วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร หรือที่คนลำพูนเรียกว่า “วัดหลวง” เป็นปูชนียสถานสำคัญในภาคเหนือ ที่อยู่คู่เมืองลำพูนมาอย่างยาวนานกว่าพันปี ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 150 เมตร จัดเป็นอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร และองค์พระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีระกา ทุกปีจะมีงานนมัสการพระธาตุหริภุญชัย ในวันเพ็ญเดือน 6 (วันวิสาขบูชา)
ประวัติพระธาตุหริภุญชัย
พระธาตุหริภุญชัย สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าอาทิตยราช เมื่อประมาณปี พ.ศ.1440 เมื่อครั้งที่พระเจ้าอาทิตยราชทรงครองราชย์อยู่นั้น พระองค์ได้ทรงดำริให้สร้างปราสาทราชมณเฑียรไว้เพื่อเฉลิมพระเกียรติ แล้วจึงปลูกสร้างหอจัณฑาคารที่ลงพระบังคน (ถ่ายทุกข์หนักเบา) แต่ทุกครั้งที่พระองค์จะเสด็จลงพระบังคนที่หอนั้น อีกาที่ทำหน้าที่เฝ้ารักษาพระธาตุไว้มักบินมารบกวนเป็นที่น่ารำคาญอยู่เสมอ
พระเจ้าอาทิตยราชจึงมีรับสั่งให้อำมาตย์ช่วยกันทำบ่วงคล้องจึงจับกาตัวนั้นแล้วนำไปขังไว้กับทารกแรกเกิดเป็นเวลา 7 วันจนเมือทารกนั้นเติบโตขึ้น และสามารถพูดคุยกับกาได้ เด็กน้อยจึงกราบทูลพระเจ้าอาทิตยราชว่า “อันสถานทีพระองค์ได้ทรงสร้างหอจัณฑาคารนั้นเดิมเป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุ อุรังคธาตุ แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอดีตกาล พญากาเผือกผู้เป็นอัยกา ได้สั่งให้เป็นผู้เฝ้ารักษาสถานที่นี้ คอยปกป้องไม่ให้ผู้คนและสัตว์มาทำสกปรก”
เมื่อพระเจ้าอาทิตยราชได้ยินเช่นนั้นจึงโปรดให้รื้อถอนปราสาทราชมณเฑียรทั้งหลายแล้วสร้างพระบรมธาตุขึ้น โดยให้จัดงานสมโภชพระบรมธาตุตลอด 7 วัน 7 คืน ด้วยเหตุนี้พระบรมธาตุหริภุญชัยจึงได้กลายเป็นศาสนสถานที่ชาวเมืองให้ความเคารพนับถือสืบต่อกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
สิ่งที่น่าสนใจ ภายในบริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัย
1. ซุ้มประตูโขงท่าสิงห์
ก่อนเข้าไปในบริเวณวัด จะผ่านซุ้มประตูก่ออิฐถือปูนประดับลวดลายวิจิตรพิสดาร เป็นฝีมือโบราณสมัยศรีวิชัย ประกอบด้วยซุ้มยอดเป็นชั้น ๆ เบื้องหน้าซุ้มประตูมีสิงห์ใหญ่คู่หนึ่งยืนเป็นสง่า บนแท่น สูงประมาณ 1 เมตร สิงห์คู่นี้ปั้นขึ้นใน สมัยพระเจ้าอาทิตยราช เมื่อทรงถวายวังให้เป็นสังฆาราม
2. วิหารหลวง
เมื่อผ่านซุ้มประตูเข้าไปแล้วจะเห็นวิหารหลังใหญ่เรียกว่า “วิหารหลวง” มีพระระเบียงรอบด้าน และมีมุขออกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง วิหารหลังนี้สร้างขึ้นใหม่แทนวิหารหลังเดิม ที่ถูกพายุพัดพังทลายไปเมื่อ พ.ศ. 2466 วิหารหลวงใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศล และประกอบศาสนากิจทุกวันพระ ภายในประดิษฐานพระปฏิมาใหญ่ ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง บนแท่นแก้วรวม 3 องค์ และพระพุทธ ปฏิมาหล่อโลหะขนาดกลางสมัยเชียงแสน ชั้นต้น และชั้นกลางอีกหลายองค์
3. พระบรมธาตุหริภุญชัย
เป็นเจดีย์แบบล้านนาไทยแท้ ๆ ที่ลงตัวสวยงาม ภายในบรรจุพระเกศบรมธาตุบรรจุในโกศทองคำประดิษฐานในพระเจดีย์ ประกอบด้วยฐานปัทม์ แบบฐานบัวลูกแก้ว ย่อเก็จ ต่อจากฐานบัวลูกแก้วเป็นฐานเขียงกลมสามชั้น ตั้งรับองค์ระฆังกลม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม เจดีย์มีลักษณะใกล้เคียงกับ พระธาตุดอยสุเทพที่จังหวัดเชียงใหม่ สูง 25 วา 2 ศอก ฐานกว้าง 12 วา 2 ศอก 1 คืบ มีสัตติ- บัญชร (รั้วเหล็กและทองเหลือง) 2 ชั้น สำเภาทอง ประดิษฐานอยู่ประจำรั้วชั้นนอกทั้งทิศเหนือ และทิศใต้ มีซุ้มกุมภัณฑ์ และฉัตรประจำสี่มุม และหอคอยประจำทุกด้านรวม 4 หอ บรรจุพระพุทธรูป นั่งทุกหอ นอกจากนี้ ยังมีโคมประทีป และแท่นบูชาก่อประจำไว้เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชน
4. หอธรรม หรือ หอพระไตรปิฏก
ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของพระวิหาร ปลูกสร้างตามแบบศิลปะล้านนาประดับด้วยไม้แกะสลักปิดทองและกระจกอันสวยงาม ซึ่งตามหลักฐานศิลาจารึกคาดว่าสร้างขึ้นราว พ.ศ. 2053 โดยพระเมืองแก้วกษัตริย์ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ หากสังเกตให้ดี จะเห็นว่าลักษณะสถาปัตยกรรมของหอธรรมนี้มีความคล้ายคลึงกับหอไตรที่วัดพระสิงห์ฯ อยู่ไม่น้อยเลย
5. สุวรรณเจดีย์หรือปทุมวดีเจดีย์
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือขององค์พระธาตุหริภุญชัย เป็นเจดีย์ที่มีลักษณะการก่อสร้างแบบเดียว กับ เจดีย์สี่เหลี่ยมหรือเจดีย์กู่กุดที่วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน องค์เจดีย์สร้างด้วยศิลาแลงและอิฐ เป็นเจดีย์ทรงปราสาทมีฐานสี่เหลี่ยมซ้อนขึ้นไปห้าชั้น แต่ละชั้นประดับซุ้มจระนำทั้งสี่ด้าน ด้านละสามซุ้ม ภายในซุ้มจะประดิษฐานพระพุทธรูปดินเผาประทับยืนประทับอยู่ ซึ่งมีร่องรอย ของการลงรักปิดทอง ปัจจุบันเหลือให้เห็นเพียงไม่กี่องค์ ส่วนบนสุดของเจดีย์เป็นกลีบบัวปูนปั้นหุ้มด้วยโลหะแผ่น ส่วนยอดปลายสุดทำเป็น กรวยแหลมเรียวยาวขึ้นไปสุวรรณเจดีย์องค์นี้มี “พระเปิม” ซึ่งพระพิมพ์ที่สำคัญและมีชื่อเสียงของเมืองลำพูนบรรจุอยู่ภายใน
นอกจากนั้น ภายในวัดยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง เช่น หอระฆัง ซึ่งสร้างขึ้นโดย พระครูพิทักษ์เจติยานุกิจ (ครูบาคำฟู) เมื่อ พ.ศ. 2481 ด้านบนแขวนระฆังขนาดใหญ่ซึ่งหล่อขึ้นในสมัยเจ้าหลวงดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ ๗ และชั้นล่างห้อยกังสดาลขนาดใหญ่ซึ่งหล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2403 ฝีมือครูบาสูงเม่นโดยกัญจนมหาเถระ เจ้าอาวาส วัดป่าเมืองแพร่ และเจ้าหลวงเมือง เชียงใหม่ เป็นศรัทธาสร้างหล่อกังสดาลนี้ รวมถึงมีอาคารพิพิธภัณฑ์ 50 ปี ด้านในจัดแสดงวัตถุโบราณและสิ่งของต่าง ๆ มากมาย และบริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ มีต้นสาละ ต้นไม้สำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกด้วย
การเดินทางไปพระธาตุหริภุญชัย (พระธาตุหริภุญไชย)
1. ถ้ามุ่งหน้าสู่ภาคเหนือ ด้วยทางหลวงหมายเลข 11 ให้เลี้ยวซ้ายที่สามแยกดอยติเพื่อเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 114 มุ่งหน้าสู่ตัวเมืองลำพูนจนข้ามสะพานข้ามแม่น้ำกวง จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าถนนรอบเมืองในตรงไปประมาณ 300 เมตรจะเห็นวัดพระธาตุหริภุญชัยอยู่ทางซ้ายมือ
2. ถ้ามาจากเชียงใหม่ สามารถเลือกใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 106 (ถนนเชียงใหม่-ลำพูน) มุ่งหน้าสู่จังหวัดลำพูนเป็นระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ก็จะถึงวัดพระธาตุหริภุญชัย