Anantasook.Com

ครูแบบไหนที่ ผอ.ชอบ ครูแบบไหนที่ ผอ.ปลื้ม ครูแบบไหนที่อยู่ในใจ ผอ. ทำงานแบบไหนให้ ผอ.ชอบ ผอ.เมตตา ผอ.ปลื้ม

newdirector-storyตอนผมเป็นครู ผมอยากเห็นผู้บริหารมีความเป็นนักวิชาการ ทำงานแบบมืออาชีพ เน้นสัมฤทธิผลของงาน แต่โลกความจริงมันไม่เป็นอย่างที่เราคิดหรอก ผู้บริหารแต่ละท่านมีลักษณะแตกต่างกัน แต่ไม่ว่าอย่างไร ผมเชื่อมั่นในผู้บริหารทุกท่าน ผมเรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานของท่าน และหน้าที่ผมคือ นายต้องการอะไร บอกมา เดี๋ยวผมจัดให้ และถึงไม่บอกก็จัดให้นาย จัดให้โรงเรียนได้เช่นกัน เพราะผมคือ ครู ที่ถูกบ่มเพาะมาเพื่อทำงานเพื่อการศึกษาชาติ เหนือสิ่งอื่นใดผมคือ ข้าราชการ ที่ทำงานเพื่อพระราชา) และเมื่อมาเป็นผู้บริหาร ผมพบว่า ครูเกือบทุกท่านก็ยังอยากได้ผู้บริหารในฝันของตนเองเหมือนที่ผมเคยฝันอยากได้ผู้บริหารในฝันของตนเองเช่นกัน โดยเฉพาะครูที่ไปเรียนบริหารจะมีทฤษฎีนี่นั่นนู้นในเชิงบริหาร ผอ.ควรแบบนั้น ผอ.ควรแบบนี้ … แต่ครูอาจลืมคิดไปอย่างหนึ่งว่า แล้วตัวครูเองได้ทำตัว ทำงานตามหน้าที่ครูให้ผู้บริหารปลื้มแล้วหรือยัง

แล้วครูแบบไหนที่ ผอ.ชอบ ครูแบบไหนที่ ผอ.ปลื้ม ครูแบบไหนที่อยู่ในใจ ผอ. ก็คงตอบง่ายๆ ได้เลยว่า “ครูที่ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ของทางราชการและทำงานตามหน้าที่ของตนเอง โดยเน้นที่นักเรียนเป็นหลัก” นั่นแหละ คือ ครูที่ ผอ.ชอบ หรือถ้าเป็นครูที่ “ผอ.หูเบาวิทยา” ชอบ ก็คือ “ครูดี (ตามจรรยาบรรณวิชาชีพ) มีมาตรฐาน (การปฏิบัติงาน) และทำงานเน้นผลสัมฤทธิ์ (ทำงานแล้วปังๆ)” นั่นล่ะที่ ผอ.หูเบาวิทยาชอบ และคนที่ทำงานได้แบบนี้ ส่วนใหญ่ จะไม่ค่อยได้คุยอะไรกับ ผอ. (ตอนผมเป็นครูผมก็ไม่ค่อยได้พูดกับ ผอ. เพราะผมไม่ทำตัวให้มีปัญหา ผมรู้หน้าที่ ยกเว้นตอนที่ผมต้องการคำอธิบายเท่านั้น จึงขอคุยกับผู้บริหาร) เมื่อผมเป็น ผอ. ผมปลื้มครูที่ทำงานกับเด็กนักเรียน ขลุกอยู่กับเด็กนักเรียนทำนี่ นั่น นู้น และครูที่คุยกันแล้ว ไปทำงาน มีงาน ส่งมาเสนอที่โต๊ะให้ดูเรื่อยๆ (แต่หาตัวจะคุยด้วยยากมาก เพราะครูแบบนี้จะไม่ค่อยเข้าใกล้ ผอ. และพอเด็กมีผลงาน ผอ.จะชม ก็ไม่รู้คุณครูไปอยู่ไหน … นี่คือครูที่ ผอ.ปลื้ม) ผมจึงได้เข้าใจว่า ตอนเราเป็นครู ก็น่าจะเป็นครูที ผอ.ปลื้ม พอสมควร

ขยายความให้ชัดๆ อีกสักหน่อยในเชิงวิชาการ สำหรับการทำหน้าที่ครูผู้สอน และครูประจำชั้น (ครูที่ไม่รู้จักบทบาทและหน้าที่ของตนเอง จะสร้างตราบาปให้กับผู้บริหาร โรงเรียนและเด็กนักเรียน, คำกล่าวของ ผอ.ศักดิ์อนันต์ อนันตสุข (ผอ.หูเบาวิทยา)

1. หน้าที่ครูผู้สอน : ครู จะต้องปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณครู พ.ศ. 2539 และตามมาตรฐานวิชาชีพครูที่มีมาตรฐานด้านคุณธรรมจริยธรรม มาตรฐานด้านการปฏิบัติงาน และมาตรฐานตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด และ ต้องปฏิบัติตามระเบียบแนวปฏิบัติของโรงเรียนที่จะเกิดประโยชน์ในการพัฒนาผู้เรียนให้ได้ตามมาตรฐานการศึกษา สมกับที่เป็นครูมืออาชีพ ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีมาตรฐานวิชาชีพครู นอกจากการประพฤติปฏิบัติตนตามมาตรฐานด้านคุณธรรม จริยธรรมแล้ว จะต้องดำเนินการดังนี้

1. ศึกษาเป้าหมายการศึกษาและหลักสูตรการศึกษา เพื่อวางแผนการจัดการเรียนการสอน โดยการวิเคราะห์หลักสูตร จัดทำโครงการสอนและทำแผนจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
2. มีการวิเคราะห์ศักยภาพของผู้เรียนและเข้าใจผู้เรียนเป็นรายบุคคล จัดทำเอกสารตามระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีบันทึกการให้ความช่วยเหลือดูแลนักเรียนในทุกด้าน เพื่อพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพของแต่ละบุคคล
3. มีความสามารถในการจัดประสบการณ์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เช่น การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ใน แต่ละรายวิชา การส่งเสริมนักเรียนทำโครงการ การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ส่งเสริมกระบวนการทำงานกลุ่ม บูรณาการเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริง เรื่องราวของท้องถิ่น การเรียนรู้กับภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ
4. มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองและผู้เรียน ใช้คอมพิวเตอร์ ในการจัดเตรียมแผนการเรียนรู้ การสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต การแนะนำนักเรียนใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำรูปแบบและเทคนิควิธีการใหม่ ๆ มาใช้ในการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. มีการประเมินผลการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับสภาพการเรียนรู้ที่จัดให้ผู้เรียนและอิงพัฒนาการของผู้เรียน มีการสอนซ่อมเสริมให้นักเรียนที่เรียนอ่อน จัดกิจกรรมเสริมให้นักเรียนที่เรียนดี ส่งเสริมให้ผู้เรียนจัดทำแฟ้มสะสมงานเพื่อพัฒนาตนเอง
6. มีการนำผลการประเมินมาปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เต็มศักยภาพ
7. มีการวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อและการเรียนรู้ของผู้เรียนและนำผลไปใช้พัฒนาผู้เรียน
8. ขณะจัดการเรียนรู้ มีการสอนสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมโดยการใช้สถานการณ์หรือบทเรียนเชื่อมโยงบูรณาการที่เน้นให้นักเรียนเป็นคนดี มีคุณธรรมนำความรู้ สามารถใช้ชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข

2. หน้าที่ครูประจำชั้น : ครูประจำชั้นที่ดี ควรมีความรู้ ความเข้าใจนักเรียนในชั้นเป็นอย่างดีทุกคน สามารถให้การช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องเหมาะสมในทุกด้าน ครูประจำชั้น ควรดำเนินการ ดังนี้

1. ศึกษานักเรียนในห้องที่ประจำชั้นตามระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีการจัดเก็บข้อมูลรายบุคคล วิเคราะห์ข้อมูล เยี่ยมบ้านนักเรียน วิเคราะห์ประเมินข้อมูล
2. ประสานงานผู้เกี่ยวข้อง ให้การช่วยเหลือนักเรียนในทุกด้านที่จำเป็นเร่งด่วน ร่วมมือกับผู้ปกครองครูในการแก้ไขและป้องกันพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
3. ส่งเสริมให้แสดงความสามารถตามศักยภาพ โดยการให้คำแนะนำ ส่งเสริมสนับสนุนให้เข้าร่วมกิจกรรมประกวด แข่งขัน หรือได้แสดงความสามารถต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจและความภาคภูมิใจให้แก่นักเรียนและครอบครัว
4. ร่วมมือกับโรงเรียนในการส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมที่โรงเรียนจัดทุกกิจกรรมเช่น กิจกรรมสวดมนต์ไหว้พระ กิจกรรมวันสำคัญ กิจกรรมกีฬาเป็นต้น
5. ติดตาม กำกับ ดูแล ให้คำแนะนำนักเรียนในชั้น ปฏิบัติตนให้เหมาะสมและตามกฎระเบียบของโรงเรียน ประพฤติตนเหมาะสม
6. สานสัมพันธ์กับผู้ปกครอง ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและพฤติกรรมต่าง ๆ เพื่อร่วมมือกันแก้ปัญหาหรือส่งเสริมนักเรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ
7. จัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อรายงานผู้บริหารและผู้ปกครอง ได้แก่ ปพ.6 สมุดรายงานผลการเรียนปพ.8 ระเบียนสะสม บันทึกพฤติกรรมนักเรียน
8. จะต้องโฮมรูมนักเรียน เช้า ก่อนเรียน เวลา 8.30-9.00 น. และ.ให้ความรู้นักเรียนในชั่วเวลาแนะแนวแนะแนว เวลา การบันทึกการโฮมรูมให้เป็นปัจจุบัน มีการสอดแทรกคุณลักษณะผู้เรียนตามาตรฐานการศึกษา
9. ครูต้องตรวจสุขภาพนักเรียนให้คำแนะนำในการดูแลรักษาสุขภาพตนเอง ตรวจดูแลอุปกรณ์การเรียนติดตามการเรียน การทำการบ้าน การแต่งกาย การร่วมกิจกรรมต่าง ๆ อยู่เสมอ และเฝ้าระวังเรื่องยาเสพติด

ครูครับ ถ้าครูทำงานแบบนี้ ผอ.สัญญาว่า จะมีคุณครูอยู่ในหัวใจแน่นอนครับ ขอบคุณที่ครูจะทำหน้าที่ครูอย่างมืออาชีพ แต่ถ้าไม่อยากเป็นครู เชิญเสด็จไปสอบเป็นผู้บริหารได้เลยครับ  ประเทศชาติจะได้มีที่นั่งให้ครูดีดีเข้ามาทำงาน  ผอ.ยินดีสนับสนุนทุกอย่างเพื่อให้คุณมีความก้าวหน้า และมาทำงานเพื่อพัฒนาประเทศร่วมกันต่อไป

Exit mobile version