) โดยมีการจัดสรรพื้นที่เพื่อการปลูกข้าว ขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกไม้ยืนต้น ปลูกพืชในครัวเรือนไว้กิน ไว้ใช้อย่างครบถ้วน โดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ ในกระบวนการผลิต หากเหลือกินก็สามารถนำมาขายได้ ทั้งนี้เป็นการดำเนินการโดยไม่ใช่การลงทุนใหญ่ครั้งเดียว แต่ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป (ตามกำลังกายและกำลังทรัพย์ที่มี) ยึดความสุขและความพอเพียงเป็นที่ตั้ง
เส้นทางหอมอนันต์ : การทำนาข้าวแบบเกษตรอินทรีย์ + เกษตรปราณีต
ที่นาแปลงด้านบนนี้ (ภาพที่ 1) เป็นที่นาที่ติดบริเวณหมู่บ้านโนนจำปา ผมซื้อมาจากเจ๊กในตลาดรัตนบุรี ในปี พ.ศ. 2549 มีสภาพดังที่เห็น คือ ในฤดูร้อน จะกันดาร ร้อนแล้งมาก ผมตั้งใจจะใช้แปลงนานี้ เพื่อ (1) ทดลองทำการเกษตรและทำนาตามใจของผมเอง (2) สานต่ออาชีพการทำนาที่พ่อแม่ ปู่ย่าตายายได้ทำมา (3) เป็นแนวทางว่า ผู้ที่รับราชการครู ก็สามารถใช้เวลาว่างมาทำนาได้ ผมและพ่อได้ใช้เวลาในการปรับปรุงพื้นที่และพยายามปลูกพืชบำรุงดินอยู่เป็นเวลาหลายปี จนสามารถปลูกพืชหลายชนิดให้ผลเก็บกินและเก็บขายสร้างรายได้ได้เล็กๆ น้อยๆ แต่ต่อเนื่อง ดังภาพที่ 2 (เมื่อปี พ.ศ. 2555) อย่างไรก็ตามเป็นที่สังเกตว่า ข้าวที่ปลูกในแปลงนา ยังมีการเจริญเติบโตที่ไม่ดีนัก ในปีแรกๆ มีการใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อเร่งการเจริญเติบโต แต่ในปีต่อๆมา ก็มีการใส่ปุ๋ยขี้วัว ปุ๋ยขี้ควาย ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ และการปลูกพืชตระกูลถั่วในฤดูแล้ง ทำให้ดินดีขึ้น และได้ผลผลิตดีขึ้นเช่นกัน ปี 2556 ได้ตั้งชื่อ นาข้าวแห่งนี้ว่า “นาข้าวหอมอนันต์”