ในฐานะของคนเป็นพ่อเป็นแม่ การอบรมสั่งสอนลูก เป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่คนเป็นพ่อแม่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และ ถึงแม้ว่าทุกคำพร่ำสอนนั้นล้วนเกิดจากความรัก และ ห่วงใยในตัวเขา (อาจผสมด้วยความหงุดหงิดเป็นบางครั้ง) แต่หากเราเลือกใช้คำพูดที่เป็นอันตรายต่อจิตใจของลูก ผลลัพธ์ที่ได้อาจกลายเป็นการสร้างปมในจิตใจ และ ทำให้การพัฒนาบุคลิกภาพของลูกมีปัญหาได้ โดย ตัวอย่างของคำที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่
1. “แค่นี้ใครๆก็ทำได้” หากคำนี้หลุดออกมาจากปากของคนที่กำลังอิจฉาลูกของคุณอยู่ ก็คงจะไม่เป็นไร แต่หากคนที่พูดนั้นคือคนสำคัญ อย่าง คุณพ่อ คุณแม่ คำๆนี้จะทำให้ลูกหมดกำลังใจและรู้สึกว่าเขานั้นยัง “ดีไม่พอ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณพ่อคุณแม่เป็นคนที่มีคาดหวังต่อตัวลูก “สูง” หรือ เป็นคนประเภท “หวงคำชม” ด้วยแล้วล่ะก็ สุดท้ายแล้วลูกก็อาจจะเติบโตไปเป็นคนที่ขาดความภาคภูมิใจในตนเองได้
2. “ไม่รักแล้ว” บันไดขั้นที่ 1 จากบทความเรื่อง บันได 5 ขั้นสู่ความภาคภูมิใจในตนเอง ที่จะสร้างความภาคภูมิใจในตนเองให้กับลูก คือ ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย หรือ “security” ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ เด็กมีความเชื่อว่า คนที่ดูแลเขาอยู่จะไม่มีวันทอดทิ้งเขาไปไหน ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ชอบขู่ลูกบ่อยๆว่า “ถ้าดื้อแบบนี้ จะไม่รัก” “ถ้าซนขนาดนี้ จะส่งไปอยู่กับยาย” แม้ว่าคุณจะไม่เคยทำจริงก็ตาม แต่การพูดบ่อยๆจะทำให้ความรู้สึก “มั่นคง” ของลูกกลายเป็นความรู้สึก “ไม่แน่ใจ” ซึ่งเมื่อถึงวันที่คุณทะเลาะกับเขาด้วยเรื่องอะไรสักอย่าง วันนั้นก็จะเป็นวันที่เขายืนยันกับตัวเองว่า “พ่อ/แม่ไม่รักเราจริงๆด้วย”
3. “ดูน้องเป็นตัวอย่างสิ” คุณจะรู้สึกอย่างไร หากหัวหน้าของคุณเรียกคุณไปตำหนิว่าคุณนั้นยังทำงานได้ไม่ดี พร้อมทั้งบอกให้คุณหัดเอาอย่าง “เด็กเมื่อวานซืน” คนหนึ่งที่พึ่งเข้ามาทำงานได้ไม่กี่เดือน ผมเชื่อว่าคงมีน้อยคนที่จะมีความกระตือรือร้นในการพยายามเอาอย่างเจ้าเด็กคนนั้น (เผลอๆจะพาลหมั่นไส้ แอบไปปล่อยลมยางรถเขาด้วยซ้ำ) ซึ่งลูกของคุณก็เช่นกันครับ จะเป็นการง่ายกว่ามากหากคุณเพียงแค่คุยกับลูกว่าคุณอยากให้เขาปรับปรุงตัวอย่างไรโดยที่ไม่ต้องไปเปรียบเทียบ หรือ ให้เขาเอาอย่างใคร เพราะนอกจากเขาจะไม่ทำแล้ว เขาอาจจะยิ่งเกลียดคนที่ถูกนำมาเปรียบเทียบกับเขาเข้าไปอีก [ในข้อนี้ อาจรวมถึงคำพูดเปรียบเทียบกับพี่คนโต เช่น ทำอะไรให้เหมือนพี่หน่อยสิ บางครั้งความสามารถบางอย่าง ก็ต้องเป็นไปตามวัย พ่อแม่จึงควรเข้าใจและไม่ใช้การเปรียบเทียบระหว่างลูกคนโตกับลูกคนเล็กที่อายุน้อยกว่าในเกือบทุกกรณี]
4. “ทำไมเป็นคนแบบนี้” แม้ว่าคุณจะพยายามเปลี่ยนไปพูดว่า “เพราะอะไรลูกถึงเป็นคนแบบนี้” แต่การบอกลูกบ่อยๆว่า เขาเป็นคนที่ “ดื้อ” “โง่” หรือ “เกเร” ในทางจิตวิทยาจะเรียกสิ่งที่คุณกำลังทำนี้ว่า “การตีตรา” หรือ “stigmatize” ซึ่งจะทำให้ลูกรู้สึกหมดกำลังใจที่จะปรับปรุงตัว นั่นเป็นเพราะว่า เขาได้ถูกคุณประเมินพร้อมกับเอาตรายางประทับที่หน้าผากเขาเรียบร้อยแล้วว่าเขานั้นเป็นคน “………” [ดื้อ-โง่-เกเร-ไม่ดี ฯลฯ]
เพื่อนๆ ที่มีลูก เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ เลิกใช้คำพูดที่ทำร้ายจิตใจลูก (ซึ่งมีอีกเยอะแยะมากมาย) กันนะครับ
ที่มาข้อความ : หมอตั้ม : เพจ เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ [https://www.facebook.com/Growingupnormal]